แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๑/๒๕๔๕
วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๔๕
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. ๒๕๒๘
ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลแรงงานกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการฯ
ศาลปกครองกลางได้ส่งเรื่องมาให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา ๑๐(๓) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งเป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจของศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและรับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
คนหางานจำนวน ๑๓ คนได้ร้องเรียนต่ออธิบดีกรมการจัดหางานว่า บริษัทจัดหางาน ซาโก้ เอ็กซ์เพรส จำกัด ไม่สามารถจัดหางานให้ตามที่สัญญาอันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. ๒๕๒๘ อธิบดีกรมการจัดหางานในฐานะนายทะเบียนจัดหางานกลางจึงได้มีคำสั่งให้บริษัทคืนค่าบริการและค่าใช้จ่ายแก่คนหางานดังกล่าว แต่บริษัทไม่คืนเนื่องจากเห็นว่าคำสั่ง ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย และอุทธรณ์ต่อปลัดกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ซึ่งปลัดกระทรวงฯ วินิจฉัยยกอุทธรณ์ นายทะเบียนจัดหางานกลางจึงมีคำสั่งให้หักหลักประกันเป็นจำนวนเงิน ๕๖๗,๐๐๐ บาท และมีคำสั่งให้วางหลักประกันเพิ่ม ระหว่างนั้นบริษัทได้ยื่นคำขอต่อใบอนุญาตจัดหางาน แต่อธิบดีกรมการจัดหางานไม่พิจารณาต่ออายุใบอนุญาตให้ และต่อมาได้มีคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตของบริษัท เป็นเวลา ๑๒๐ วัน ซึ่งบริษัทเห็นว่าเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย เพราะเป็นการสั่งพักใช้ใบอนุญาตในขณะที่ใบอนุญาตสิ้นอายุไปแล้ว บริษัทได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ซึ่งได้มีคำสั่งยกอุทธรณ์ของบริษัท นอกจากนี้บริษัทยังเห็นว่า กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๖ (พ.ศ. ๒๕๔๒) ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. ๒๕๒๘ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเป็นการกำหนดให้มีผลย้อนหลังก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท บริษัทจึงฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลางเพื่อโต้แย้งคำสั่งของอธิบดีกรมการจัดหางานในฐานะนายทะเบียนจัดหางานกลางและปลัดกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมและขอให้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งหรือคำพิพากษาดังต่อไปนี้
๑. เพิกถอนคำสั่งที่ รส ๐๓๑๑/๒๐๘๑ ลงวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๔๓ เรื่อง หักหลักประกันบริษัทจัดหางาน ซาโก้ เอ็กซ์เพรส จำกัด ของอธิบดีกรมการจัดหางานในฐานะนายทะเบียนจัดหางานกลาง
๒. เพิกถอนคำวินิจฉัยที่ ๑๕/๒๕๔๓ ลงวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ เรื่อง วินิจฉัย
ยกคำอุทธรณ์ของบริษัทจัดหางาน ซาโก้ เอ็กซ์เพรส จำกัด ของปลัดกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม
๓. สั่งให้อธิบดีกรมการจัดหางานในฐานะนายทะเบียนจัดหางานกลางคืนเงินประกันจำนวน ๕๖๗,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่บริษัท
๔. เพิกถอนคำสั่งที่ รส ๐๓๑๑/๒๘๐๖๗ ลงวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๔๓ เรื่อง ให้วางหลักประกันเพิ่ม ของอธิบดีกรมการจัดหางานในฐานะนายทะเบียนจัดหางานกลาง
๕. เพิกถอนคำสั่งที่ ๒๗/๒๕๔๓ ลงวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๔๔ เรื่อง พักใช้ใบอนุญาตจัดหางานให้คนงานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ ของอธิบดีกรมการจัดหางานในฐานะนายทะเบียนจัดหางานกลาง
๖. ให้อธิบดีกรมการจัดหางานในฐานะนายทะเบียนจัดหางานกลางพิจารณาต่ออายุใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศให้แก่บริษัท
๗. ให้ปลัดกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมและอธิบดีกรมการจัดหางานร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท แก่บริษัท
๘. เพิกถอนกฎกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ฉบับที่ ๑๖ (พ.ศ. ๒๕๔๒) ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. ๒๕๒๘
ปลัดกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมยื่นคำให้การโต้แย้งว่า พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. ๒๕๒๘ เป็นกฎหมายที่กำหนดมาตรการควบคุมการหางานที่รัฐตราขึ้นเพื่อให้ความคุ้มครองคนหางาน จึงเป็นกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน คดีนี้เกี่ยวด้วยสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานตามมาตรา ๘(๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ คดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง แต่อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน
ศาลปกครองกลางและศาลแรงงานกลางมีความเห็นตรงกันว่า คำขอในข้อ ๕ ถึง ๘ มีลักษณะเป็นคดีปกครองอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง คงมีความเห็นแตกต่างกันตามคำขอในข้อ ๑ ถึง ๔ โดยศาลปกครองกลางเห็นว่า คดีนี้มีลักษณะเป็นคดีปกครอง จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองกลาง แต่ศาลแรงงานกลางเห็นว่า คำขอในส่วนนี้เกี่ยวข้องกับการหักหลักประกันตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๔๖ ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดมาตรการควบคุมการหางานและคุ้มครองคนหางาน จึงเป็นกรณีที่เกี่ยวด้วยสิทธิหรือ หน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ (๒) อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานกลาง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คือ การโต้แย้งคำสั่งของนายทะเบียนจัดหางานกลางและปลัดกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. ๒๕๒๘ อยู่ในเขตอำนาจของศาลแรงงานหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการฯ พิจารณาแล้ว เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคสอง บัญญัติว่า “เรื่องดังต่อไปนี้ไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครอง
