คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 770/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จะเป็นความผิดฐานเบิกความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา177ผู้กระทำจะต้องกระทำโดยเจตนาคือรู้อยู่แล้วว่าข้อความที่ตนนำมาเบิกความนั้นเป็นความเท็จจำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ตั้งเป็นผู้จัดการมรดกและเบิกความตามคำร้องนั้นโดยเชื่อตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ที่ดินและความเห็นของทนายความโดยไม่มีเจตนาที่จะเบิกความเท็จการกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานเบิกความเท็จ กองมรดกยังมีหนี้สินตามคำพิพากษาและเจ้าหนี้กองมรดกยังไม่ได้รับชำระหนี้ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1736ต้องถือว่าทรัพย์มรดกยังคงอยู่ในระหว่างจัดการซึ่งมีสาระสำคัญว่าตราบใดที่เจ้าหนี้กองมรดกยังไม่ได้รับชำระหนี้จะมีการแบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาทมิได้ที่จำเลยยังไม่ได้แบ่งปันทรัพย์มรดกแก่โจทก์จะฟังว่าเป็นการยักยอกทรัพย์ของโจทก์ไม่ได้การที่จำเลยแบ่งขายที่ดินมรดกก็เป็นการปฏิบัติตามสัญญาที่เจ้ามรดกทำไว้ก่อนตายกับผู้ซื้อถือไม่ได้ว่าเป็นการยักยอกทรัพย์มรดกของโจทก์เช่นกัน

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91, 177, 180, 352, 354
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลเฉพาะข้อหาเบิกความเท็จและข้อหาผู้จัดการมรดกยักยอกทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177, 352, 354 ให้ประทับฟ้อง ส่วนข้อหาอื่นให้ยก
จำเลย ให้การ ปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177, 352 ประกอบกับมาตรา 354การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงลงโทษตามมาตรา 91 ฐานเบิกความเท็จ จำคุก 6 เดือน ฐานเป็นผู้จัดการมรดกยักยอกทรัพย์ จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 1 ปี 6 เดือน
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวน
โจทก์ทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2และจำเลยไม่สามารถรับโอนมรดกที่ดินของนายเฮือนได้ เพราะพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองของนายเฮือนฉบับที่นำไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินไม่มีรอยตราของเจ้าพนักงานประทับเป็นปัญหาขัดข้องที่เจ้าพนักงานที่ดินไม่อาจดำเนินการให้ได้จำเลยจึงเชื่อตามคำแนะนำของเจ้าพนักงานที่ดินที่ให้จำเลยไปยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดก จำเลยจึงได้ไปติดต่อนายอุทัย ชูไกรทองทนายความให้ดำเนินการต่อไป นอกจากนี้ยังได้ความจากนายอุทัยพยานจำเลยว่า เมื่อได้ทราบเรื่องราวเกี่ยวกับพินัยกรรมของนายเฮือนและผู้รับพินัยกรรมไม่สามารถโอนทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมที่สำนักงานที่ดินได้เพราะมีปัญหาขัดข้องแล้ว พยานมีความเห็นว่าพินัยกรรมไม่สมบูรณ์ เท่ากับนายเฮือนไม่ได้ทำพินัยกรรม จึงได้ทำคำร้องขอต่อศาลขอให้ตั้งจำเลยซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของนายเฮือนเป็นผู้จัดการมรดกโดยอ้างในคำร้องว่า นายเฮือนถึงแก่กรรมโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมและตั้งผู้จัดการมรดกไว้ และจำเลยก็ได้เบิกความไปตามคำร้อง การที่จะเป็นความผิดฐานเบิกความเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 ผู้กระทำจะต้องกระทำโดยเจตนา คือรู้อยู่แล้วว่าข้อความที่ตนนำมาเบิกความนั้นเป็นความเท็จ แต่ข้อเท็จจริงตามที่จำเลยนำสืบมีน้ำหนักและเหตุผลที่จะรับฟังได้ว่า จำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ตั้งเป็นผู้จัดการมรดกและเบิกความตามคำร้องนั้น โดยเชื่อตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ที่ดินและความเห็นของทนายความโดยไม่มีเจตนาที่จะเบิกความเท็จ การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานเบิกความเท็จ
