คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8293/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ สลร.40/2516 และคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ สลร.39/2517 ต่างออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2515ที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีที่จะออกคำสั่งหรือกระทำการใด ๆโดยมติของคณะรัฐมนตรีได้และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำเช่นว่านั้นรวมถึงการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งหรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายด้วย นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งที่ สลร.40/2516ให้อายัดทรัพย์ของจอมพลถ. และภริยากับพวกรวม 6 คน รวมทั้งที่ดินโฉนดเลขที่ 2361 ซึ่งเป็นที่ดินพิพาท มีชื่อโจทก์และท่านผู้หญิงจ. ภริยาจอมพล ถ.ร่วมกันในโฉนดที่ดิน คณะกรรมการซึ่งดำเนินการตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ สลร.40/2516 ได้อายัดที่ดินพิพาทไว้ต่อมามีคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ สลร.39/2517 ให้ทรัพย์สินของจอมพล ถ. และภริยา กับพวกรวม 6 คน ซึ่งอายัดไว้ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ สลร.40/2516 ตกเป็นของรัฐ ให้กระทรวงการคลังจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ใน ทรัพย์สินบรรดาที่ตกเป็นของรัฐ และให้ดำเนินการตามควร ทุกประการในฐานะที่เป็นเจ้าของทรัพย์สิน โดยให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเพื่อปฏิบัติการตามคำสั่งนี้ การที่ปรากฏชื่อของโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทอยู่ด้วยนั้นเป็นเพียงข้อสันนิษฐานในเบื้องต้นว่าโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทอยู่ด้วยเท่านั้นเมื่อโจทก์ใช้สิทธิตามคำสั่งที่ สลร.39/2517 ข้อ 5 แล้วและต่อมาคณะกรรมการวินิจฉัยตามข้อ 6 ว่า โจทก์มิได้พิสูจน์ให้เป็นที่พอใจว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับพันตรีหลวงจ.เมื่อพันตรีหลวง จ. ได้ทำพินัยกรรม ยกให้ท่านผู้หญิง จ.แล้ว โจทก์ก็ไม่มีสิทธิในที่ดินดังกล่าว ดังนี้เท่ากับคณะกรรมการวินิจฉัยแล้วว่าที่ดินพิพาท เป็นของท่านผู้หญิง จ. และในชั้นพิจารณาของศาลเมื่อโจทก์ไม่สามารถนำสืบหักล้างข้อวินิจฉัยดังกล่าวของคณะกรรมการได้ ที่ดินพิพาทก็ย่อมตกเป็นของรัฐตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ สลร.39/2517 คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ สลร.39/2517 ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2515ระบุไว้ชัดว่าต้องการให้การสอบสวนเรื่องทรัพย์สินที่อายัดไว้แล้วนั้นเสร็จสิ้นโดยเร็ว ดังนั้น คณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นจึงมีหน้าที่ทำการสอบสวนให้เสร็จไปโดยเร็ว การที่คณะกรรมการไม่แจ้งให้โจทก์นำพยานบุคคลหรือพยานเอกสารใดเข้าสืบประกอบเอกสารซึ่งคณะกรรมการรับพิจารณาอยู่แล้วก็ดีหรือนำพยานหลักฐานใดมาพิจารณาเป็นข้อวินิจฉัยก็ดี ย่อมอยู่ ในดุลพินิจของคณะกรรมการตามที่เห็นสมควร อันจักพึงชี้ ให้เห็นได้ว่าทรัพย์สินนั้นเป็นของโจทก์ซึ่งได้มาโดยสุจริตและโดยชอบหรือไม่ หาใช่จำกัดไว้เฉพาะข้อเท็จจริงตามคำร้องของโจทก์เท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการพิจารณาโดยมีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย และได้ปฏิบัติ ตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี ที่ สลร.39/2517 การพิจารณาของ คณะกรรมการดังกล่าวจึงเป็นการชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ท่านผู้หญิงจงกล กิตติขจร ภริยาของจอมพลถนอม กิตติขจร และโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมคนละครึ่งในที่ดินโฉนดเลขที่ 2361 เนื้อที่ 229 