คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 603/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2510 มาตรา 6ยกเว้นโทษให้แก่ผู้ที่นำอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไปมอบให้แก่นายทะเบียนท้องที่ภายในกำหนดเก้าสิบวัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เมื่อปรากฏว่าขณะเจ้าพนักงานยึดอาวุธปืนและกระสุนปืนไปจากจำเลยนั้นยังอยู่ในระยะเวลาเก้าสิบวันดังกล่าว จำเลยย่อมได้รับยกเว้นโทษ และแม้ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยใน ข้อหามีอาวุธปืนและกระสุนปืนโดยมิได้รับอนุญาตและจำเลยมิได้อุทธรณ์ฎีกาในข้อหานี้ก็ตามศาลฎีกาก็หยิบยกพระราชบัญญัติดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยให้เป็นคุณแก่จำเลยได้เพราะเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2510 จำเลยมีปืนลูกซองพกสั้น ชนิดทำเองในประเทศหนึ่งกระบอก กับกระสุนปืนลูกซอง 6 นัดโดยไม่ได้รับอนุญาต และจำเลยใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงนายชบถึงแก่ความตาย เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมอาวุธปืนและกระสุนปืนดังกล่าวในวันที่ 21 เดือนเดียวกัน ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 และตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ กับขอให้ริบของกลาง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2510 มาตรา 3 ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288ซึ่งเป็นกระทงหนัก ให้จำคุกตลอดชีวิต คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยมีประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ให้จำคุก 15 ปี ของกลางริบ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาฟังว่า พยานหลักฐานโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิดฐานฆ่าผู้ตายส่วนในข้อหาครอบครองอาวุธปืนและกระสุนปืนโดยมิได้รับอนุญาตนั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ(ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2510 ซึ่งใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2510 บัญญัติว่า “ผู้ใดมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด ไม่ว่าชนิดหรือขนาดใด ซึ่งยังไม่ได้รับอนุญาตโดยชอบด้วยกฎหมาย และไม่อาจอนุญาตได้ตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน ถ้าได้นำอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดดังกล่าวมามอบให้นายทะเบียนท้องที่ภายในกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ” ปรากฏตามฟ้องว่าจำเลยมีอาวุธปืนชนิดทำเองไม่มีเครื่องหมายเลขทะเบียนของเจ้าพนักงานและกระสุนปืนไว้ในครอบครองเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2510 เจ้าพนักงานจับจำเลยและยึดเอาอาวุธปืนกับกระสุนปืนนั้นไปเป็นของกลางเมื่อวันที่ 21เดือนเดียวกัน เมื่อเจ้าพนักงานยึดเอาปืนและกระสุนปืนของจำเลยไปนั้น ยังไม่พ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ ยังคงอยู่ในระยะเวลาที่จำเลยจะนำปืนและกระสุนปืนนั้นไปมอบให้นายทะเบียนท้องที่ได้ จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษในข้อหานี้และปัญหาที่ว่าการกระทำของจำเลยต้องด้วยบทบัญญัติของกฎหมายให้ลงโทษหรือไม่นั้นเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นโต้เถียงมาในชั้นอุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรค 2 ประกอบมาตรา 225

พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ยกฟ้องโจทก์ ของกลางไม่ริบ

Share