คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 406/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยผู้เป็นนายจ้างไม่ได้ให้การต่อสู้เกี่ยวกับค่าจ้างตามที่โจทก์บรรยายมาในฟ้อง และมิได้ต่อสู้ว่าค่ารับรอง ค่าน้ำมันรถ ค่าอาหาร เงินสะสม ค่าภาษีและเงินสมทบที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์แต่ละเดือนมิใช่ค่าจ้าง อุทธรณ์ของจำเลยที่ว่าจำนวนเงินตามฟ้องมิใช่ค่าจ้าง จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงาน ทั้งมิใช่ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 ประกอบด้วย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน ๖๒,๖๕๑.๙๖ บาท โบนัสเป็นเงิน ๓๑๓,๒๕๙.๘๐ บาท เงินสะสมเบี้ยเลี้ยงชีพเป็นเงิน ๔๙๖,๔๖๕.๑๒ บาท ค่าชดเชยเป็นเงิน ๓๗๕,๙๑๑.๗๖ บาท และค่าเสียหายเป็นเงิน ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ขาดความสุขุมรอบคอบ ไม่ปฏิบัติตามระเบียบและคำสั่งของจำเลยที่ ๑ อย่างเคร่งครัด ทำให้จำเลยที่ ๑ ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง จำเลยทั้งสองมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิโดยชอบ ที่จะเรียกเงินต่าง ๆ ตามฟ้องของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงินแก่โจทก์ คือค่าชดเชยเป็นเงิน ๓๗๕,๙๑๑.๗๖ บาท เงินสะสมเบี้ยเลี้ยงชีพเป็นเงิน ๔๙๖,๔๖๕.๑๒ บาท และค่าเสียหายเป็นเงิน ๔๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา ร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๒ และยกคำขออื่น นอกจากนี้เสียทั้งสิ้น
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานพิจารณาแล้ว สำหรับอุทธรณ์ข้อที่ว่า ค่ารับรอง ค่าน้ำมันรถ ค่าอาหาร เงินสะสม ค่าภาษี และเงินสมทบ ที่จำเลยที่ ๑ จ่ายให้แก่โจทก์แต่ละเดือนมิใช่ค่าจ้าง จึงไม่อาจนำไปคำนวณเป็นค่าชดเชยที่จะต้องจ่ายให้แก่โจทก์นั้น เห็นว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ไม่ได้ให้การต่อสู้เกี่ยวกับค่าจ้างของโจทก์ไว้ว่าค่ารับรอง ค่าน้ำมันรถ ค่าอาหาร เงินสะสม ค่าภาษี และเงินสมทบที่จำเลยที่ ๑ จ่ายให้แก่โจทก์แต่ละเดือนมิใช่ค่าจ้าง อุทธรณ์ของจำเลยที่ ๑ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ทั้งมิใช่ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๒๕ ประกอบด้วย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดี แรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑
พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๑.

Share