ไร่ 1 งาน 46 ตารางวาวันที่ 1 สิงหาคม 2517 นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ สลร. 39/2517 ให้ทรัพย์สินของจอมพลถนอม กิตติขจรและภริยาที่ถูกยึดและอายัดไว้ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ สลร. 40/2516ตกเป็นของรัฐ อันมีผลให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 2361 เฉพาะส่วนของท่านผู้หญิงจงกลตกเป็นของรัฐด้วย วันที่ 8 กันยายน 2518กรมที่ดิน จังหวัดสระบุรี เจ้าพนักงานที่ดิน จังหวัดสระบุรีจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 2361เฉพาะในส่วนของท่านผู้หญิงจงกลเป็นของรัฐ โดยให้จำเลยที่ 1เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทน แต่ในส่วนของโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกยังคงเดิม ต่อมาปี 2534 โจทก์มีความประสงค์ที่จะแบ่งแยกที่ดินในส่วนของโจทก์ จึงติดต่อให้จำเลยที่ 1ผู้ถือกรรมสิทธิ์ และจำเลยที่ 2 ผู้มีอำนาจหน้าที่ดูแลที่ดินราชพัสดุแบ่งแยกที่ดินต่อไป แต่จำเลยทั้งสองไม่ยินยอมให้โจทก์แบ่งแยกและไม่ส่งมอบโฉนดที่ดิน แต่อ้างว่าคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดให้ที่ดินในส่วนของโจทก์ตกเป็นของรัฐ พร้อมกับสั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรีดำเนินการแก้ไขทางทะเบียนเปลี่ยนชื่อจากโจทก์ผู้ถือกรรมสิทธิ์เป็นจำเลยที่ 1 ทั้งที่ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ สลร. 39/2517 ลงวันที่ 1 สิงหาคม2517 ให้มีผลเฉพาะทรัพย์สินของจอมพลถนอมและภริยา การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้พิพากษาเพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 2361 จากชื่อโจทก์เป็นจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 8 มกราคม2535 และให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสระบุรีถอนชื่อจำเลยที่ 1ออกจากสารบบการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดแปลงดังกล่าวแล้วลงชื่อโจทก์แทน ให้จำเลยทั้งสองส่งมอบโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวไปยังเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสระบุรีเพื่อดำเนินการแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้โจทก์ครึ่งหนึ่งทางด้านทิศตะวันตก และให้จำเลยทั้งสองดำเนินการทางทะเบียนให้เป็นไปตามที่โจทก์ขอ
จำเลยทั้งสองให้การว่า นายกรัฐมนตรีอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515มีคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ สลร. 39/2517 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2517ให้ทรัพย์สินของจอมพลถนอม กิตติขจร และภริยา ที่มีคำสั่งให้ยึดและอายัดไว้ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ สลร. 40/2516 ลงวันที่30 ตุลาคม 2516 ตกเป็นของรัฐทั้งหมดอันมีผลให้ที่ดินดังกล่าวตกเป็นของรัฐด้วย คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ สลร. 39/2517 ยังตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งและกำหนดเงื่อนไขไว้ว่าในกรณีที่บุคคลใดกล่าวอ้างว่าทรัพย์สินที่ถูกยึดหรืออายัดและตกเป็นของรัฐตามคำสั่งฉบับดังกล่าวเป็นของตนที่ได้มาโดยสุจริตหรือโดยชอบ ให้ยื่นคำร้องพร้อมด้วยหลักฐานและรายละเอียดของการได้มาซึ่งทรัพย์สินต่อคณะกรรมการภายในหกสิบวันนับตั้งแต่วันออกคำสั่งยึดและอายัดและให้คำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการเป็นที่สุดโจทก์ยื่นหนังสือลงวันที่ 23 กันยายน 2517 ต่อคณะกรรมการเพื่อขอคืนที่ดินดังกล่าวในส่วนของตนแล้ว ต่อมาคณะกรรมการวินิจฉัยว่า โจทก์มิได้พิสูจน์ให้เป็นที่พอใจของคณะกรรมการว่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับพันตรีหลวงจบกระบวนยุทธที่โจทก์มีส่วนอยู่ด้วย