แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะไม่ใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของ ส. กับ บ. จึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียคดีจึงไม่มีประเด็นว่าโจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องเพราะส. ถึงแก่กรรมไปแล้วเป็นเหตุให้การสมรสสิ้นสุดลงตามที่จำเลยฎีกา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ การที่จำเลยขออายัดที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 2โดยอ้างว่าเป็นของ ส. เป็นการโต้แย้งสิทธิในทรัพย์มรดกของส. ซึ่งเป็นบิดาโจทก์ทั้งสองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 55 โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องจำเลย ส.จดทะเบียนสมรสกับบ.อยู่แล้วต่อมาส. จดทะเบียนสมรสกับจำเลยอีกโดยมิได้หย่าขาดจาก บ. การจดทะเบียนสมรสระหว่างส. กับจำเลยจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1496 เดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นแม้จำเลยจะอ้างว่าจดทะเบียนสมรสโดยสุจริตก็หาเป็นเหตุให้การสมรสที่เป็นโมฆะเสียเปล่ากลับสมบูรณ์ขึ้นมาแต่อย่างใดไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรของสิบตำรวจโทสุขุมกับนางบุญส่งซึ่งจดทะเบียนสมรสกัน สิบตำรวจโทสุขุมได้จดทะเบียนสมรสกับจำเลยอีก โดยจำเลยทราบว่าสิบตำรวจโทสุขุมมีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว และยังไม่ได้หย่าขาดจากกันอันเป็นการจดทะเบียนสมรสซ้อน เป็นโมฆะ จำเลยยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของสิบตำรวจโทสุขุมและขออายัดที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 2 ทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหาย ขอให้เพิกถอนทะเบียนการสมรสระหว่างสิบตำรวจโทสุขุมกับจำเลย
จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งสองไม่ได้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของสิบตำรวจโทสุขุมกับนางบุญส่ง ไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียจึงไม่มีอำนาจฟ้อง การจดทะเบียนสมรสระหว่างสิบตำรวจโทสุขุมกับจำเลยถูกต้องตามกฎหมายโจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนที่ดินที่จำเลยขออายัดเป็นทรัพย์สินที่จำเลยกับสิบตำรวจโทสุขุมทำมาหาได้ร่วมกัน โจทก์ทั้งสองเป็นเพียงผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนจึงไม่เสียหายเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์มรดก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า การสมรสระหว่างสิบตำรวจโทสุขุม พัฒนะไพบูลย์ กับจำเลยเป็นโมฆะ ให้จำเลยชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่าการสมรสทั้งของนางบุญส่งและของจำเลยต่างสิ้นสุดไปแล้วเมื่อสิบตำรวจโทสุขุมถึงแก่กรรม โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการสมรสภายหลังจากที่สิบตำรวจโทสุขุมถึงแก่กรรมไปแล้วนั้นเห็นว่า จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะไม่ใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของสิบตำรวจโทสุขุมกับนางบุญส่งจึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสีย คดีจึงไม่มีประเด็นว่าโจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องเพราะสิบตำรวจโทสุขุมถึงแก่กรรมไปแล้วเป็นเหตุให้การสมรสสิ้นสุดลงหรือไม่ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองเป็นบุตรของสิบตำรวจโทสุขุมและปรากฏว่าจำเลยได้ขออายัดที่ดินโฉนดเลขที่ 27853 ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 2โดยจำเลยอ้างว่าเป็นของสิบตำรวจโทสุขุม จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิในทรัพย์มรดกของสิบตำรวจโทสุขุมซึ่งเป็นบิดาของโจทก์ทั้งสอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องจำเลย ปัญหาตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายมีว่าการจดทะเบียนสมรสระหว่างจำเลยกับสิบตำรวจโทสุขุมเป็นโมฆะหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่าสิบตำรวจโทสุขุมจดทะเบียนสมรสกับนางบุญส่งเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2499 ต่อมาสิบตำรวจโทสุขุมได้จดทะเบียนสมรสกับจำเลยอีกเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2527 โดยมิได้หย่าขาดจากนางบุญส่ง การจดทะเบียนสมรสระหว่างสิบตำรวจโทสุขุมกับจำเลยจึงเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1452 และตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1496 เดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ที่จำเลยฎีกาอ้างว่าจดทะเบียนสมรสโดยสุจริตก็หาเป็นเหตุให้การสมรสที่เป็นโมฆะเสียเปล่ากลับสมบูรณ์ขึ้นมาแต่อย่างใดไม่
พิพากษายืน