คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1482/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลพิพากษาตามยอมถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษา จึงอยู่ในบังคับที่จะแก้ไขข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงในสัญญาดังกล่าวได้ต่อเมื่อเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยอื่นๆ ทั้งนี้จะต้องไม่เป็นการกลับหรือแก้คำวินิจฉัยในคำพิพากษาหรือคำสั่งเดิมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143
คำฟ้องของโจทก์บรรยายเกี่ยวกับเลขที่อาคารที่โจทก์ซื้อจากการขายทอดตลาดคลาดเคลื่อน เป็นเพียงข้อผิดพลาดเล็กน้อย แม้โจทก์จะมิได้ขอแก้ไขคำฟ้อง และโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันระบุเลขที่อาคารคลาดเคลื่อนไปด้วย ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะพิพากษาให้คดีเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวได้ เมื่อมีข้อผิดพลาดเล็กน้อยในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว โจทก์มีสิทธิขอแก้ไขข้อผิดพลาดได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตา 143 และมิใช่เป็นเรื่องการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงสัญญาประนีประนอมยอมความให้นอกเหนือไปจากที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตกลงกัน ทั้งมิใช่เป็นการกลับหรือแก้คำพิพากษาตามยอมเดิม ซึ่งต้องห้ามตามมาตรา 143 วรรคสอง

ย่อยาว

สืบเนื่องจากโทก์ฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสามให้ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากอาคารพาณิชย์เลขที่ 99 หมู่ 7 ตำบลแม่สาย จังหวัดเชียงราย อาคารดังกล่าวเดิมเป็นของมารดาจำเลยทั้งสาม และจำเลยทั้งสามพักอาศัยอยู่ ต่อมาโจทก์เป็นเจ้าของอาคารโดยซื้อจากการขายทอดตลาด และให้จำเลยทั้งสามชำระค่าขาดประโยชน์อัตราเดือนละ 4,000 บาท แก่โจทก์นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะออกไปจากอาคารของโจทก์ จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้คดี ระหว่างพิจารณาโจทก์ขอถอนฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นอนุญาต และคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้นโดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตกลงชำระเงินแก่โจทก์เป็นงวด ซึ่งตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 5 มีข้อความว่า กรณีที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ผิดนัดเกินกว่า 3 งวดต่อกัน ยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันที โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องออกไปจากบ้านเลขที่ 99/4 หมู่ที่ 4 ตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ทันที หากจำเลยทั้งสองไม่ออกไปจะต้องเสียค่าเช่าให้แก่โจทก์ในอัตราเดือนละไม่น้อยกว่า 4,000 บาท นับแต่วันที่ผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะออกไปจากบ้านพิพาทของโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามยอม โจทก์ขอให้บังคับคดีขับไล่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีตามคำขอของโจทก์ ครั้นวันที่ 5 กันยายน 2544 โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 5 ดังกล่าว เฉพาะข้อความที่ว่า “บ้านเลขที่ 99/4 หมู่ที่ 4 ตำบลเวียงพางคำ” เป็น “บ้านเลขที่ 99/4 หมู่ที่ 7 ตำบลแม่สาย” นอกจากที่ขอแก้เป็นไปตามเดิม โดยอ้างว่าเป็นการแก้ไขให้ถูกต้องกับความเป็นจริง มิได้แก้ไขให้เป็นบ้านหลังอื่นนอกเหนือจากบ้านที่โจทก์จำเลยที่ 1 และที่ 2 พิพาทกันและจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประสงค์จะซื้อคืน ศาลชั้นต้นอนุญาต ต่อมาวันที่ 8 ตุลาคม 2544 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้เพิกถอนคำสั่งที่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวอ้างว่า ผิดระเบียบและให้ยกเลิกหมายบังคับคดีศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกอุทธณณ์ของจำเลยที่ 2 และยกคำสั่งตามคำร้องของโจทก์ฉบับลงวันที่ 5 กันยายน 2544 ของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นส่งสำเนาคำร้องขอแก้ไขข้อความในสัญญาประนีประนอมยอมความให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก่อน แล้วสอบถามจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่าจะคัดค้านคำร้องหรือไม่ จากนั้นจึงมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดีและให้งดการบังคับคดีไว้ก่อนจนกว่าศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องขอแก้ไขข้อความในสัญญาประนีประนอมยอมความใหม่ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำสั่งใหม่
ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำร้องและคำคัดค้านว่า ข้อความที่โจทก์ขอแก้ไขสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นสาระสำคัญ ทำให้เกิดข้อพิพาทขึ้นใหม่ เพราะโจทก์ฟ้องกับมีคำขอท้ายฟ้องขอให้บังคับขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากบ้านเลขที่ 99 หมู่ที่ 7 ตำบลแม่สาย โดยอ้างว่าเป็นของโจทก์ ซึ่งเป็นคนละหลังกับบ้านเลขที่ 99/4 หมู่ที่ 7 ตำบลแม่สาย ซึ่งเป็นของจำเลยที่ 1 ทั้งก่อนทำสัญญาประนีประนอมยอมความจำเลยทั้งสองตกลงว่าจะออกไปจากบ้านเลขที่ 99 ตามฟ้อง ซึ่งเป็นของนางมาลัยมารดาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่โจทก์ซื้อได้มาจากการขายทอดตลาด มิใช่บ้านเลขที่ 99/4 ขอให้ยกคำร้องฉบับลงวันที่ 5 กันยายน 2544 ของโจทก์และขออนุญาตแก้ไขสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 5 จากข้อความที่ว่า “บ้านเลขที่ 99/4 หมู่ที่ 4 ตำบลเวียงพางคำ” เป็น “บ้านเลขที่ 99 หมู่ที่ 7 ตำบลแม่สาย” เพื่อให้ตรงตามคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์
ศาลชั้นต้นนัดสอบถาม ครั้นถึงวันนัดจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยทั้งสองยื่นคำคัดค้านคำร้องของโจทก์แล้ว จึงยกคำร้องของจำเลยทั้งสองที่ขอเลื่อนคดี โจทก์แถลงว่าบ้านเลขที่ 99 หมู่ที่ 7 ตำบลแม่สาย เป็นบ้านอีกหลังหนึ่งไม่ใช่บ้านที่โจทก์ซื้อจากการขายทอดตลาด ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ไขข้อความในสัญญาประนีประนอมยอมความตามคำร้องฉบับลงวันที่ 5 กันยายน 2544 และไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 แก้ไขสัญญาประนีประนอมยอมความ ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพัน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีว่า โจทก์มีสิทธิขอแก้ไขข้อความในสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมได้หรือไม่ เห็นว่า สัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลพิพากษาตามยอมนั้นถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษา จึงอยู่ในบังคับที่จะแก้ไขข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงในสัญญาดังกล่าวได้ต่อเมื่อเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยอื่นๆ ทั้งนี้ จะต้องไม่เป็นการกลับหรือแก้คำวินิจฉัยในคำพิพากษาหรือคำสั่งเดิมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 คดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ออกจากอาคารพาณิชย์เลขที่ 99 หมู่ที่ 7 อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ที่โจทก์ซื้อมาจากการขายทอดตลาดของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 กับที่ 2 ให้การต่อสู้ทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเจ้าของอาคารพาณิชย์เลขที่ 99/4 หมู่ที่ 7 อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย จำเลยที่ 1 และที่ 2 เพิ่งทราบเมื่อโจทก์นำชี้ให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดอาคารพาณิชย์ดังกล่าวของจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยอ้างว่า โจทก์ซื้อมาจากการขายทอดตลาดของศาลชั้นต้น แม้คดีมีประเด็นข้อพิพาทว่าอาคารพาณิชย์เลขที่ 99/4 ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้างว่าเป็นของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นอาคารที่โจทก์ซื้อมาจากการขายทอดตลาดหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าระหว่างพิจารณาโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตกลงกันได้ในประเด็นแห่งคดีโดยขอให้ศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่คู่ความเสนอต่อศาล