คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5566/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2511 มาตรา 7 ให้ลงโทษจำคุก 1 เดือน และจำเลยมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ให้ลงโทษจำคุก 5 ปี ให้จำเลยคืนเงินแก่ผู้เสียหาย ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะจำนวนเงินที่ให้ใช้คืนแก่ผู้เสียหาย เป็นการแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นแต่เพียงเล็กน้อย ทั้งศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละไม่เกิน5 ปี จำเลยจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 แม้พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528จะยกเลิกพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2511แต่ก็มิได้ยกเลิกความผิดฐานจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งจำเลยกระทำ ในทางตรงกันข้ามกลับกำหนดโทษสำหรับความผิดดังกล่าวให้สูงขึ้นกว่าเดิมอีก ดังนั้น ศาลจึงชอบที่จะลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2511ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ขณะจำเลยกระทำผิดเพราะเป็นกฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยฉ้อโกงประชาชน หลอกลวงว่าจะจัดส่งคนไปทำงานในต่างประเทศ แต่จะต้องเสียค่าบริการให้แก่จำเลยเมื่อจำเลยได้รับเงินแล้วก็ไม่จัดการส่งไป ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343 และพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2511 มาตรา 7, 27 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิด ตามพระราชบัญญัติจัดหางานฯพ.ศ. 2511 ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 1,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2ที่ 3 คนละ 1 เดือน ฐานฉ้อโกงประชาชน ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน10,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 ที่ 3 คนละ 5 ปี ให้จำเลยร่วมกันคืนเงิน 318,500 บาท แก่ผู้เสียหายทั้ง 26 คน จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ร่วมกันคืนเงิน 308,500 บาทจำเลยที่ 2, ที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นแต่เพียงเล็กน้อย ทั้งศาลอุทธรณ์ก็พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ที่ 3 กระทงละไม่เกิน 5 ปี จำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงไม่ได้เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาข้อ 2.1 ของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ซึ่งจำเลยที่ 2 ที่ 3 ก็อ้างว่าเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงนั้นจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาข้อ 2.1
สำหรับฎีกาข้อ 2.2 ซึ่งจำเลยที่ 2 ที่ 3 อ้างว่าเป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายนั้น จำเลยที่ 2 ที่ 3 ฎีกาเป็นประการแรกว่าที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2511 มาตรา 7 ยังไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ถูกยกเลิกแล้วโดยพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 3 จะนำกฎหมายที่ยกเลิกแล้วมาลงโทษจำเลยหาได้ไม่ ศาลฎีกาพิเคราะห์ข้อฎีกาดังกล่าวแล้วเห็นว่าแม้พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานพ.ศ. 2528 จะยกเลิกพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานพ.ศ. 2511 แต่ก็มิได้ยกเลิกความผิดฐานจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งจำเลยที่ 2 ที่ 3 กระทำ ในทางตรงกันข้ามกลับกำหนดโทษสำหรับความผิดดังกล่าวให้สูงขึ้นกว่าเดิมอีก ดังนั้นศาลจึงชอบที่จะลงโทษจำเลยที่ 2 ที่ 3 ตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานพ.ศ. 2511 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ขณะจำเลยที่ 2 ที่ 3 กระทำผิดเพราะเป็นกฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้วฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ฎีกาอีกประการหนึ่งว่า เมื่อข้อเท็จจริงมิได้ปรากฎว่าจำเลยได้ประกาศโฆษณาต่อประชาชนโดยทั่วไปเพียงแต่พูดจาชักชวนพวกผู้เสียหาย 26 คนเท่านั้น จะลงโทษจำเลยฐานฉ้อโกงประชาชนหาได้ไม่นั้น ปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงไว้ว่าตามพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสามเป็นการร่วมกันมีเจตนาทุจริต เพื่อหลอกลวงผู้เสียหายทั้ง 26 คนและประชาชนให้สมัครไปทำงานในต่างประเทศกับจำเลยทั้งสามเพื่อเอาเงินจากผู้ถูกหลอกลวงดังกล่าว ดังนั้นข้อฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ดังกล่าวจึงเป็นการคัดค้านคำวินิจฉัยข้อเท็จจริง ที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยทั้งสามมิได้มีเจตนาหลอกลวงเฉพาะผู้เสียหาย 26 คนเท่านั้นแต่มีเจตนาหลอกลวงประชาชนโดยทั่วไปด้วย จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายืน

Share