แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับอันตรายสาหัสคือแท้งลูกแม้โจทก์จะอ้างบทผิด คืออ้างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 ศาลก็ลงโทษตาม มาตรา297 ซึ่งเป็นบทมาตราที่ถูกต้องได้ทั้งนี้ อาศัย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยสมคบกันทำร้ายร่างกายโจทก์จนโจทก์แท้งลูกขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279, 303
จำเลยทั้งสามปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดเพียงฐานทำร้ายให้เกิดอันตรายแก่กายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 เท่านั้น ปรับ 100 บาทให้ปล่อยจำเลยที่ 2 – 3 ไป เพราะไม่ได้ร่วมทำผิดด้วย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังว่า จำเลยที่ 1 ทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับอันตรายสาหัสโดยแท้งลูก แม้โจทก์จะได้ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 ผิดมาตราก็ตาม ก็ลงโทษตามมาตรา 297 ที่ถูกต้องได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรค 4 จึงพิพากษาแก้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (5) ให้จำคุกจำเลยที่ 1ไว้ 6 เดือน โดยไม่ลงโทษปรับ นอกนั้นคงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลฎีกา จึงสั่งอนุญาตให้ฎีกาในข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงอย่างศาลอุทธรณ์ และเห็นว่า แม้โจทก์อ้างบทผิดเป็นมาตรา 279 ศาลก็ลงโทษตามบทมาตราที่ถูกต้องได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 ดังคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ แต่ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยเป็นหญิง ไม่ปรากฎว่าจำเลยได้รับโทษมาก่อน ประกอบกับสภาพแห่งความผิดแล้ว สมควรให้รอการลงโทษจำเลยที่ 1 ไว้ จึงพิพากษาแก้ว่า โทษจำคุก 6 เดือนนั้น ให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56