คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10307/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันพาอาวุธมีดติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร และร่วมกันทำร้ายร่างกายโดยเตะ ต่อย และถีบที่ใบหน้าและลำตัว กับใช้อาวุธมีดแทงผู้เสียหายที่ 2 ที่หัวไหล่ซ้าย ชายโครง และหน้าท้องเป็นเหตุให้รับอันตรายสาหัสโดยไม่ปรากฏว่ามีบุคคลอื่นร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 อีก ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาว่า จำเลยทั้งสองมิได้พาอาวุธมีดติดตัวมา และจำเลยที่ 2 มิได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ทำร้ายผู้เสียหายที่ 2 หากแต่ได้ร่วมกับพวกที่เหลืออีก 4 ถึง 5 คน โดยพวกคนหนึ่งเป็นผู้ใช้อาวุธมีดแทงผู้เสียหายที่ 2 จึงเป็นข้อเท็จจริงที่แตกต่างกันเกี่ยวกับการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด รวมทั้งรายละเอียดของบุคคลที่เกี่ยวข้องที่โจทก์ไม่ได้กล่าวมาในฟ้อง ซึ่งการเป็นตัวการร่วมกันกระทำความผิดนั้น ป.อ. มาตรา 83 บัญญัติว่าผู้เป็นตัวการต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ผู้เป็นตัวการแต่ละคนจึงต้องร่วมกันรับผิดในผลที่เกิดขึ้นแม้ตนไม่ได้กระทำเพราะต่างถือเอาการกระทำและเจตนาของกันและกันเป็นของตน ข้อเท็จจริงว่ามีการร่วมกันกระทำความผิดกับบุคคลอื่นนอกเหนือไปจากบุคคลที่โจทก์กล่าวมาในฟ้องจึงเป็นข้อสำคัญ เมื่อโจทก์กล่าวในฟ้องเพียงว่าจำเลยทั้งสองเท่านั้นที่ร่วมกันกระทำความผิดโดยไม่มีบุคคลอื่นอีก ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาจึงแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญ มิใช่ข้อแตกต่างที่เป็นเพียงรายละเอียดที่ศาลจะลงโทษจำเลยที่ 2 ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ย่อมลงโทษจำเลยที่ 2 ในฐานะที่เป็นตัวการร่วมกับพวกที่เหลือพาอาวุธมีดติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร และร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายที่ 2 เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสไม่ได้ แต่เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 2 มาด้วยว่า จำเลยที่ 2 เตะ ต่อย และถีบผู้เสียหายที่ 2 เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสตาม ป.อ. มาตรา 297 ความผิดดังกล่าวย่อมรวมถึงการใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตาม ป.อ. มาตรา 391 ด้วย ถือได้ว่าความผิดตามฟ้องรวมการกระทำหลายอย่างซึ่งแต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 2 ในการกระทำตามที่พิจารณาได้ความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91, 295, 297, 371 ริบของกลาง และนับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3355/2551 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 297 (8), 371 ประกอบมาตรา 91 ฐานทำร้ายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย จำคุกคนละ 1 เดือน ฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 ปี ฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 100 บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 ปี 1 เดือน และปรับ 100 บาท ทางพิจารณาจำเลยที่ 1 นำสืบเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 20 วัน ส่วนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3355/2551 ของศาลชั้นต้น ที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อนั้น คดีดังกล่าวศาลชั้นต้นรอการลงโทษจำเลยที่ 1 ไว้ จึงไม่อาจนับโทษต่อให้ได้ ริบของกลาง หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 3,000 บาท อีกสถานหนึ่ง ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 2,000 บาท รวมจำคุก 20 วัน และปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ให้คุมความประพฤติของจำเลยที่ 1 ไว้ เป็นเวลา 1 ปี โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 กระทำผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า ผู้เสียหายที่ 1 เบิกความยืนยันว่า หลังจากโต้เถียงกับจำเลยทั้งสองเรื่องที่จำเลยที่ 2 พูดจาล่วงเกินผู้เสียหายที่ 