แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 มีเมทแอมเฟตามีนของกลางจำนวน 2,000 เม็ด น้ำหนัก 179.39 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 51.148 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย อันต้องด้วยบทกำหนดโทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 66 วรรคสาม แต่ปรากฏว่าหลังจากที่เจ้าพนักงานตำรวจสามารถล่อซื้อจับกุมจำเลยที่ 2 พร้อมด้วยเมทแอมเฟตามีนของกลางแล้ว จำเลยที่ 2 ให้การว่ารับเมทแอมแฟตามีนของกลางมาจาก ว. หรือ ม. และร่วมมือกับเจ้าพนักงานตำรวจจนสามารถขยายผลจับกุม ว. พร้อมด้วยเมทแอมเฟตามีนของกลางอีกจำนวน 70 เม็ด นับว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้กระทำความผิดที่ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หรือพนักงานสอบสวนเห็นสมควรลงโทษจำเลยที่ 2 น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 100/2
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 92 ริบของกลาง และคืนธนบัตรจำนวน 75,000 บาท ที่ใช้ล่อซื้อแก่เจ้าของ
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) (ที่ถูกมาตรา 15 วรรคหนึ่ง และ วรรคสาม (2)), 66 วรรคสาม, 102 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 (ที่ถูก ไม่ต้องระบุประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 แต่ต้องระบุว่าการกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ซึ่งแต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90) ลงโทษประหารชีวิต จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้เปลี่ยนโทษประหารชีวิตเป็นโทษจำคุก 30 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 52 (2) จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้ยกฟ้อง ให้คืนธนบัตร จำนวน 75,000 บาท ที่ใช้ล่อซื้อแก่เจ้าของ ริบของกลาง คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่าให้ลงโทษจำเลยที่ 2 จำคุกตลอดชีวิตและปรับ 3,000,000 บาท จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 25 ปี และปรับ 1,500,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 แต่ให้กักขังแทนค่าปรับไม่เกิน 2 ปี ไม่ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ หมายเลข 09 – 2663810 ของกลาง โดยให้คืนแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาขอให้ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดโทษสถานเบานั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 มีเมทแอมเฟตามีนของกลางจำนวน 2,000 เม็ด น้ำหนัก 179.39 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 51.148 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำหน่ายให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อในราคา 100,000 บาท โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย อันต้องด้วยบทกำหนดโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสาม ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่ 1,000,000 บาท ถึง 5,000,000 บาท หรือประหารชีวิต แต่พยานหลักฐานตามทางนำสืบของโจทก์ปรากฏว่า หลังจากที่เจ้าพนักงานตำรวจสามารถล่อซื้อจับกุมจำเลยที่ 2 พร้อมด้วยเมทแอมเฟตามีนของกลางแล้ว จำเลยที่ 2 ให้การว่ารับเมทแอมเฟตามีนของกลางมาจากนายวิรัชหรือหมูและร่วมมือกับเจ้าพนักงานตำรวจจนสามารถขยายผลจับกุมนายวิรัชพร้อมด้วยเมทแอมเฟตามีนของกลางอีกจำนวน 70 เม็ด นับว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้กระทำความผิดที่ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ หรือพนักงานสอบสวน เห็นสมควรลงโทษจำเลยที่ 2 น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้วางโทษจำเลยที่ 2 จำคุก 25 ปี และปรับ 500,000 บาท ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กึ่งหนึ่ง คงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 12 ปี 6 เดือน และปรับ 250,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5