เมื่อพันตรีหลวงจบกระบวนยุทธทำพินัยกรรมยกที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้แก่ท่านผู้หญิงจงกลแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิ แล้วชี้ขาดไม่คืนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้แก่โจทก์ โจทก์ทราบคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ถึงแก่กรรม ท่านผู้หญิงจงกล กิตติขจรทายาทโดยธรรมยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยทั้งสองมิได้โต้แย้งกันฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่30 ตุลาคม 2516 นายสัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรีอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช2515 โดยมติของคณะรัฐมนตรีมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์สินของจอมพลถนอม กิตติขจร และภริยา จอมพลประภาส จารุเสถียร และภริยาและพันเอกณรงค์ กิตติขจรและภริยาตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ สลร. 40/2516 ต่อมาวันที่ 1 สิงหาคม 2517 นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่อายัดหรือยึดไว้ดังกล่าวให้ตกเป็นของรัฐตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ สลร. 39/2517 ที่ดินโฉนดเลขที่ 2361ตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี มีชื่อโจทก์และท่านผู้หญิงจงกล กิตติขจรภริยาจอมพลถนอม กิตติขจรเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อันเป็นที่ดินพิพาทได้ถูกอายัดและตกเป็นของรัฐตามคำสั่งดังกล่าวในวันที่ 23 กันยายน 2517 โจทก์ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้นเพื่อปฏิบัติตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ สลร. 39/2517 ขอคืนที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์คณะกรรมการดังกล่าววินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีสิทธิในทรัพย์สินดังกล่าวไม่คืนที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์และมีหนังสือแจ้งไปยังโจทก์เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2518 ตามเอกสารหมาย จ.5 ในวันที่8 กันยายน 2518 ได้มีการโอนที่ดินพิพาทส่วนของท่านผู้หญิงจงกลกิตติขจร เป็นของกระทรวงการคลังจำเลยที่ 1 และวันที่ 8 มกราคม 2535 โอนที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์เป็นของกระทรวงการคลังจำเลยที่ 1
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกมีว่า คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ สลร.40/2516 และคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ สลร.39/2517 มีผลใช้บังคับทรัพย์สินของโจทก์หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า คำสั่งนายกรัฐมนตรีดังกล่าวเป็นคำสั่งให้ทรัพย์สินของจอมพลถนอมและภริยา จอมพลประภาสและภริยา และพันเอกณรงค์และภริยาที่ถูกอายัดหรือยึดไว้ตกเป็นของรัฐไม่เกี่ยวกับทรัพย์สินของโจทก์ การยื่นคำร้องตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ สลร.39/2517 เป็นเรื่องเฉพาะบุคคลที่อาศัยชื่อบุคคลทั้งหกใส่ชื่อถือกรรมสิทธิ์ไว้แทนเท่านั้น มิใช่เป็นกรณีเกี่ยวกับโจทก์ เห็นว่า คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ สลร.40/2516และคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ สลร.39/2517 ต่างออกคำสั่งโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 ที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีที่จะออกคำสั่งหรือกระทำการใด ๆ โดยมติของคณะรัฐมนตรีได้ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำเช่นว่านั้นรวมถึงการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งหรือการกระทำหรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายด้วย กรณีตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ สลร.40/2516 