แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์ร่วมกับจำเลยขณะเป็นสามีภรรยากันได้ซื้อที่ดินและทาวน์เฮาส์พิพาทระหว่างผ่อนชำระหนี้จำนองทรัพย์สินดังกล่าวโจทก์ร่วมกับจำเลยจดทะเบียนหย่ากันต่อมาโจทก์ร่วมขายทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นพี่สาวของโจทก์ร่วมอ้างว่า มีการตกลงตามสัญญาหย่าว่าทรัพย์ดังกล่าวขณะยังผ่อนชำระไม่หมดเป็นของโจทก์ร่วมเมื่อผ่อนชำระหมดแล้วจึงจะยกให้จำเลย แต่ข้อตกลงหลังทะเบียนหย่าข้อ 2 มีว่า “เรื่องทรัพย์สินที่ดิน 21 ตารางวา พร้อมบ้านเลขที่ 161/899 ถนนจรัญสนิทวงค์ แขวงบางขุนศรี เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ระหว่างผ่อนส่งกับบริษัท ค. ซึ่งหากผ่อนส่งชำระเสร็จสิ้นแล้วจะยกกรรมสิทธิ์ให้ฝ่ายหญิง” ข้อตกลงดังกล่าวไม่มีข้อความตอนใดที่ระบุว่าจำเลยยกกรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาทให้โจทก์ร่วมทั้งหมดเพียงแต่หากโจทก์ร่วมผ่อนชำระหมดแล้ว โจทก์ร่วมจะยกกรรมสิทธิ์ส่วนของโจทก์ร่วมให้แก่จำเลยเท่านั้น เมื่อไม่มีข้อตกลงแบ่งแยกสินสมรสกันไว้ การแบ่งสินสมรสต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1533 บัญญัติว่า ให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน กล่าวคือ คนละกึ่งหนึ่ง ดังนั้น โจทก์ผู้รับโอนย่อมได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินพิพาทเท่าที่โจทก์ร่วมผู้โอนมีอยู่กึ่งหนึ่งเท่านั้น มิใช่ทั้งหมดดังโจทก์ฎีกา แม้โจทก์จะรับซื้อมาโดยสุจริตก็ตาม และตาม ป.พ.พ. มาตรา 1361 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ จะจำหน่ายส่วนของตนหรือจำนอง หรือก่อให้เกิดภาระติดพันก็ได้ และวรรคสองบัญญัติว่า แต่ตัวทรัพย์สินนั้นจะจำหน่ายได้ก็แต่โดยความยินยอมแห่งเจ้าของรวมทุกคน เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ร่วมนำทรัพย์พิพาทไปขายโดยมิได้รับความยินยอมจากจำเลย สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับโจทก์ร่วมจึงผูกพันแต่เฉพาะส่วนกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วม ผลตามกฎหมายจึงมีว่าโจทก์และจำเลยต่างเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์พิพาทคนละเท่าๆ กันในทุกส่วนของทรัพย์พิพาท โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยออกจากทรัพย์พิพาทและจำเลยย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการซื้อขายทรัพย์สินพิพาทระหว่างโจทก์กับโจทก์ร่วมในส่วนที่เกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ของจำเลยได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากทาวน์เฮาส์ของโจทก์ และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเดือนละ 8,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะย้ายทรัพย์สินออกจากทาวน์เฮาส์พิพาท
จำเลยให้การและฟ้องแย้งโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาขอให้ยกฟ้องและเพิกถอนการซื้อขายที่ดินและทาวน์เฮาส์พิพาทระหว่างโจทก์กับนายวุฒิไกรเฉพาะส่วนของ จำเลย ให้โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและทาวน์เฮาส์พิพาทให้แก่จำเลยกึ่งหนึ่ง มิฉะนั้นให้ใช้ราคา 1,000,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจำเลยจะได้รับชำระแล้วเสร็จ
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเรียกนายวุฒิไกร เข้ามาเป็นโจทก์ร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) ศาลชั้นต้นอนุญาต
โจทก์ร่วมขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์กับโจทก์ร่วมโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 42733 ตำบลบางขุนศรี (บางเสาธง) อำเภอบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร พร้อมทาว์น์เฮาส์พิพาทเลขที่ 161/899 เป็นของจำเลยกึ่งหนึ่ง หากโอนไม่ได้ให้ใช้ราคา 1,000,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ (ที่ถูกค่าฤชาธรรมเนียมทั้งฟ้องเดิมและฟ้องแย้งให้เป็นพับ)
