แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ลูกหนี้จะมีหน้าที่เสียภาษีโรงเรือนและที่ดินเป็นรายปีก็ตาม แต่จะต้องเสียเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประเมินภาษีและแจ้งรายการประเมินให้ลูกหนี้ทราบแล้วตามความในภาค 3เรื่องวิธีดำเนินการประเมินและจัดเก็บภาษีแห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 ซึ่งผู้รับการประเมินจะต้องเสียภาษีในกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งการประเมินตามมาตรา 38ฉะนั้นเมื่อเจ้าหนี้ยังมิได้ประเมินภาษีและแจ้งให้ลูกหนี้ทราบจำนวนภาษีที่จะต้องเสีย ลูกหนี้ก็ยังไม่ต้องชำระหนี้ภาษีดังกล่าวเจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้ภาษีนั้น
พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 43บัญญัติทางแก้สำหรับกรณีลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระเงินค่าภาษีที่ค้างชำระไว้โดยเฉพาะแล้วว่า ผู้ค้างชำระจะต้องเสียเงินเพิ่มคิดเป็นร้อยละตามจำนวนค่าภาษีที่ค้างและมีอัตราเงินเพิ่มสูงขึ้นตามเวลาที่ค้างชำระ จึงคิดดอกเบี้ยซ้อนเข้าไปอีกในระหว่างผิดนัดไม่ได้.
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากกรุงเทพมหานคร เจ้าหนี้รายที่ ๔ ยื่นคำขอรับชำระหนี้ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินจำนวน ๗๓,๑๘๓ บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสอง
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๑๔ แล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วเห็นว่า เห็นควรให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เป็นเงิน ๑๒,๘๐๔ บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่๑ ตามมาตรา ๑๓๐(๘) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ ส่วนที่ขอเกินมาให้ยก
ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จำนวน ๑๒,๘๐๔ บาทจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ ๑ ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
เจ้าหนี้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยข้อแรกว่าเจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินของลูกหนี้ที่ ๑ ประจำปี ๒๕๒๗ ถึง ๒๕๓๐ หรือไม่ เจ้าหนี้ฎีกาว่า บุคคลผู้พึงชำระค่าภาษี มีหน้าที่เสียภาษีปีละครั้งต่อเนื่องกันไปตามค่ารายปีของทรัพย์สิน โดยมูลหนี้ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินเกิดขึ้นเมื่อมีการใช้ประโยชน์จากตัวโรงเรือนและที่ดิน จึงเป็นหน้าที่ของลูกหนี้ที่ ๑ซึ่งใช้ประโยชน์จากโรงเรือนและที่ดินตลอดปี ๒๕๒๗-๒๕๓๐ ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินตามปีดังกล่าว เห็นว่า แม้ลูกหนี้จะมีหน้าที่เสียภาษีเป็นรายปีก็ตาม แต่ก็ต้องเสียเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประเมินภาษีและแจ้งรายการประเมินให้ลูกหนี้ทราบแล้วตามความในภาค ๓เรื่องวิธีดำเนินการประเมินและจัดเก็บภาษีแห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. ๒๔๗๕ ซึ่งผู้รับการประเมินจะต้องเสียภาษีในกำหนดเก้าสิบวัน นับแต่วันได้รับแจ้งการประเมินตามนัยมาตรา ๓๘แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ฉะนั้นเมื่อเจ้าหนี้ยังมิได้ประเมินภาษีและแจ้งให้ลูกหนี้ที่ ๑ ทราบจำนวนภาษีที่จะต้องเสีย ลูกหนี้ที่ ๑ก็ยังไม่ต้องชำระหนี้ภาษีดังกล่าว เจ้าหนี้ยังไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ที่ ๑ ชำระภาษีระหว่างปี ๒๕๒๗-๒๕๓๐ จึงไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในส่วนนี้ตามที่ขอรับชำระหนี้มา
ประเด็นต่อไปมีว่า เจ้าหนี้มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากเงินค่าภาษีค้างชำระและเงินเพิ่มในปี ๒๕๒๖ หรือไม่ ข้อนี้เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.๒๔๗๕ บัญญัติเกี่ยวกับเงินค่าภาษีค้างชำระไว้ในมาตรา ๔๓ ว่าผู้ค้างชำระจะต้องเสียเงินเพิ่มคิดเป็นร้อยละตามจำนวนค่าภาษีที่ค้างและมีอัตราเงินเพิ่มสูงขึ้นตามเวลาที่ค้างชำระ แสดงว่ากฎหมายได้บัญญัติทางแก้สำหรับกรณีลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระเงินค่าภาษีที่ค้างชำระไว้โดยเฉพาะแล้ว จึงคิดดอกเบี้ยซ้อนเข้าไปอีกในระหว่างผิดนัดไม่ได้โจทก์จึงไม่มีสิทธิจะได้รับดอกเบี้ยจากค่าภาษีค้างชำระและเงินเพิ่มอีก ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ฎีกาของเจ้าหนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.