ให้อายัดทรัพย์ของจอมพลถนอมและภริยากับพวกรวม 6 คน ไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์นั้นมีผลให้ทรัพย์ของจอมพลถนอมและภริยากับพวกรวม 6 คน ดังกล่าว ไม่สามารถที่จะจำหน่ายจ่ายโอนได้ ที่ดินโฉนดเลขที่ 2361 ซึ่งเป็นที่ดินพิพาทมีชื่อในโฉนดคือ โจทก์และท่านผู้หญิงจงกลภริยาจอมพลถนอมร่วมกัน คณะกรรมการซึ่งดำเนินการตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ สลร.40/2516 ได้อายัดที่ดินพิพาทไว้ ต่อมามีคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ สลร.39/2517ให้ทรัพย์สินของจอมพลถนอมและภริยากับพวกรวม 6 คน ซึ่งอายัดไว้ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ สลร.40/2516 ตกเป็นของรัฐให้กระทรวงการคลังจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินบรรดาที่ตกเป็นของรัฐและให้ดำเนินการตามควรทุกประการในฐานะที่เป็นเจ้าของทรัพย์สิน โดยให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเพื่อปฏิบัติการตามคำสั่งนี้ นอกจากนี้ ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ สลร.39/2517 ข้อ 5 ระบุว่า ในกรณีที่จอมพลถนอมและภริยากับพวกรวม 6 คน หรือผู้ได้รับมอบอำนาจจากบุคคลดังกล่าวอ้างว่า ทรัพย์สินใดที่ตกเป็นของรัฐเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยสุจริตและโดยชอบหรือบุคคลใดอ้างว่าทรัพย์สินที่ตกเป็นของรัฐเป็นของตนซึ่งได้มาโดยสุจริตและโดยชอบให้ยื่นคำร้องพร้อมด้วยหลักฐานและรายละเอียดของการได้มาซึ่งทรัพย์สินนั้นต่อคณะกรรมการภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ออกคำสั่งนี้ ในข้อ 6 ระบุว่า ในกรณีที่ยื่นตาม 5 พิสูจน์ให้เป็นที่พอใจของคณะกรรมการได้ว่า ทรัพย์สินใดที่ตกเป็นของรัฐเป็นทรัพย์สินของตนที่ได้มาโดยสุจริตและโดยชอบ ให้คณะกรรมการโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีสั่งให้กระทรวงการคลังคืนทรัพย์สินแก่ผู้ยื่นคำร้อง และในข้อ 7 ระบุว่าในกรณีที่คณะกรรมการเห็นว่า ผู้ยื่นคำร้องตาม 5 ไม่อาจพิสูจน์ให้เป็นที่พอใจได้ว่าทรัพย์สินที่ตนได้มาโดยสุจริตและโดยชอบให้คณะกรรมการบันทึกการวินิจฉัยชี้ขาดการไม่คืนทรัพย์สินไว้เป็นหลักฐาน และให้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ยื่นคำร้องทราบถึงการวินิจฉัยของคณะกรรมการโดยไม่ชักช้า การวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการให้เป็นที่สุดสำหรับที่ดินพิพาทมีชื่อท่านผู้หญิงจงกลภริยาจอมพลถนอมถือกรรมสิทธิ์อยู่ด้วย การที่ปรากฏชื่อของโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทอยู่ด้วยนั้นเป็นเพียงข้อสันนิษฐานในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทอยู่ด้วยเท่านั้น เมื่อคณะกรรมการวินิจฉัยแล้วว่าโจทก์มิได้พิสูจน์ให้เป็นที่พอใจว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับพันตรีหลวงจบกระบวนยุทธ เมื่อพันตรีหลวงจบกระบวนยุทธได้ทำพินัยกรรมยกให้ท่านผู้หญิงจงกลกิตติขจรแล้ว โจทก์ก็ไม่มีสิทธิในที่ดินดังกล่าว เท่ากับคณะกรรมการวินิจฉัยแล้วว่าที่ดินพิพาทเป็นของท่านผู้หญิงจงกลกิตติขจร อีกทั้งในชั้นพิจารณาโจทก์ก็ไม่สามารถนำสืบหักล้างข้อวินิจฉัยดังกล่าวของคณะกรรมการได้ ดังนั้น การที่คณะกรรมการอายัดที่ดินพิพาทไว้ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ สลร.40/2516จึงเป็นการอายัดไว้โดยชอบ และที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นของรัฐตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ สลร.39/2517 ซึ่งตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีดังกล่าวได้ให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินที่ถูกยึดร้องคืนทรัพย์สินนั้นได้ใน 2 กรณี ตามข้อ 5 คือ กรณีที่จอมพลถนอมและภริยากับพวกรวม 6 คน หรือผู้ได้รับมอบอำนาจจากบุคคลดังกล่าว