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้โจทก์ใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 5,000 บาท แทนจำเลย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่าโจทก์ร่วมจดทะเบียนสมรสกับจำเลยเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2527 ตามทะเบียนการสมรสต่อมาวันที่ 5 ตุลาคม 2536 โจทก์ร่วมซื้อทาวน์เฮาส์เลขที่ 161/899 ตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 42733 ตำบลบางขุนศรี (บางเสาธง) อำเภอบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร จากบริษัทแสนชัยพล ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด โดยได้รับความยินยอมจากจำเลย และโจทก์ร่วมได้จดทะเบียนจำนองไว้แก่บริษัทเครดิตฟองซิเอร์สินเคหการ จำกัด วันที่ 24 พฤศจิกายน 2538 โจทก์ร่วมจดทะเบียนหย่ากับจำเลยปรากฏตามใบสำคัญการหย่า ทะเบียนการหย่า และได้ทำบันทึกข้อตกลงด้านหลังของทะเบียนหย่า ต่อมาวันที่ 24 มกราคม 2540 โจทก์ร่วมได้ขายที่ดินและทาวน์เฮาส์ให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นน้องสาวในราคา 2,000,000 บาท ตามหนังสือสัญญาขายที่ดินโดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลย แล้วโจทก์นำไปจดทะเบียนจำนองไว้กับธนาคารอาคารสงเคราะห์ โจทก์ยอมรับในชั้นฎีกาว่าที่ดินและทาวน์เฮาน์ซึ่งเป็นทรัพย์พิพาทเดิมเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลย แต่ฎีกาว่าตามบันทึกหลังทะเบียนการหย่า ข้อ 2 นั้น หมายความว่า ในระหว่างที่โจทก์ร่วมยังผ่อนส่งชำระหนี้จำนองนั้นให้ตกเป็นของโจทก์ร่วมทั้งหมด เพียงแต่เมื่อโจทก์ร่วมผ่อนส่งชำระหนี้จำนองเสร็จสิ้นแล้ว โจทก์ร่วมจึงจะยกกรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาททั้งหมดให้แก่จำเลยเมื่อปรากฏว่าขณะที่โจทก์ร่วมขายทรัพย์พิพาทให้แก่โจทก์นั้นยังผ่อนชำระราคาไม่หมดโจทก์ร่วมยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาททั้งหมดอยู่ โจทก์ผู้ซื้อย่อมได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาททั้งหมดเช่นเดียวกัน ศาลฎีกาเห็นว่าควรหยิบยกข้อตกลงหลังทะเบียนหย่าข้อ 2 ขึ้นวินิจฉัยเสียก่อนว่า มีความหมายอย่างไร ข้อตกลงข้อ 2 มีว่า “เรื่องทรัพย์สินที่ดิน 21 ตารางวา พร้อมบ้านเลขที่ 161/899 ถนนจรัญสนิทวงศ์ แขวงบางขุนศรี เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ระหว่างผ่อนส่งกับบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ จำกัด ซึ่งหากผ่อนส่งชำระเสร็จสิ้นแล้วจะยกกรรมสิทธิ์ให้ฝ่ายหญิง” เห็นว่า ข้อตกลงดังกล่าวไม่มีข้อความตอนใดที่ระบุว่าจำเลยยกกรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาทให้แก่โจทก์ร่วมทั้งหมด เพียงแต่ถ้าหากโจทก์ร่วมผ่อนชำระหมดแล้ว โจทก์ร่วมจะยกกรรมสิทธิ์ส่วนของโจทกร่วมให้แก่จำเลยเท่านั้น เมื่อไม่มีข้อตกลงแบ่งแยกสินสมรสกันไว้ การแบ่งสินสมรสต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1533 ที่บัญญัติว่า ให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน กล่าวคือคนละกึ่งหนึ่ง ดังนั้นโจทก์ผู้รับโอนย่อมได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาทเท่าที่โจทก์ร่วมผู้โอนมีอยู่คือกึ่งหนึ่งเท่านั้น มิใช่ทั้งหมดดังโจทก์ฎีกา แม้โจทก์จะรับซื้อมาโดยสุจริตก็ตาม และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1361 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ จะจำหน่ายส่วนของตนหรือจำนอง หรือก่อให้เกิดภาระติดพันก็ได้ และวรรคสองบัญญัติว่า แต่ตัวทรัพย์สินนั้นจะจำหน่ายได้ก็แต่โดยความยินยอมแห่งเจ้าของรวมทุกคน เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ร่วมนำทรัพย์พิพาทไปขายโดยมิได้รับความยินยอมจากจำเลย สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับโจทก์ร่วมจึงผูกพันแต่เฉพาะส่วนกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วม ผลตามกฎหมายจึงมีว่าโจทก์และจำเลยต่างเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์พิพาทคนละเท่าๆ กันในทุกส่วนของทรัพย์พิพาท โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยออกจากทรัพย์พิพาท และจำเลยย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการซื้อขายทรัพย์พิพาทระหว่างโจทก์กับโจทก์ร่วมในส่วนที่เกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ของจำเลยได้ ในกรณีที่ไม่อาจโอนส่วนกรรมสิทธิ์ของจำเลย โจทก์และโจทก์ร่วมต้องกันรับผิดชดใช้ราคาแทน
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเป็นประการสุดท้ายมีว่า จำเลยมีสิทธิเรียกให้ชำระราคา 1,000,000 บาท หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ซื้อทรัพย์พิพาทในราคา 2,000,000 บาท ส่วนของจำเลยจึงเป็นจำนวนเงิน 1,000,000 บาท การที่โจทก์ต้องไปกู้ยืมเงินและชำระราคาให้แก่โจทก์ร่วมไปแล้ว แม้จะมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่โจทก์ก็ตาม เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องไปว่ากล่าวเอาจากโจทก์ร่วมผู้ขายเอง จะให้จำเลยต้องรับผิดในผลอันเกิดจากการกระทำที่จำเลยไม่มีส่วนรู้เห็นหรือยินยอมให้นำทรัพย์พิพาทไปจำหน่ายด้วยหาได้ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาทุกข้อของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมฟ้องเดิมและฟ้องแย้งในชั้นฎีกาให้เป็นพับ