คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12079/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยชิงทรัพย์โดยลักกุญแจรถจักรยานยนต์ 1 ดอก ของผู้เสียหายไป ทางพิจารณาได้ความว่าผู้เสียหายเก็บกระเป๋าสะพายไว้ใต้เบาะรถจักรยานยนต์ จำเลยใช้มีดทำร้ายผู้เสียหาย ให้ผู้เสียหายเปิดเบาะรถ ผู้เสียหายจะดึงกุญแจรถจักรยานยนต์ออกจากตัวรถแต่จำเลยเงื้อมีดข่มขู่ ผู้เสียหายจึงวิ่งหลบหนี จากนั้นจำเลยใช้กุญแจรถดังกล่าวไขเบาะรถแต่ไม่สามารถเปิดได้ จำเลยจึงเอากุญแจรถดังกล่าวไป พฤติการณ์แสดงว่าจำเลยประสงค์จะเอาทรัพย์ในกระเป๋าสะพายเป็นอันดับแรก เมื่อไม่สามารถเปิดเบาะรถจักรยานยนต์ได้จึงเอากุญแจรถจักรยานยนต์อันเป็นทรัพย์อีกชิ้นหนึ่งไป เมื่อจำเลยประสงค์ต่อทรัพย์ของผู้เสียหาย แม้จะไม่สามารถเปิดเบาะรถจักรยานยนต์เพื่อเอาทรัพย์ในกระเป๋าสะพาย แต่การกระทำของจำเลยเพื่อเอาทรัพย์ยังไม่ขาดตอน การที่จำเลยเอากุญแจรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปย่อมเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นอันเป็นการกระทำโดยทุจริต และเป็นการลักทรัพย์ของผู้เสียหายซึ่งโจทก์ได้กล่าวในฟ้องแล้ว มิใช่เป็นเรื่องข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339, 340 ตรี ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนเป็นเงิน 100 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสาม ประกอบมาตรา 340 ตรี จำคุก 15 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคากุญแจรถจักรยานยนต์ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ให้จำคุก 2 ปี ยกฟ้องความผิดฐานชิงทรัพย์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นโดยคู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีกาว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง ภายหลังที่นางสาววนิดา ผู้เสียหายเก็บกระเป๋าสะพายของตนไว้ใต้เบาะรถจักรยานยนต์แล้วขึ้นคร่อมรถจักรยานยนต์เพื่อขับออกจากจุดที่ตนจอดรถอยู่ จำเลยซึ่งมาจากทางด้านหลังใช้มีดแบบปังตอเฉือนที่บริเวณข้อศอกซ้ายของผู้เสียหาย เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ แล้วจำเลยให้ผู้เสียหายเปิดเบาะรถจักรยานยนต์ ผู้เสียหายจะดึงกุญแจรถจักรยานยนต์ออกจากตัวรถ แต่จำเลยเงื้อมีดข่มขู่ ผู้เสียหายจึงวิ่งหลบหนี ระหว่างนั้นจำเลยใช้กุญแจไขเพื่อเปิดเบาะแต่ไม่สามารถเปิดได้ จำเลยจึงเอากุญแจรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายซึ่งเป็นทรัพย์ที่มีราคา 100 บาทไปแล้วขึ้นรถจักรยานยนต์ของจำเลยขับหลบหนี คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องหรือไม่ เห็นว่า พฤติการณ์ในคดีที่จำเลยใช้มีดแบบปังตอเฉือนไปที่บริเวณข้อศอกผู้เสียหายก่อนเงื้อมีดข่มขู่ไม่ให้ผู้เสียหายถอดเอากุญแจรถจักรยานยนต์ไป และผู้เสียหายเกิดความกลัวจึงวิ่งหลบหนี จากนั้นจำเลยใช้กุญแจพยายามไขเพื่อเปิดเบาะอันส่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยประสงค์จะเอาทรัพย์ในกระเป๋าสะพายของผู้เสียหายซึ่งเก็บรักษาไว้ใต้เบาะรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวเป็นลำดับแรก อย่างไรก็ตามเมื่อไม่สามารถเปิดเบาะได้ จำเลยจึงเอากุญแจรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย อันเป็นการเอาทรัพย์ชิ้นหนึ่งของผู้เสียหายไป เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยประสงค์ต่อทรัพย์ของผู้เสียหาย การที่จำเลยจะเอาทรัพย์ชิ้นใดของผู้เสียหายไปได้สำเร็จหรือไม่ย่อมขึ้นอยู่กับโอกาสของจำเลย ขนาดของทรัพย์รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ เช่น มีผู้ขัดขวางหรือไม่ เป็นต้น แม้จำเลยจะไม่สามารถเปิดเบาะรถจักรยานยนต์เพื่อเอาทรัพย์ของผู้เสียหายที่อยู่ในกระเป๋าสะพายและเก็บรักษาไว้ใต้เบาะนั่งรถจักรยานยนต์ แต่การกระทำของจำเลยเพื่อเอาทรัพย์ของผู้เสียหายยังไม่ขาดตอน ระหว่างนั้นจำเลยเอากุญแจรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไป ย่อมรับฟังในเบื้องต้นว่าจำเลยกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นอันเป็นการกระทำโดยทุจริต และเป็นการลักทรัพย์ของผู้เสียหาย ซึ่งโจทก์ได้กล่าวในฟ้องแล้ว หาใช่เป็นเรื่องข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยมานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share