แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเป็นคดีหนึ่งต่อมาโจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินที่ถูกเวนคืนเพิ่มขึ้นอีกเป็นคดีที่สอง คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองสำนวนเป็นกรณีที่โจทก์เรียกเงินค่าทดแทนในที่ดินแปลงเดียวกันและเกิดจากการเวนคืนในคราวเดียวกัน ซึ่งทุนทรัพย์ในคดีสำนวนหลังเกิดจากจำนวนเนื้อที่ดินที่เพิ่มขึ้นภายหลังจากการรังวัดแบ่งแยกที่ดินของโจทก์ที่โจทก์สามารถขอแก้ไขคำฟ้องเพิ่มจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้องรวมกันอัตราสูงสุดจำนวน 200,000 บาท ตามตาราง 1 ท้าย ป.วิ.พ. ข้อ (1) (ก) ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รวมพิจารณาคดีทั้งสองสำนวนเป็นคดีเดียวกันแล้ว จึงเห็นสมควรคืนค่าขึ้นศาลในสำนวนคดีหลังที่โจทก์ชำระมาชั้นศาลละ 200,000 บาท ทั้งสามชั้นศาลให้แก่โจทก์
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยเรียกโจทก์และจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 กับที่ 2
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินรวม 175,200,900.95 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12.25 ต่อปี ของต้นเงิน 140,790,821.12 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 6.5 ต่อปี ของต้นเงิน 21,271,712 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มแก่โจทก์ 5,433,792 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน นับแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น กับให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี กำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้โดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 1167 ตำบลท่าโขลง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เนื้อที่ 25 ไร่ 2 งาน 40 ตารางวา ต่อมามีการรังวัดใหม่ เนื้อที่ที่แท้จริงคือ 26 ไร่ 1 งาน 13 ตารางวา ที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนบางส่วนเพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3214 แต่ก่อนการดำเนินการเพื่อการเวนคืนในคดีนี้ทางราชการยังไม่ได้ลงมือก่อสร้างทางหลวงแผ่นดินดังกล่าวตามแผนที่ที่ดินบริเวณที่ไม่ได้ระบายสีและเขียนว่า “เวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงสาย 3214″ ต่อมาเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2539 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่อำเภอบางประอิน อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อำเภอสามโคก อำเภอคลองหลวง อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี และเขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2539 เพื่อสร้างทางพิเศษสายบางประอิน – ปากเกร็ด ซึ่งมีผลให้บังคับวันที่ 7 มีนาคม 2539 ที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนเนื้อที่ 16 ไร่ 85 ตารางวา แต่เมื่อมีการรังวัดแบ่งแยกที่ดินที่ถูกเวนคืนได้เนื้อที่เพิ่มอีก 2 ไร่ 1 งาน 79 ตารางวา (979 ตารางวา) รวมที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนทั้งหมดเนื้อที่ 18 ไร่ 2 งาน 64 ตารางวา คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ตารางวาละ 8,000 บาท โจทก์รับเงินไปหมดแล้วแต่ยังไม่พอใจในเงินค่าทดแทนที่ดินดังกล่าวจึงได้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ขอเงินค่าทดแทนที่ดินเป็นตารางวาละ 30,000 บาท รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยวินิจฉัยแล้วเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์อีกตารางวาละ 272 บาท เป็นตารางวาละ 8,272 บาท โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินที่วินิจฉัยเพิ่มแล้ว แต่ยังไม่พอใจในเงินค่าทดแทนที่ดินดังกล่าวจึงได้ฟ้องต่อศาลชั้นต้นขอเงินค่าทดแทนที่ดินเท่าที่อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คือ ตารางวาละ 30,000 บาท ศาลชั้นต้นเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินให้เป็นตารางวาละ 9,000 บาท โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกาโดยโจทก์ฎีกาขอเงินค่าทดแทนที่ดินตารางวาละ 30,000 บาท ส่วนจำเลยทั้งสองฎีกาขอให้ยกฟ้อง คดีจึงมีปัญหาในชั้นนี้เพียงว่า เงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ควรเป็นเท่าใดจึงจะเป็นธรรมต่อโจทก์และสังคม เห็นว่า ในการกำหนดเงินค่าทดแทนนั้นหากไม่มีบทกฎหมายบัญญัติเป็นอย่างอื่นต้องใช้หลักเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ซึ่งบทบัญญัติมาตราดังกล่าวนอกจากจะต้องคำนึงถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6 ราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ และราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมแล้ว ยังต้องคำนึงถึงสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้น และเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนด้วย คดีนี้ ที่ดินของโจทก์แม้จะมีเนื้อที่มากถึง 26 ไร่ 1 งาน 13 ตารางวา