…
(๓) คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลแรงงาน ศาลภาษีอากร ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ศาลล้มละลาย หรือศาลชำนัญพิเศษอื่น”
ซึ่งหมายความว่าคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลชำนัญพิเศษ ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ที่จะพิจารณาพิพากษา ดังนั้น กรณีนี้จึงต้องพิจารณาอำนาจของศาลแรงงานว่ามีเพียงใด ซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ บัญญัติว่า “ศาลแรงงานมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้
…
(๓) กรณีที่จะต้องใช้สิทธิทางศาลตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานหรือกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์
(๔) คดีอุทธรณ์คำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานหรือของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์หรือรัฐมนตรีตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์
…”
คดีนี้เป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับการบังคับใช้พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. ๒๕๒๘ จึงต้องพิจารณาว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานหรือกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ อันจะทำให้คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘(๓) และ (๔) หรือไม่
กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน เป็นกฎหมายที่กำหนดสิทธิและหน้าที่ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง โดยกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการจ้าง การใช้แรงงาน และการจัดสถานที่และอุปกรณ์ในการทำงาน เพื่อให้ผู้ทำงานมีสุขภาพอนามัยที่ดี มีความปลอดภัยในอนามัย ร่างกายและชีวิต โดยได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมตามสมควร เพื่อประสิทธิภาพในการผลิตและการให้บริการ ดังปรากฏในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ส่วนกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ เป็นกฎหมายที่กำหนดแนวทางปฏิบัติต่อกันระหว่างบุคคลสองฝ่าย คือ นายจ้างและลูกจ้าง เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายมีความเข้าใจอันดีต่อกัน สามารถทำข้อตกลงในเรื่องเกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่ และผลประโยชน์ในการทำงานร่วมกันได้ รวมทั้งกำหนดวิธีการระงับข้อขัดแย้งหรือระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างกันให้ได้ข้อยุติที่รวดเร็วด้วยความพอใจของทั้งสองฝ่ายมากที่สุด เพื่อให้เกิดความสงบสุขในอุตสาหกรรมและความเจริญทางด้านเศรษฐกิจแก่นายจ้าง ลูกจ้าง และประเทศชาติในที่สุด พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ จึงได้กำหนดวิธีพิจารณา เมื่อมีข้อพิพาทระหว่างนายจ้างและลูกจ้างให้มีลักษณะเป็นไตรภาคี องค์คณะผู้พิพากษาประกอบด้วยผู้พิพากษา ผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้าง และผู้พิพากษาสมทบฝ่ายลูกจ้างฝ่ายละเท่า ๆ กันเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดี โดยเน้นการเจรจาต่อรองเพื่อให้เกิดความเข้าใจอันดีระหว่างกัน
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. ๒๕๒๘ เป็นกฎหมายที่รัฐ มุ่งประสงค์ในการควบคุมดูแลผู้จัดหางานมิให้เอาเปรียบหรือหลอกลวงผู้หางาน ความสัมพันธ์ระหว่างผู้จัดหางานและผู้หางานไม่ใช่ความสัมพันธ์ในลักษณะของนายจ้างและลูกจ้าง กฎหมายฉบับนี้จึงแตกต่างจากพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ และพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ และไม่อาจถือได้ว่าพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. ๒๕๒๘ เป็นกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานหรือกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ อันจะทำให้คดีอยู่ในอำนาจของศาลแรงงานตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘(๓) และ (๔)
คดีนี้ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ปลัดกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมและอธิบดีกรมการจัดหางาน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ออกคำสั่งโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย และขอให้เพิกถอนกฎระทรวง อันมีลักษณะเป็นคดีปกครองตามมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีที่โต้แย้งคำสั่งของนายทะเบียนจัดหางานกลางและปลัดกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. ๒๕๒๘ ระหว่างบริษัทจัดหางานซาโก้ เอ็กซ์เพรส จำกัด ผู้ฟ้องคดี ปลัดกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมและอธิบดีกรมการจัดหางาน (นายทะเบียนจัดหางานกลาง) ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลปกครองกลาง
นายสันติ ทักราล หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
นายอักขราทร จุฬารัตน นายโภคิน พลกุล
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
พลโท สมัยรบ สุทธิวาทนฤพุฒิ พลโท อาชวัน อินทรเกสร
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
นายพรชัย รัศมีแพทย์
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