แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46และข้อ 47 มิได้บัญญัติว่าให้ใช้บังคับเฉพาะในกรณีที่เลิกจ้างก่อนเกษียณอายุ การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ที่ นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงานเพราะเหตุเกษียณอายุเป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 46 ดังนี้หาเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าวไม่ เงินสงเคราะห์ตามข้อบังคับของการประปาส่วนภูมิภาคจำเลยว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์มีหลักเกณฑ์การคำนวณและการจ่ายแตกต่างจากค่าชดเชย จึงเป็นเงินคนละประเภทกับค่าชดเชย การที่จำเลยจ่ายสงเคราะห์แก่โจทก์จะถือเป็นการจ่ายค่าชดเชยไม่ได้ ข้อบังคับดังกล่าวที่กำหนดให้ถือว่าการจ่ายเงินสงเคราะห์เป็นการจ่ายค่าชดเชยจึงขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานดังนี้ข้อกำหนดดังกล่าวไม่มีผลบังคับ การหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นสิทธิของโจทก์ที่จะหยุดหรือไม่หยุดก็ได้ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยผู้เป็นนายจ้างได้กำหนดล่วงหน้าให้โจทก์ใช้สิทธิลาหยุดประจำปีในช่วงใดและโจทก์ก็มิได้ลาหยุดทั้งโจทก์ถูกเลิกจ้างโดยมิได้มีความผิดตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 ดังนี้ โจทก์มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 45บัญญัติให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเมื่อเลิกจ้างและข้อ 46 บัญญัติให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างเช่นกัน ดังนั้นการที่จำเลยมิได้จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและค่าชดเชยแก่โจทก์ในวันที่เลิกจ้าง จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นมาดังนี้ จำเลยต้องรับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย จำเลยได้มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์โดยไม่มีความผิด โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี 12 วัน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 57,336 บาทขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์ เพราะการที่โจทก์พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ด้วยเหตุเกษียณอายุนั้น หาใช่เป็นการพ้นจากตำแหน่งหน้าที่เพราะเหตุการเลิกจ้างจากจำเลยไม่ การเกษียณอายุเป็นการจ้างโดยมีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนและเป็นการพ้นจากตำแหน่งโดยผลของกฎหมาย จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ หากศาลจะฟังว่า โจทก์มีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชย จำเลยก็มีข้อบังคับเกี่ยวกับกองทุนเงินสงเคราะห์กำหนดว่าผู้ปฏิบัติงานที่ออกจากงานเพราะเหตุมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์และการจ่ายเงินตามข้อบังคับนี้ถือว่าเป็นการจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานด้วย โจทก์ได้รับเงินกองทุนสงเคราะห์ดังกล่าวไปแล้วมีจำนวนเงินมากกว่าเงินค่าชดเชยโจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าชดเชยจากจำเลยอีก และโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องให้จำเลยจ่ายค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปีเพราะการที่โจทก์มิได้ลาหยุดพักผ่อนประจำปีทั้ง ๆ ที่โจทก์มีสิทธิลาหยุดถือว่าโจทก์ได้สละสิทธิการลาหยุดดังกล่าว โจทก์ไม่เคยทวงถามเงินค่าชดเชย เงินค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำเลยจึงยังมิได้ตกเป็นผู้ผิดนัด
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 57,336 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ข้อแรกว่าจำเลยได้ให้การต่อสู้ว่า โจทก์ไม่มีสิทธิรับเงินค่าชดเชยจากจำเลยเพราะจำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ แต่การออกจากงานเป็นผลของกฎหมายมหาชนที่รัฐต้องการให้ผู้มีอายุครบ 60 ปีได้รับการพักผ่อนการเกษียณอายุจึงมิใช่การตกงานเพื่อรองานใหม่ กฎหมายมหาชนนี้จึงใช้บังคับทุกคนไม่ว่าจะเป็นข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจแต่ศาลแรงงานกลางมิได้วินิจฉัยประเด็นข้อนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าในคำให้การของจำเลยได้ยกเหตุผลถึง 6 ประการขึ้นอ้างเพื่อสนับสนุนว่า จำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ เหตุที่จำเลยยกขึ้นอุทธรณ์ดังกล่าวเป็นเหตุผลที่อยู่ในคำให้การข้อ 2(5) ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเลยกล่าวเท้าความถึงกฎหมาย 2 ฉบับที่กล่าวมาแล้วในคำให้การตอนต้นในข้อ 2(1)-2(4) คือ ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน และพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 คำให้การข้อนี้จึงเป็นเพียงเหตุผลที่ยกขึ้นสนับสนุนคำให้การข้ออื่น ๆ เท่านั้นเมื่อศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าการที่จำเลยให้โจทก์ออกจากงานเพราะเหตุเกษียณอายุเป็นการเลิกจ้างตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 ก็เท่ากับได้วินิจฉัยรวมไปถึงข้อต่อสู้ตามคำให้การข้อนี้ของจำเลยด้วยแล้วว่า…