อันจะเห็นได้ว่าเหมาะในการนำมาใช้ประกอบการในเชิงธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นหมู่บ้านจัดสรรหรือสถานีบริการน้ำมันตามที่โจทก์เบิกความว่ามีโครงการจะพัฒนาที่ดินทำธุรกิจดังกล่าว แต่เมื่อพิจารณาถึงลักษณะรูปทรงที่ดินของโจทก์ซึ่งมีลักษณะเป็นรูปทรงแฉกคล้ายว่าวจุฬาผ่าครึ่ง ตามรูปแผนที่ นอกจากนี้ที่ดินของโจทก์ยังอยู่ติดกับทางรถไฟสายเหนือ และตรงกลางของที่ดินยังมีทางสาธารณประโยชน์ลาดยางครึ่งหนึ่งและอีกครึ่งหนึ่งเป็นทางลูกรังกับคูน้ำขนาดใหญ่คู่ขนานไปกับทางสาธารณประโยชน์ผ่าผ่านทำให้ที่ดินของโจทก์ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน โจทก์ได้รับที่ดินมาจากบิดาและมารดาโดยการให้ตั้งแต่ปี 2524 นับแต่ได้รับมาโจทก์ไม่เคยปรับปรุงที่ดินดังกล่าวเลยโดยทิ้งร้างไว้จนถึงปี 2539 ซึ่งมีพระราชกฤษฎีกาฯ เป็นเวลาถึง 15 ปี แสดงให้เห็นว่า ที่ดินของโจทก์อยู่ในทำเลที่ยังไม่ดีนักและสภาพที่ดินก็ไม่ดี จึงไม่มีผู้สนใจที่จะซื้อหรือโจทก์นำที่ดินไปพัฒนา ทั้งที่โจทก์มีอาชีพจัดสรรที่ดินขายตามที่ได้ความจากนางสมจิตพยานโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้าน ประกอบกับที่โจทก์ฎีกาขอให้นำอัตราเงินค่าทดแทนที่ดินของนายสุเมธาราคาซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1343 ระหว่างนายประเสริฐกับนางสมจิตและอัตราเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 5082 ของโจทก์อีกแปลงหนึ่งมาเปรียบเทียบกับที่ดินของโจทก์ตามฟ้องก็เห็นว่าไม่สามารถนำมาเทียบเคียงกันได้ เพราะลักษณะตำแหน่ง สภาพ และที่ตั้งของที่ดินรวมทั้งสภาพแวดล้อมต่างๆ มีความแตกต่างกันอย่างมาก ดังนั้น จึงไม่อาจนำเอาที่ดินแปลงอื่นดังที่โจทก์นำสืบมาเปรียบเทียบใช้เป็นราคาที่ดินแปลงนี้ ที่ดินของโจทก์มีราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ในปี 2539 เพียงตารางวาละ 2,700 บาท แต่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ก็ได้นำราคาประเมินเพื่อการเวนคืนเป็นรายแปลงของสำนักงานกลางประเมินราคาทรัพย์สิน กรมที่ดินซึ่งกำหนดให้ถึงตารางวาละ 9,000 บาท มาเป็นเกณฑ์ประกอบการพิจารณากำหนดอัตราค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ โดยคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ได้พิจารณาเปรียบเทียบสภาพที่ดินของโจทก์กับที่ดินแปลงอื่นแล้ว มีความเห็นว่าสภาพที่ดินของโจทก์ด้อยกว่าที่ดินแปลงอื่นมาก และได้มีมติลดราคาลงเหลือตารางวาละ 8,000 บาท ตามรายงานการประชุมของคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ครั้งที่ 2/2539 หน้า 3 เมื่อโจทก์อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก็ได้เพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์อีก ตารางวาละ 272 บาท เป็นตารางวาละ 8,272 บาท และโจทก์ก็ได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ตามอัตราที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำหนดให้ทั้งหมดไปครบถ้วนแล้ว ประกอบกับที่ดินของโจทก์ตามรูปแผนที่ มีความยาวจากถนนสาธารณะลึกเข้าไปด้านในสุดที่ดินถึงเกือบ 200 เมตร ราคาเฉลี่ยทั้งแปลงของที่ดินของโจทก์จึงย่อมลดลงไปตามระยะที่ห่างจากถนนเข้าไปตามลำดับ ดังนั้น เมื่อพิจารณาตามหลักเกณฑ์การกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 และสภาพที่ดินของโจทก์ที่ได้ความจากพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยทั้งสองตามที่วินิจฉัยมาข้างต้นประกอบด้วยแล้วเชื่อว่า ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของที่ดินของโจทก์ตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ วันที่ 7 มีนาคม 2539 เฉลี่ยแล้วไม่เกินไปกว่าอัตราเงินค่าทดแทนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพิ่มให้เป็นตารางวาละ 8,272 บาท ดังนั้น ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์เป็นอัตราตารางวาละ 8,272 บาท จึงนับว่าเหมาะสมเป็นธรรมต่อโจทก์และสังคมแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์เป็นอัตราตารางวาละ 9,000 บาท นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น
อนึ่ง คดีทั้งสองสำนวนนี้ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองสำนวนเป็นกรณีที่โจทก์เรียกเงินค่าทดแทนในที่ดินแปลงเดียวกันและเกิดจากการเวนคืนในคราวเดียวกัน ซึ่งทุนทรัพย์ในคดีสำนวนหลังเกิดจากจำนวนเนื้อที่ดินเพิ่มขึ้นภายหลังจากการรังวัดแบ่งแยกที่ดินของโจทก์ที่โจทก์สามารถขอแก้ไขคำฟ้องเพิ่มจำนวนทุนทรัพย์เข้ามาในคดีสำนวนแรกได้อยู่แล้ว และชำระค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้องรวมกันในอัตราสูงสุดจำนวน 200,000 บาท ตามตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ข้อ (1) (ก) ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รวมพิจารณาคดีทั้งสองสำนวนเป็นคดีเดียวกันแล้ว จึงเห็นสมควรคืนค่าขึ้นศาลในสำนวนคดีหลังที่โจทก์ชำระมาชั้นศาลละ 200,000 บาท ทั้งสามชั้นศาลให้แก่โจทก์”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง คืนค่าขึ้นศาลทั้งสามชั้นศาลในสำนวนคดีหลังแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลนอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