อ้างว่าทรัพย์สินที่ตกเป็นของรัฐเป็นของตนกรณีหนึ่ง และบุคคลใดคือบุคคลทั่วไปซึ่งมิใช่จอมพลถนอมและภริยากับพวกดังกล่าวอ้างว่าทรัพย์สินที่ตกเป็นของรัฐเป็นของตนอีกกรณีหนึ่ง โจทก์ซึ่งอ้างว่าที่ดินพิพาทที่ตกเป็นของรัฐเป็นทรัพย์สินของโจทก์ที่ได้มาโดยสุจริตและโดยชอบ จึงชอบที่จะร้องขอคืนต่อคณะกรรมการตามข้อ 5 การที่โจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการดังกล่าวจึงชอบแล้วหาใช่เป็นการใช้สิทธิโดยผิดหลงดังฎีกาของโจทก์ไม่ คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ สลร.40/2516 และคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ สลร.39/2517 มีผลใช้บังคับกับที่ดินพิพาท
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อมาว่า การที่คณะกรรมการไม่แจ้งให้โจทก์นำพยานบุคคลและพยานเอกสารประกอบการสอบสวนก็ดี การนำเอาพินัยกรรมของพันตรีหลวงจบกระบวนยุทธมาวินิจฉัย เป็นการนำเอาข้อเท็จจริงนอกคำร้องของโจทก์มาวินิจฉัยก็ดี การตีความพินัยกรรมของพันตรีหลวงจบกระบวนยุทธ ก็ดีเป็นการใช้ดุลพินิจในการรับฟังพยาน ขัดต่อคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ สลร.39/2517 เห็นว่า ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ สลร.39/2517 ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 ระบุไว้ชัดว่า ต้องการให้การสอบสวนเรื่องทรัพย์สินที่อายัดไว้แล้วนั้นเสร็จสิ้นโดยเร็ว คณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นจึงมีหน้าที่ทำการสอบสวนให้เสร็จไปโดยเร็ว การที่คณะกรรมการไม่แจ้งให้โจทก์นำพยานบุคคลหรือพยานเอกสารใดเข้าสืบประกอบกับเอกสารซึ่งคณะกรรมการรับพิจารณาอยู่แล้วก็ดี หรือนำพยานหลักฐานใดมาพิจารณาเป็นข้อวินิจฉัยก็ดีย่อมอยู่ในดุลพินิจของคณะกรรมการตามที่เห็นสมควร อันจักพึงชี้ให้เห็นได้ว่าทรัพย์สินนั้นเป็นของโจทก์ซึ่งได้มาโดยสุจริตและโดยชอบหรือไม่หาใช่จำกัดไว้เฉพาะข้อเท็จจริงตามคำร้องของโจทก์เท่านั้นไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการพิจารณาโดยมีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย คณะกรรมการได้ปฏิบัติตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่ สลร.39/2517 จึงเป็นการชอบด้วยกฎหมายแล้ว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายว่าได้มีการแก้ชื่อจากท่านผู้หญิงจงกลไปเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2518 ซึ่งเป็นวันหลังจากที่คณะกรรมการได้แจ้งคำสั่งไม่คืนที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ให้โจทก์ แต่ได้แก้ชื่อทางทะเบียนจากชื่อของโจทก์เป็นชื่อของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่8 มกราคม 2535 อันเป็นการแก้ชื่อตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 มิใช่เป็นการแก้ไขตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่ สลร.39/2517 จึงเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง เห็นว่า การแก้ไขชื่อในโฉนดที่ดินเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนเท่านั้น ซึ่งตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ สลร.39/2517 ข้อ 3 ให้กระทรวงการคลังจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินบรรดาที่ตกเป็นของรัฐตั้งแต่ต้นแล้ว เมื่อคณะกรรมการมีคำวินิจฉัยไม่คืนทรัพย์สินให้ การเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนย่อมเป็นไปตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ สลร.39/2517 นั่นเอง แม้จะได้มีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนในภายหลังก็มิใช่เป็นไปตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 เป็นการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนโดยชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share