แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
สัญญามีข้อความโดยสรุปว่า จำเลยแต่งตั้งให้โจทก์เป็นตัวแทนในการติดต่อและจัดหาผู้ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลย และให้มีการต่อรองราคากันได้ โดยจำเลยตกลงให้โจทก์ได้รับค่าบำเหน็จในอัตราร้อยละ 3 ของราคาทรัพย์สินที่ขายได้ จำเลยยินยอมให้โจทก์โฆษณาเผยแพร่ข่าวสารด้านการตลาดเพื่อจัดหาผู้ซื้อทรัพย์สินและจำเลยตกลงให้โจทก์มีสิทธิรับเงินประกันการปฏิบัติตามสัญญาจากผู้เสนอซื้อและถือไว้แทนจำเลย เมื่อจำเลยตกลงคำเสนอซื้อแล้ว เงินดังกล่าวให้โจทก์ชำระให้จำเลยและถือเป็นเงินค่ามัดจำส่วนหนึ่ง หากต่อมาผู้เสนอซื้อไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงในคำเสนอซื้อ จำเลยมีสิทธิริบเงินประกันการปฏิบัติตามสัญญาจำเลยจะแบ่งให้โจทก์กึ่งหนึ่ง และตามสัญญาข้อ 10 ยังระบุว่าในระหว่างข้อตกลงยังมีผลใช้บังคับ หากมีบุคคลอื่นติดต่อขอซื้อทรัพย์สินตามสัญญา จำเลยตกลงมอบหมายให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการให้การซื้อขายเสร็จสิ้นและตกลงชำระค่าบำเหน็จตามข้อ 2 เห็นได้ว่า ตามสัญญาดังกล่าวนอกจากจำเลยจะตกลงให้โจทก์เป็นนายหน้าจัดหาผู้ซื้อทรัพย์สินของจำเลยแล้วยังมีข้อตกลงแต่งตั้งให้โจทก์เป็นตัวแทนของจำเลยในการจัดการซื้อขาย และดำเนินการเกี่ยวกับการซื้อขายทรัพย์ของจำเลยกับบุคคลภายนอกโดยให้บำเหน็จด้วย ดังนั้น แม้ตอนท้ายของสัญญาข้อ 10 ที่ระบุว่า ส่วนในกรณีจำเลยได้ขายทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่นไม่ว่าจะเป็นการขายด้วยตัวเอง หรือให้บุคคลอื่นเป็นตัวแทนติดต่อขายให้ก็ตาม จำเลยยังมีหน้าที่จะต้องชำระค่าบำเหน็จให้แก่โจทก์ตามที่ระบุในข้อ 2 ซึ่งข้อตกลงนี้คู่สัญญาสามารถตกลงกันได้ไม่ขัดต่อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแต่อย่างใดย่อมบังคับระหว่างคู่สัญญาได้ และหลังจากทำสัญญา โจทก์ได้ดำเนินการประกาศขายทรัพย์สินของจำเลยตามสื่อต่าง ๆ อันเป็นหน้าที่ของตัวแทนตามข้อตกลงแล้วเมื่อจำเลยายสินทรัพย์สินให้แก่บุคคลภายนอกในระหว่างอายุสัญญายังมีผลใช้บังคับอยู่จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายบำเหน็จให้แก่โจทก์ตามข้อตกลง หาใช่เป็นสัญญาที่เอารัดเอาเปรียบไม่เป็นธรรม หรือโจทก์ไม่ประสงค์จะปฏิบัติตามกฎหมายไม่ สัญญาจึงบังคับได้ตามกฎหมาย
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 27,000 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย จำเลยฎีกาของให้ยกฟ้อง ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาจึงเป็นเงินจำนวน 27,000 บาท รวมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องอีก 693.49 บาท รวมเป็น 27,693.49 บาท จำเลยต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาเป็นเงิน 692.50 บาท แต่จำเลยเสียมาเป็นเงิน 2,380 บาท ต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาที่เกินไป 1,687.50 บาท แก่จำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยแต่งตั้งให้โจทก์เป็นตัวแทนนายหน้าขายที่ดินพร้อมบ้านตกลงให้ค่าบำเหน็จในอัตราร้อยละ 3 ของราคาทรัพย์สินที่ขายได้โดยจะชำระวันโอนกรรมสิทธิ์ มิฉะนั้นยอมชดใช้ค่าเสียหายอีก 1 เท่า ของเงินบำเหน็จที่โจกท์จะได้รับ และค่าใช้จ่ายในการติดตามทวงถาม ระหว่างข้อตกลงยังมีผลใช้บังคับอยู่หากจำเลยขายทรัพย์สินได้เองหรือบุคคลอื่นขายให้ก็ต้องชำระบำเหน็จแก่โจทก์เมื่อครบกำหนดแล้วโจทก์จำเลยต่อสัญญาไปอีก 270 วัน และตกลงลดราคาขายเหลือเพียง 1,550,000 บาท และในระหว่างอายุสัญญา จำเลยนำทรัพย์สินไปขายแก่บุคคลภายนอกโดยไม่ชำระบำเหน็จให้โจทก์ จำแลยต้องรับผิดชำระค่าบำเหน็จเป็นเงิน 46,500 บาท และค่าเสียหายอีก 1 เท่า พร้อมดอกเบี้ย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 95,197 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า เมื่อครบกำหนดการแต่งตั้งให้โจทก์เป็นนายหน้า โจทก์ไม่สามารถชี้ช่องหรือจัดการให้จำเลยขายทรัพย์สินได้ ต่อมาจำเลยหาบุคคลมาซื้อทรัพย์สินได้เองในราคา 900,000 บาท โดยโจทก์ไม่ได้เกี่ยวข้อง โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จ สัญญาแต่งตั้งโจทก์เป็นนายหน้าขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนและไม่เป็นธรรม เช่น ข้อตกลงที่ว่าภายใน 