อันมีผลเป็นการสละประเด็นข้อพิพาท และศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้คดีเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 วรรคหนึ่ง จนคดีถึงที่สุดคำพิพากษาตามยอมย่อมผูกพันโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นคู่ความในกระบวนพิจาณาของศาลที่พิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง เมื่อข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวกำหนดให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระเงินแก่โจทก์เป็นงวด และข้อ 5 ระบุว่า กรณีที่จำเลยทั้งสองผิดนัดเกินกว่า 3 งวดต่อกัน ยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันที โดยจำเลยทั้งสองจะต้องออกไปจากบ้านเลขที่ 99/4 หมู่ที่ 4 ตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ทันที แม้บ้านเลขที่ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องออกไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวไม่ตรงกับอาคารเลขที่ 99 ตามที่โจทก์ฟ้องและมีคำขอบังคับ แต่การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตกลงจะออกไปจากบ้านเลขที่ 99/4 หากผิดนัดไม่ชำระเงินตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ทั้งมิได้คัดค้านคำร้องของโจทก์ที่ขอแก้ไขสัญญาประนีประนอมยอมความในส่วนที่เกี่ยวกับที่ตั้งของอาคารพิพาทจาก “หมู่ที่ 4 ตำบลเวียงพางคำ” เป็น “หมู่ที่ 7 ตำบลแม่สาย” แสดงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้าใจคำฟ้องของโจทก์โดยชัดแจ้งแล้วว่าบ้านที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องออกไปดังกล่าวนั้น คือ อาคารพาณิชย์ที่โจทก์ซื้อมาจากการขายทอดตลาดของศาลชั้นต้นที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 พิพาทกันนั่นเอง เฉพาะอย่างยิ่งตามประกาศของเจ้าพนักงานบังคับคดีสำนักงานบังคับคดีจังหวัดเชียงราย เรื่องขายทอดตลาดสิ่งปลูกสร้างของจำเลย เอกสารหมาย ล.1 ระบุสิ่งปลูกสร้างที่จะขาย คือ อาคารพาณิชย์ตึกสามชั้นติดเลขที่ 99 หมู่ที่ 4 ตำบลแม่สาย มิใช่อาคารเลขที่ 99 ดังที่โจทก์กล่าวในคำฟ้อง ข้อเท็จจริงจึงเชื่อว่าคำฟ้องของโจทก์ที่บรรยายเกี่ยวกับเลขที่อาคารพาณิชย์ที่โจทก์ซื้อจากการขายทอดตลาดน่าจะคลาดเคลื่อน เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้าใจคำฟ้องของโจทก์แล้ว ข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงในคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าว จึงเป็นเพียงข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยเท่านั้น แม้โจทก์จะมิได้ขอแก้ไขคำฟ้องและหากความปรากฏแก่ศาล ศาลก็มีอำนาจที่จะมีคำสั่งเพิ่มเติมแก้ไขข้อผิดพลาดหรือผิดหลงเช่นว่านั้นให้เป็นไปโดยถูกต้องได้ แต่เมื่อโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันและระบุเลขที่บ้านพิพาทที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องออกไปตรงตามข้อเท็จจริงและเป็นบ้านหลังเดียวกับอาคารที่พิพาทกันในคดีแล้ว ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะพิพากษาให้คดีเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวได้ ทั้งเมื่อมีข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยในสัญญาประนีประนอมยอมความเพียงที่เกี่ยวกับที่ตั้งของอาคารหรือบ้านพิพาทโจทก์ย่อมมีสิทธิขอแก้ไขข้อผิดพลาดหรือผิดหลงดังกล่าวได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 และมิใช่เป็นเรื่องการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงสัญญาประนีประนอมยอมความให้นอกเหนือไปจากที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตกลงกันดังที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้างในฎีกา ทั้งมิใช่เป็นการกลับหรือแก้คำพิพากษาตามยอมเดิม ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขข้อความในสัญญาประนีประนอมยอมความและไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 แก้ไขข้อความในสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share