จำเลยอุทธรณ์ข้อที่สองว่า การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าที่จำเลยให้โจทก์ออกจากงานเพราะเกษียณอายุนั้น เป็นการที่จำเลยไม่ยอมให้ลูกจ้างทำงานอีกตลอดไป จึงเป็นการเลิกจ้างตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 นั้นเป็นคำวินิจฉัยที่ขัดกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 และข้อ 47เพราะข้อ 46 ระบุชัดให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างประจำซึ่งเลิกจ้างเฉพาะที่นายจ้างสั่งให้ลูกจ้างหยุดงานเพื่อประโยชน์ของนายจ้างเท่านั้น อันเป็นการสั่งให้ยุดงานระหว่างกาลก่อนครบเกษียณอายุ และข้อ 47 ระบุว่า นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างกรณีใดกรณีหนึ่งในอนุมาตรา (1)-(6) ซึ่งเป็นการเลิกจ้างระหว่างกาลหรือเลิกจ้างก่อนเกษียณอายุเช่นเดียวกัน ไม่มีข้อกำหนดกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับใดบัญญัติหรือสนับสนุนให้เห็นหรือถือว่าการเกษียณอายุเป็นการเลิกจ้างดังศาลแรงงานกลางวินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 และข้อ 47 หาได้บัญญัติว่า ให้ใช้บังคับเฉพาะในกรณีที่เลิกจ้างก่อนเกษียณอายุดังจำเลยอุทธรณ์ไม่ การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ที่จำเลยให้โจทก์ออกจากงานเพราะเหตุเกษียณอายุ เป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 นั้น จึงหาเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าวไม่…
จำเลยอุทธรณ์ข้อที่สามว่า โจทก์ยอมรับและยึดถือข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ และโจทก์ได้รับเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ของจำเลยไปแล้วโดยมิได้โต้แย้ง ทักท้วงหรือมีเงื่อนไขใด ๆ อีก การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การจ่ายเงินดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นการจ่ายค่าชดเชย เท่ากับว่าโจทก์ได้รับค่าชดเชยถึงสองครั้ง ทำให้รัฐต้องจัดหางบประมาณจ่ายซ้ำให้โจทก์ จึงไม่ชอบด้วยเหตุผล ศาลฎีกาเห็นว่าเงินสงเคราะห์ตามข้อบังคับของจำเลย มีหลักเกณฑ์การคำนวณและการจ่ายแตกต่างจากค่าชดเชย จึงเป็นเงินคนละประเภทกับค่าชดเชยการที่จำเลยจ่ายเงินสงเคราะห์แก่โจทก์จะถือเป็นการจ่ายค่าชดเชยไม่ได้ ที่ข้อบังคับของจำเลยกำหนดให้ถือว่าการจ่ายเงินสงเคราะห์เป็นการจ่ายค่าชดเชยนั้น ขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ฉะนั้น ข้อกำหนดดังกล่าวจึงไม่มีผลบังคับที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ จึงหาเป็นการพิพากษาให้โจทก์ได้รับเงินค่าชดเชยซ้ำซ้อนดังจำเลยอุทธรณ์ไม่…
จำเลยอุทธรณ์ข้อที่สี่ว่า โจทก์มิได้ลาหยุดพักผ่อนประจำปีทั้ง ๆ ที่โจทก์มีสิทธิจะลา จึงถือว่าโจทก์สละสิทธิลาหยุดดังกล่าวโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีศาลฎีกาเห็นว่า การหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นสิทธิของโจทก์ที่จะหยุดหรือไม่หยุดก็ได้ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยผู้เป็นนายจ้างได้กำหนดล่วงหน้าให้โจทก์ใช้สิทธิลาหยุดประจำปีในช่วงใด และโจทก์ก็มิได้ลาหยุด ทั้งโจทก์ถูกเลิกจ้างโดยมิได้มีความผิดตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นจำนวนเท่ากับค่าจ้าง 12 วันตามฟ้อง…
จำเลยอุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า ค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี เป็นหนี้เงิน จำเลยต้องผิดนัดเสียก่อนจึงจะต้องรับผิดเสียดอกเบี้ย แต่โจทก์มิได้ทวงถามเงินดังกล่าวจากจำเลย จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดนัด จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในเรื่องดอกเบี้ยตามฟ้อง ศาลฎีกาเห็นว่า ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 45 บัญญัติให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างเช่นกัน ดังนั้นการที่จำเลยมิได้จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและค่าชดเชยแก่โจทก์ในวันที่เลิกจ้าง จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นมา จึงต้องรับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์…”
พิพากษายืน.