ส่วนข้อหาว่าจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกยักยอกทรัพย์นั้นข้อเท็จจริงฟังได้ว่าหลังจากศาลได้ตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายเฮือนแล้วจำเลยไม่จัดการแบ่งทรัพย์มรดกของนายเฮือนให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ผู้รับพินัยกรรม แต่ได้จดทะเบียนโอนที่ดินมรดกตาม น.ส.3 เลขที่ 3593 เนื้อที่ 6 ไร่ ซึ่งตกเป็นของโจทก์ที่ 1 ตามพินัยกรรมใส่ชื่อจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกและได้จดทะเบียนแบ่งขายที่ดินแปลงดังกล่าวแก่ผู้มีชื่อ 4 รายส่วนที่ดินมรดกที่ตกเป็นของโจทก์ที่ 2 อีกหลายแปลง จำเลยก็ยังไม่จดทะเบียนโอนให้โจทก์ที่ 2 แต่ได้จดทะเบียนโอนที่ดินบางแปลงใส่ชื่อจำเลยไว้ในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกพยานหลักฐานจำเลยได้ความว่า หลังจากนายเฮือนตายแล้ว ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาคดีถึงที่สุดให้นายเอือนโดยจำเลยกับผู้มีชื่อ 2 คน ซึ่งเข้าเป็นคู่ความแทนชำระหนี้แก่บริษัทยนตรภัณฑ์ จำกัด โจทก์เป็นเงินประมาณ 2 แสนบาท กับให้จำเลยคืนทรัพย์แก่โจทก์ ถ้าคืนไม่ได้ให้ใช้เงินแทนประมาณ 2 หมื่นบาท แสดงว่า กองมรดกของนายเฮือนยังมีหนี้สินตามคำพิพากษา และเจ้าหนี้กองมรดกยังไม่ได้รับชำระหนี้ ดังปรากฏข้อความในรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่26 ตุลาคม 2535 วันที่ 30 ธันวาคม 2535 และวันที่ 9 กุมภาพันธ์2536 ดังนั้น ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1736ต้องถือว่า ทรัพย์มรดกยังคงอยู่ในระหว่างจัดการ ซึ่งมีสาระสำคัญว่าตราบใดที่เจ้าหนี้กองมรดกยังไม่ได้รับชำระหนี้จะมีการแบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาทมิได้ ดังนั้นที่จำเลยยังไม่ได้แบ่งปันทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จะฟังว่า เป็นการยักยอกทรัพย์ของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ ส่วนการที่จำเลยแบ่งขายที่ดินมรดกตาม น.ส.3 เลขที่ 3593 ซึ่งตกเป็นของโจทก์ที่ 1ตามพินัยกรรมแก่ผู้มีชื่อ 4 รายนั้น จำเลยมีเอกสารหมาย ล.4ถึง ล.6 (2 แผ่น) ซึ่งเป็นลายมือเขียนลงชื่อนายเฮือนมาแสดงว่านายเฮือนมีสัญญาผูกพันที่จะต้องแบ่งขายที่ดินตาม น.ส. 3ดังกล่าวบางส่วนแก่บุคคลทั้งสาม กับอีก 1 ราย ซึ่งนายเฮือนได้มอบที่ดินให้ครอบครองแล้วแต่ไม่มีหลักฐาน โดยจำเลยอ้างว่าโจทก์ที่ 1 ก็ทราบดีอยู่แล้ว โจทก์ที่ 1 มิได้เบิกความปฏิเสธในเรื่องนี้ เห็นว่า ที่โจทก์ที่ 1 ไม่ไปรับโอนที่ดินมรดกตามน.ส.3 เลขที่ 3593 พร้อมกับโจทก์ที่ 2 และจำเลยที่สำนักงานที่ดินในวันเปิดพินัยกรรม ณ ที่ว่าการอำเภอนั้น น่าจะเป็นเพราะโจทก์ที่ 1 ทราบดีถึงพันธะผูกพันของนายเฮือนดังที่จำเลยนำสืบไม่ใช่เรื่องไม่มีเงินตามที่โจทก์ที่ 1 อ้าง การที่จำเลยแบ่งขายที่ดินมรดกของนายเฮือนตาม น.ส.3 แก่ผู้มีชื่อ 4 ราย จึงฟังได้ว่าเป็นการปฏิบัติตามสัญญาของนายเฮือนที่ทำไว้ก่อนตายถือไม่ได้ว่าเป็นการยักยอกทรัพย์มรดกของโจทก์ที่ 1 จำเลยจึงไม่มีความผิดในข้อหานี้
พิพากษายืน

Share