คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 322/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 กับที่ 2 พร้อมพวกไปเที่ยวงานวัด มีชายคนหนึ่งขับรถจักรยานยนต์มาชนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงชกต่อยกับชายดังกล่าว จำเลยที่ 2 กับพวกเข้าห้ามหลังจากนั้นจำเลยทั้งสองกับพวกไปรับประทานอาหารที่บ้านจำเลยที่ 1 มีคนใช้ขวดสุราขว้างปามาที่บ้านจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 โมโหมาก จึงหยิบอาวุธปืนแก๊ปยาวที่อยู่ในบ้านออกมาหน้าบ้านโดยจำเลยที่ 2 เดินตามมาด้วย จำเลยที่ 1 ยิงปืนไปยังกลุ่มวัยรุ่นโดยจำเลยที่ 2 ยืนอยู่ใกล้ ๆ กระสุนปืนถูกโจทก์ร่วมที่ศีรษะได้รับบาดเจ็บไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มีสาเหตุโกรธเคืองกับกลุ่มวัยรุ่นที่ขว้างปาบ้านของจำเลยที่ 1 และขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ก็มิได้แสดงอาการอย่างใดอันจะชี้ให้เห็นว่ามีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 1 ยิงกลุ่มวัยรุ่นดังกล่าว การที่จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธยิงไปยังกลุ่มวัยรุ่นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทันทีทันใด แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ห้ามปรามจำเลยที่ 1 ก็อาจเป็นไปได้ว่าจำเลยที่ 2 มิได้คาดคิดว่าจำเลยที่ 1 จะกระทำเช่นนั้น พฤติการณ์แห่งคดียังฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 มีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานพยายามฆ่าตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 371, 91, 83, 80, 32, 33 ริบอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืนของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น นายบ่าว โสภา ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ส่วนจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 80, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ออกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุก 10 ปี ฐานมีอาวุธ จำคุก 1 ปี และปรับ 3,000 บาท ฐานพาอาวุธปืน เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับ 3,000 บาท รวมจำคุก 11 ปี และปรับ 6,000 บาท คำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 2 ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสามคงจำคุก 7 ปี 4 เดือน และปรับ 4,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลาง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง แต่ให้รับของกลาง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วมถูกที่บริเวณศีรษะเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมได้รับอันตรายแก่กาย คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจกท์ว่า จำเลยที่ 2 ได้กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่… เห็นว่า มูลเหตุแห่งคดีนี้เกิดจากจำเลยที่ 1 กับที่ 2 พร้อมพวกไปเที่ยวงานวัด มีชายคนหนึ่งขับรถจักรยานยนต์มาชนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงชกต่อยกับชายดังกล่าว จำเลยที่ 2 กับพวกเข้าห้าม หลังจากนั้นจำเลยทั้งสองกับพวกไปรับประทานอาหารที่บ้านจำเลยที่ 1 มีขวดสุราขว้างปามาที่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 โมโหมาก จึงหยิบอาวุธปืนแก๊ปยาวที่อยู่ในบ้านออกมาหน้าบ้าน โดยจำเลยที่ 2 เดินตามมาด้วยจำเลยที่ 1 ยิงปืนไปยังกลุ่มวัยรุ่นโดยจำเลยที่ 2 ยืนใอยู่กล้ๆ กระสุนปืนถูกโจทก์ร่วมที่ศีรษะได้รับบาดเจ็บ ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มีสาเหตุโกรธเคืองกับกลุ่มวัยรุ่นที่ขว้างปาบ้านของจำเลยที่ 1 และขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ก็มิได้แสดงอาการอย่างใดอันจะชี้ให้เห็นว่ามีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 1 ยิงกลุ่มวัยรุ่นดังกล่าว การที่จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงไปยังกลุ่มวัยรุ่นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทันทีทันใด แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ห้ามปรามจำเลยที่ 1 ก็อาจเป็นไปได้ว่าจำเลยที่ 2 มิได้คาดคิดว่าจำเลยที่ 1 จะกระทำเช่นนั้น พฤติการณ์แห่งคดียังฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 มีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้อง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share