คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8830/2550

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ในชั้นพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ โจทก์จะมิได้นำเอกสารไปพิสูจน์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ก็ไม่มีกฎหมายห้ามมิให้นำเอกสารนั้นมาพิสูจน์ในชั้นศาลในประเด็นเดียวกับที่โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไว้แล้ว ทั้งข้อกำหนดคดีภาษีอากร พ.ศ.2544 ซึ่งออกตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 20 ข้อ 15 และข้อ 16 ก็กำหนดให้คู่ความอ้างและส่งเอกสารเป็นพยานสนับสนุนข้ออ้างหรือข้อเถียงของตนได้ โดยมิได้บังคับว่าเอกสารนั้นต้องเป็นเอกสารที่ส่งในชั้นพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ฉะนั้น แม้เอกสารที่โจทก์นำมาพิสูจน์ในชั้นศาลจะมิใช่เอกสารที่ได้นำไปพิสูจน์ในชั้นพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เอกสารนั้นก็รับฟังในชั้นศาลได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือแจ้งการเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิ ที่ กค.0822/ (สส.5)/12138 ลงวันที่ 9 มิถุนายน 2542 หนังสือแจ้งภาษีการค้า เลขที่ 4120061/4/000007 และเลขที่ 4120061/4/000008 ลงวันที่ 9 มิถุนายน 2542 หนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่ 4120061/2/100049 ลงวันที่ 9 มิถุนายน 2542 และหนังสือแจ้งให้เสียค่าอากรและค่าเพิ่มอากร ที่ 4120061/7/000002 ลงวันที่ 9 มิถุนายน 2542 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ เลขที่ สภ.1 (อธ.3)/148/2545 ถึงเลขที่ สภ.1 (อธ.3)/152/2545 ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2545 และลดหรืองดเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้แก้ไขหนังสือแจ้งการเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิ ที่ กค.0822/(สส.5)/12138 ลงวันที่ 9 มิถุนายน 2542 หนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่ 4120061/2/100049 ลงวันที่ 9 มิถุนายน 2542 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ เลขที่ สภ.1 (อธ.3)/148/2545 และเลขที่ สภ.1 (อธ.3)/149/2545 ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2545 ให้เจ้าพนักงานประเมินคำนวณผลขาดทุนสุทธิของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2533 ใหม่ โดยอนุญาตให้โจทก์หักค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินจำพวกเครื่องตกแต่ง เครื่องใช้สำนักงานและอุปกรณ์จำนวน 23,293.94 บาท กำหนดดอกเบี้ยจ่ายต้องห้ามสำหรับอาคารที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นเงิน 37,593.74 บาท ให้นำดอกเบี้ยจ่ายต้องห้าม 37,593.74 บาท ไปรวมเป็นต้นทุนของอาคารที่จังหวัดเชียงใหม่ และดอกเบี้ยจ่ายต้องห้าม 880,657.25 บาท ไปรวมเป็นต้นทุนของอาคารที่จังหวัดระยองเพื่อคำนวณหักค่าเสื่อมราคา และกำหนดรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) เพียง 48,983.25 บาท แล้วดำเนินการแจ้งการเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิตามผลของการคำนวณ และให้เจ้าพนักงานประเมินคำนวณกำไรสุทธิของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2534 ใหม่ โดยอนุญาตให้โจทก์หักค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินรายการต่าง ๆ ตามเอกสารแนบ 2 แผ่นที่ 1 ถึง 4 ท้ายบันทึกคำเบิกความล่วงหน้าปากนางสาวพรศรีทุกรายการ ยกเว้นค่าเสื่อมราคาในส่วนของค่าขนส่ง (มูลค่า 350 บาท) ค่าขนส่ง (มูลค่า 630 บาท) และค่าหลอดไฟ (มูลค่า 408 บาท) ให้นำดอกเบี้ยจ่ายต้องห้ามจำนวน 334,829.31 บาท ไปรวมเป็นต้นทุนของอาคารที่จังหวัดเชียงใหม่ และดอกเบี้ยจ่ายต้องห้ามจำนวน 1,100,701.83 บาท ไปรวมเป็นต้นทุนของอาคารที่จังหวัดระยอง เพื่อคำนวณหักค่าเสื่อมราคาและกำหนดรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) เพียง 118,112.50 บาท แล้วแก้ไขการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2534 ตามผลของการคำนวณ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้แก้ไขหนังสือแจ้งการเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิ หนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลและคำวินิจฉัยอุทธรณ์นั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า เอกสารที่ศาลภาษีอากรกลางใช้ในการวินิจฉัยให้แก้ไขการประเมินล้วนเป็นเอกสารที่จำเลยอ้างส่งศาล ฉะนั้น ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าในชั้นพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ โจทก์มิได้นำเอกสารที่ศาลภาษีอากรกลางใช้ในการวินิจฉัยไปพิสูจน์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงฟังไม่ขึ้น ประการสำคัญ แม้ในชั้นพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ โจทก์จะมิได้นำเอกสารไปพิสูจน์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ก็ไม่มีกฎหมายห้ามมิให้นำเอกสารนั้นมาพิสูจน์ในชั้นศาลในประเด็นเดียวกับที่โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไว้แล้ว ทั้งข้อกำหนดคดีภาษีอากร พ.ศ.2544 ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 20 ข้อ 15 และข้อ 16 ก็กำหนดให้คู่ความอ้างและส่งเอกสารเป็นพยานสนับสนุนข้ออ้างหรือข้อเถียงของตนได้ โดยมิได้บังคับว่าเอกสารนั้นต้องเป็นเอกสารที่ส่งในชั้นพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ฉะนั้น แม้เอกสารที่โจทก์นำมาพิสูจน์ในชั้นศาลจะมิใช่เอกสารที่ได้นำไปพิสูจน์ในชั้นพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เอกสารนั้นก็รับฟังในชั้นศาลได้ ส่วนจะมีน้ำหนักเพียงใดเป็นอีกปัญหาหนึ่ง ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share