แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 มีหน้าที่รับเงิน ออกใบเสร็จรับเงิน ลงรายการรับเงิน เลขที่ใบเสร็จและจำนวนเงินในสมุดควบคุมเงิน ต่อมาจำเลยที่ 1 ยักยอกเงินค่าเช่าซื้อของโจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นหัวหน้าสำนัก จำเลยที่ 3 ที่ 4 เป็นพนักงานจัดการทรัพย์สิน จำเลยที่ 5 เป็นหัวหน้าสำนักงานภายหลังจำเลยที่ 2
คำฟ้องโจทก์บรรยายว่าโจทก์จ้างจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ให้ทำงานและมอบหมายให้มีหน้าที่ควบคุมดูแลการจัดเก็บเงินรวมถึงทรัพย์สินของโจทก์แต่กลับปล่อยปละละเลยจนเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ยักยอกเงินของโจทก์ ถือว่าการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 มีความบกพร่องและประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงตามระเบียบข้อบังคับของโจทก์อันเป็นสภาพการจ้างตามสัญญาจ้าง จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จึงมีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามสัญญาจ้างในฐานะผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 รับผิดทั้งมูลละเมิดและมูลสัญญาจ้างแรงงาน ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความในเรื่องผิดสัญญาจ้างไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 จำเลยที่ 1 ยักยอกเงินตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2542 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2550 ฟ้องโจทก์ในเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานจึงไม่ขาดอายุความ
จำเลยที่ 2 และที่ 5 ไม่ปฏิบัติตามระเบียบโดยไม่ได้มอบหมายให้มีพนักงานทะเบียนและพนักงานรับเงินเป็นคนละคนกันเนื่องมาจากว่าหากคนใดไม่มาทำงานจะไม่สามารถรับเงินจากลูกค้าได้ และต้องตรวจดูทะเบียนลูกหนี้รายตัวประกอบใบเสร็จรับเงินจึงจะทราบว่าการลงทะเบียนใบเสร็จรับเงินเป็นเท็จ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 มีหน้าที่ดูแลงานด้านอื่นด้วย ไม่มีหน้าที่ควบคุมการรับเงินอย่างเดียวโดยตรง กองคลังของโจทก์ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบโดยตรงก็ยังตรวจสอบไม่พบถึงความผิดปกตินั้น การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่สามารถปฏิบัติตามระเบียบได้อย่างเคร่งครัดจึงเป็นเพียงการการปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อธรรมดา
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 รับผิดเฉพาะกรณีเป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น มิได้ให้รับผิดกรณีประมาทเลินเล่อด้วย จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 350,330 บาท และให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินตามส่วนที่แต่ละคนต้องรับผิดดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ทุจริตยักยอกเงินไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ให้การทำนองเดียวกัน ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ไม่ให้การ
จำเลยที่ 5 ขาดนัด
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 350,330 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 27 มิถุนายน 2550) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์นำเอาพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาเป็นหลักในการเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ใช้ค่าเสียหายนั้น แท้จริงแล้วโจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 กระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานซึ่งโจทก์จ้างจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไปเป็นหัวหน้าสำนักงานและพนักงานจัดการทรัพย์สินเพื่อควบคุมดูแลการทำงานของจำเลยที่ 1 ต้องใช้อายุความทั่วไปในการพิจารณาพิพากษาคดีนี้ เห็นว่า คดีนี้โจทก์มิได้ฟ้องให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 รับผิดโดยอ้างถึงการจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 เพียงประการเดียว ดังจะเห็นได้จากคำฟ้องของโจทก์บรรยายได้ความว่าจำเลยทั้งห้าฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้างแรงงานและข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน กล่าวคือโจทก์จ้างจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ให้ทำงานและมอบหมายให้มีหน้าที่ควบคุมดูแลการจัดเก็บเงินรวมถึงทรัพย์สินของโจทก์แต่กลับปล่อยปละละเลยจนเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ยักยอกเงินของโจทก์ ถือว่าการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 มีความบกพร่องและประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงซึ่งตามระเบียบข้อบังคับของโจทก์อันเป็นสภาพการจ้างตามสัญญาจ้าง จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จึงมีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามสัญญาจ้างในฐานะผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ฐานบกพร่องต่อหน้าที่ ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่กำกับดูแลตรวจสอบปล่อยให้จำเลยที่ 1 ทุจริต คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 รับผิดทั้งมูลละเมิดและมูลสัญญาจ้างแรงงาน มิใช่ขอให้รับผิดเฉพาะในมูลละเมิดแต่เพียงอย่างเดียวมาเป็นหลักในการเรียกค่าเสียหายดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัย ซึ่งในเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานกฎหมายมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนด 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 เมื่อจำเลยที่ 1 ยักยอกเงินตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2542 โจทก์ฟ้องคดีนี้ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2550 ฟ้องโจทก์ในเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานจึงไม่ขาดอายุความ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการต่อไปว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 และที่ 5 ไม่ปฏิบัติตามระเบียบโดยไม่ได้มอบหมายให้มีพนักงานทะเบียนและพนักงานรับเงินเป็นคนละคนกันเนื่องมาจากว่าหากคนใดไม่มาทำงานจะไม่สามารถรับเงินจากลูกค้าได้ การตรวจสอบใบเสร็จรับเงินก็ยังไม่อาจทราบได้ต้องตรวจดูทะเบียนลูกหนี้รายตัวประกอบจึงจะทราบว่าการลงเลขที่ใบเสร็จรับเงินเป็นเท็จ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 มีหน้าที่ดูแลงานด้านอื่นๆ ด้วย ไม่ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบควบคุมการรับเงินเพียงอย่างเดียวโดยตรง กองคลังของโจทก์ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบอีกชั้นหนึ่งก็ไม่เคยทวงถามหรือแจ้งเรื่องการข้ามงวดหรือใบเสร็จรับเงินไม่ครบถ้วน แสดงให้เห็นว่าแม้กองคลังของโจทก์ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบโดยตรงก็ยังตรวจไม่พบถึงความผิดปกติดังกล่าว การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่สามารถปฏิบัติตามระเบียบได้อย่างเคร่งครัดจึงไม่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง คงเป็นเพียงการปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อธรรมดา เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 รับผิดเฉพาะกรณีเป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น มิได้ให้รับผิดกรณีประมาทเลินเล่อด้วย จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน