คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8303/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.รัษฎากร มาตรา 86/4 บัญญัติว่า ใบกำกับภาษีต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้ … (3) ชื่อ ที่อยู่ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ โดยบทกฎหมายดังกล่าวไม่ได้บัญญัติไว้เป็นที่ชัดเจนว่าจะต้องให้ชื่อ ที่อยู่ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการตรงกับรายการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ ทั้งโจทก์ขอให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยผู้ออกใบกำกับภาษีแก้ไขแล้ว แต่ผู้ออกใบกำกับภาษีพิพาทไม่ยินยอมแก้ไขให้ เพียงแต่รับรองว่าเป็นใบกำกับภาษีที่ออกให้แก่โจทก์จริง ดังนั้น แม้ใบกำกับภาษีพิพาทระบุชื่อและที่อยู่ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ ไม่ตรงหรือไม่ครบถ้วนตามรายการที่จดทะเบียน แต่ก็ไม่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นใบกำกับภาษีของผู้ประกอบการรายอื่น จึงไม่ถือว่าใบกำกับภาษีพิพาทที่โจทก์ได้รับจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเป็นใบกำกับภาษีที่มีข้อความไม่ถูกต้องหรือไม่สมบูรณ์ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดไว้ ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีดังกล่าวจึงไม่ต้องห้ามให้นำมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 82/5 โจทก์จึงมีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีพิพาทมาหักในการคำนวณภาษีตาม ป.รัษฎากร มาตรา 82/3 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภพ.73.1) เลขที่ 02008390/102303 ถึงเลขที่ 02008390/102305 ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2545 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เลขที่ สภ.2/อธ.3/14.1/18/47 ถึงเลขที่ สภ.2/อธ.3/14.3/18/47 ลงวันที่ 27 มกราคม 2547
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลาง พิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่าคดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ใบกำกับภาษีที่โจทก์ได้รับจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสำหรับเดือนภาษีสิงหาคมถึงเดือนภาษีตุลาคม 2544 มีข้อความไม่ถูกต้องหรือไม่สมบูรณ์ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหรือไม่ เห็นว่า ตามข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันฟังได้ว่า สำหรับเดือนภาษีสิงหาคม 2544 โจทก์นำใบกำกับภาษีที่ออกโดยองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย 13 ฉบับ และที่ออกโดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 5 ฉบับ มาใช้คำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับเดือนภาษีกันยายน 2544 โจทก์นำใบกำกับภาษีที่ออกโดยองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย 11 ฉบับ และที่ออกโดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 5 ฉบับ มาใช้คำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับเดือนภาษีตุลาคม 2544 โจทก์นำใบกำกับภาษีที่ออกโดยองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย 13 ฉบับ และที่ออกโดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 5 ฉบับ มาใช้คำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามใบกำกับภาษีดังกล่าวปรากฏว่า มีชื่อโจทก์ไม่ตรงตามที่จดทะเบียน ไม่ระบุเลขที่ หมู่ที่ ชื่อและที่อยู่ไม่ตรงตามที่จดทะเบียน ชื่อไม่ตรงและไม่มีเลขที่ หมู่ที่ ที่อยู่ไม่ตรง ชื่อไม่ตรงตามที่จดทะเบียน เมื่อพิจารณาใบกำกับภาษีดังกล่าว แผ่นที่ 250 ถึง 252 แผ่นที่ 244 ถึง 249 แผ่นที่ 287 ถึง 294 และแผ่นที่ 348 ถึงแผ่นที่ 357 ตามลำดับ ปรากฏว่าใบกำกับภาษีที่มีชื่อโจทก์ไม่ตรงตามที่จดทะเบียน เนื่องจากผู้ออกใบกำกับภาษีระบุชื่อผู้ใช้บริการว่า บ.สยามอุตสาหกรรมการเกษตร (สับปะรด) จก. หรือ บ.สยามอุตสาหกรรมการเกษตรหรือสโมสรและบ้านพักเกษตรสับปะรด หรือ บ.สยามอุตสาหกรรมการเกษตร จก. หรือบ้านพัก บ.สยามอุตสาหกรรมการเกษตรสับปะรด จก. หรือ บ.สยามอุตสาหกรรมเกษตร จก. ส่วนที่อยู่ที่ไม่ตรงนั้น เนื่องจากผู้ออกใบกำกับภาษีระบุที่อยู่ว่า ต.มาบข่า อ.บ้านค่าย จ.ระยอง หรือ 1-5 ถ.นิคม ซ.13 ต.มาบข่า อ.บ้านค่าย จ.ระยอง หรือ 363 ม.2 ต.มาบข่า อ.บ้านค่าย จ.ระยอง หรือ 139 ม.1 ต.แม่น้ำคู้ หรือ ถ.สาย 13 ต.นิคมพัฒนา กิ่ง อ.นิคมพัฒนา หรือ 31 ม.1 ต.นิคมพัฒนา กิ่ง อ.นิคมพัฒนา หรือ ต.มาบข่า หรือ 363 ม.2 นิคมพัฒนา กิ่ง อ.นิคมพัฒนา ซึ่งใบกำกับภาษีพิพาทดังกล่าวไม่มีฉบับใดที่ไม่ปรากฏชื่อและที่อยู่ของโจทก์ เพียงแต่มีชื่อ ที่อยู่ของโจทก์ผู้ซื้อสินค้าหรือรับบริการ ไม่ตรงกับที่โจทก์จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้เท่านั้น สำหรับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการตามประมวลรัษฎากร มาตรา 86/ 4 (3) บัญญัติให้มีแต่เพียงว่า ชื่อ ที่อยู่ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ เมื่อกฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้เป็นที่ชัดเจนว่าจะต้องให้ชื่อ ที่อยู่ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการตรงกับรายการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ ทั้งโจทก์ขอให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยผู้ออกใบกำกับภาษีแก้ไขแล้ว แต่ผู้ออกใบกำกับภาษีพิพาทไม่ยินยอมแก้ไขให้ เพียงแต่รับรองว่าเป็นใบกำกับภาษีที่ออกให้แก่โจทก์จริง ดังนั้น แม้ใบกำกับภาษีพิพาทระบุชื่อและที่อยู่ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ ไม่ตรงหรือไม่ครบถ้วนตามรายการที่จดทะเบียนแต่ก็ไม่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นผู้ประกอบการรายอื่น จึงไม่ถือว่าใบกำกับภาษีพิพาทดังกล่าวเป็นใบกำกับภาษีที่มีข้อความไม่ถูกต้องหรือไม่สมบูรณ์ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดไว้ ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีดังกล่าวจึงไม่ต้องห้ามให้นำมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 82/5 การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงไม่ชอบ ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีสิทธินำใบกำกับภาษีค่าไฟฟ้าและค่าโทรศัพท์ที่ออกโดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยมาใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มฉบับลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2545 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ทั้ง 3 ฉบับ ลงวันที่ 27 มกราคม 2547 โดยให้โจทก์มีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีตามฟ้องมาหักในการคำนวณภาษีตามมาตรา 82/3 ได้ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองชั้นศาลให้เป็นพับ

Share