1 ปี นับแต่สัญญาสิ้นสุดลง หากจำเลยขายหรือแลกเปลี่ยนทรัพย์สินที่ระบุไว้กับบุคคลอื่น ยังต้องจ่ายบำเหน็จค่านายหน้าให้โจทก์ ซึ่งโจทก์เป็นฝ่ายได้เพียงฝ่ายเดียว จำเลยเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 27,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยทำสัญญาแต่งตั้งให้โจทก์เป็นนายหน้าติดต่อและจัดหาผู้ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเดี่ยวสองชั้นโดยตกลงให้ค่าบำเหน็จในอัตราร้อยละ 3 ของราคาทรัพย์สินที่ขายได้และทำการชำระให้เสร็จสิ้นภายในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ สัญญามีกำหนด 180 วัน เมื่อครบกำหนดจำเลยต่อสัญญากับโจทก์อีก 270 วัน ในระหว่างอายุสัญญาจำเลยขายทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่บุคคลภายนอกในราคา 900,000 บาท มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า สัญญามีผลใช้บังคับตามกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า สัญญาดังกล่าวขัดต่อกฎหมายเรื่องนายหน้าเป็นสัญญาที่เอารัดเอาเปรียบหรือเป็นสัญญาที่โจทก์ไม่ประสงค์ที่จะปฏิบัติตามกฎหมาย เห็นว่าตามสัญญามีข้อความโดยสรุปว่า จำเลยแต่งตั้งให้โจทก์เป็นตัวแทนในการติดต่อและจัดหาผู้ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลย และให้มีการต่อรองราคากันได้ โดยจำเลยตกลงให้โจทก์ได้รับค่าบำเหน็จในอัตราร้อยละ 3 ของราคาทรัพย์สินที่ขายได้จำเลยยินยอมให้โจทก์โฆษณาเผยแพร่ข่าวสารด้านการตลาดเพื่อจัดหาผู้ซื้อทรัพย์สิน และจำเลยตกลงให้โจทก์มีสิทธิรับเงินประกันการปฏิบัติตามสัญญาจากผู้เสนอซื้อและถือไว้แทนจำเลย เมื่อจำเลยตกลงคำเสนอซื้อแล้ว เงินดังกล่าวให้โจทก์ชำระให้จำเลยและถือเป็นเงินค่ามัดจำส่วนหนึ่ง หากต่อมาผู้เสนอซื้อไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงในคำเสนอซื้อ จำเลยมีสิทธิริบเงินประกันการปฏิบัติตามสัญญา จำเลยจะแบ่งให้โจทก์กึ่งหนึ่ง และตามสัญญาข้อ 10 ยังระบุว่าในระหว่างข้อตกลงยังมีผลใช้บังคับหากมีบุคคลอื่นติดต่อขอซื้อทรัพย์สินตามสัญญาจำเลยตกลงมอบหมายให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการให้การซื้อขายเสร็จสิ้นและตกลงชำระค่าบำเหน็จตามข้อ 2 เห็นได้ว่า ตามสัญญาดังกล่าวนอกจากจำเลยจะตกลงให้โจทก์เป็นนายหน้าจัดหาผู้ซื้อทรัพย์สินของจำเลยแล้ว ยังมีข้อตกลงแต่งตั้งให้โจทก์เป็นตัวแทนของจำเลยในการจัดการติดต่อซื้อขาย และดำเนินการเกี่ยวกับการซื้อขายทรัพย์ของจำเลยกับบุคคลภายนอกโดยให้บำเหน็จด้วย ดังนั้นแม้ตอนท้ายของสัญญาข้อ 10 ที่ระบุว่า ส่วนในกรณีจำเลยได้ขายทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่นไม่ว่าจะเป็นการขายด้วยตัวเองหรือบุคคลอื่นเป็นตัวแทนติดต่อขายให้ก็ตาม จำเลยยังมีหน้าที่จะต้องชำระค่าบำเหน็จให้แก่โจทก์ตามที่ระบุในข้อ 2 ซึ่งข้อตกลงนี้คู่สัญญาสามารถตกลงกันได้ไม่ขัดต่อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแต่อย่างใด ย่อมบังคับระหว่างคู่สัญญาได้ และข้อเท็จจริงยังได้ความว่าหลังจากทำสัญญาโจทก์ได้ดำเนินการประกาศขายทรัพย์สินของจำเลยตามสื่อต่างๆ อันเป็นหน้าที่ของตัวแทนตามข้อตกลงแล้ว เมื่อจำเลยขายทรัพย์สินให้แก่บุคคลภายนอกในระหว่างอายุสัญญายังมีผลใช้บังคับอยู่ จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายบำเหน็จให้แก่โจทก์ตามข้อตกลง หาใช่เป็นสัญญาที่เอารัดเอาเปรียบไม่เป็นธรรม หรือโจทก์ไม่ประสงค์จะปฏิบัติตามกฏหมายดังที่จำเลยฎีกาไป ดังนี้สัญญาดังกล่าวจึงมีผลบังคับได้ตามกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำเลยชำระเงิน 27,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2545 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยฎีกาขอให้ยกฟ้อง ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาจึงเป็นเงินจำนวน 27,000 บาท รวมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องอีก 693.49 บาท รวมเป็น 27,693.49 บาท จำเลยต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาเป็นเงิน 692.50 บาท แต่จำเลยเสียมาเป็นเงิน 2,380 บาท ต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาที่เกินไป 1,687.50 บาท แก่จำเลย”
พิพากษายืน ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกา 1,687.50 บาท แก่จำเลย