1 แล้วผู้เสียหายที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 ขอโทษ ผู้เสียหายที่ 1 ถูกจำเลยที่ 2 ตบ จากนั้นถูกจำเลยที่ 1 ตบอีกครั้งหนึ่ง แล้วจำเลยทั้งสองกับพวกช่วยกันรุมเตะต่อยผู้เสียหายที่ 1 สอดคล้องกับร่องรอยบาดแผล ฟกช้ำ ที่ร่างกายผู้เสียหายที่ 1 มีทั้งใบหน้าและร่างกายหลายแห่ง นางสาวชุติมาและนางสุดใจก็เบิกความสนับสนุนว่า ก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 ได้ทะเลาะกับจำเลยทั้งสามกับพวกแล้วผู้เสียหายที่ 1 ถูกจำเลยที่ 1 ตบหน้าแล้วพวกของจำเลยที่ 1 ได้รุมเตะ ต่อย ผู้เสียหายที่ 1 แม้นางสาวชุติมาและนางสุดใจจะไม่ได้เบิกความถึงเหตุการณ์ที่จำเลยที่ 2 ตบหน้าผู้เสียหายที่ 1 ก็ไม่ใช่เป็นข้อพิรุธ ที่จะทำให้น้ำหนักคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 เสียไป เพราะขณะเกิดเหตุพยานแต่ละคนต่างอยู่ในอากัปกริยาไม่เหมือนกันเป็นเรื่องต่างคนต่างเบิกความในส่วนของตนที่รู้เห็น ทั้งในชั้นสอบสวนผู้เสียหายที่ 1 กับนางสุดใจให้การยืนยันว่า ผู้เสียหายที่ 1 ถูกชายวัยรุ่นสองคนที่เดินตามมาและมีเรื่องทะเลาะกันรุมชกต่อยบริเวณใบหน้าผู้เสียหายที่ 1 หลายครั้ง ฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 1 จนได้รับอันตรายแก่กาย ส่วนผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งถูกแทงได้รับอันตรายสาหัส โจทก์มีผู้เสียหายที่ 2 และนางชนัญธิดาเป็นพยานเบิกความว่า ได้ยินเสียงเอะอะโวยวายที่บริเวณหน้าบ้านจึงออกมาดู พบผู้เสียหายที่ 1 กำลังโต้เถียงกับจำเลยทั้งสองกับพวกรวมประมาณ 4 ถึง 5 คน โดยนางสาวชุติมาและนางสุดใจอยู่ด้วย ผู้เสียหายที่ 1 บอกว่ากลุ่มจำเลยทั้งสองได้ผลักนางสุดใจ นางชนัญธิดาจึงต่อว่าว่าทำร้ายคนแก่ จำเลยที่ 2 ยกมือขึ้นทำท่าจะตบ ผู้เสียหายที่ 2 จึงเข้ามาช่วยกัน จากนั้นเกิดการชุลมุนต่อสู้กันโดยจำเลยที่ 2 กับพวกได้รุมทำร้ายผู้เสียหายที่ 2 ระหว่างนั้นนางชนัญธิดาเห็นจำเลยที่ 2 ใช้อาวุธมีดแทงผู้เสียหายที่ 2 ประมาณ 4 ถึง 5 ครั้ง จนด้ามมีดกระเด็นตกอยู่บริเวณที่เกิดเหตุ ส่วนใบมีดติดอยู่ที่ตัวของผู้เสียหายที่ 2 เห็นว่า ผู้เสียหายที่ 2 และนางชนัญธิดาเบิกความยืนยันตรงกันว่า จำเลยที่ 2 อยู่ในกลุ่มพวกที่รุมทำร้ายผู้เสียหายที่ 2 ด้วยสอดคล้องกับคำเบิกความของนางสุดใจและผู้เสียหายที่ 1 มีน้ำหนักให้รับฟัง แต่ขณะที่ผู้เสียหายที่ 2 ถูกแทงนั้นไม่ปรากฏจากคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 นางสุดใจและนางสาวชุติมา ซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุด้วยกันรวมทั้งผู้เสียหายที่ 2 ที่ถูกแทงว่าเห็นจำเลยที่ 2 เป็นผู้ใช้มีดของกลางเป็นอาวุธแทงผู้เสียหายที่ 2 มีแต่นางชนัญธิดาที่เบิกความว่า เห็นจำเลยที่ 2 ใช้อาวุธมีดแทงผู้เสียหายที่ 2 เห็นว่า นางชนัญธิดาเห็นเหตุการณ์ขณะมีการชุลมุนต่อสู้กันระหว่างคนหลายคน โอกาสที่จะสังเกตเห็นเหตุการณ์ชัดเจนมีน้อย ซึ่งตามคำให้การชั้นสอบสวน นางชนัญธิดาที่ให้การต่อพนักงานสอบสวนในวันเกิดเหตุก็ไม่ได้ระบุยืนยันว่า จำเลยที่ 2 เป็นคนใช้อาวุธมีดแทงผู้เสียหายที่ 2 เพียงแต่ให้การยืนยันว่า กลุ่มชายวัยรุ่นที่เข้ามารุมทำร้ายผู้เสียหายที่ 2 ได้ใช้อาวุธมีดแทงผู้เสียหายที่ 2 จึงทำให้สงสัยว่านางชนัญธิดาเห็นจำเลยที่ 2 ใช้มีดแทงผู้เสียหายที่ 2 จริงหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 กับพวกร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 2 โดยพวกของจำเลยที่ 2 ที่รุมทำร้ายใช้อาวุธมีดแทงผู้เสียหายที่ 2 ได้รับอันตรายสาหัส พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 กับพวกถือได้ว่าต่างมีเจตนาร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายที่ 2 มาแต่แรก อันเข้าลักษณะของตัวการผู้ร่วมกระทำความผิด อย่างไรก็ตาม โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันพาอาวุธมีดติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร และร่วมกันทำร้ายร่างกายโดยเตะ ต่อย และถีบที่ใบหน้าและลำตัว กับใช้อาวุธมีดแทงผู้เสียหายที่ 2 ที่หัวไหล่ซ้าย ชายโครง และหน้าท้องเป็นเหตุให้รับอันตรายสาหัส โดยไม่ปรากฏว่ามีบุคคลอื่นร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ทำร้ายผู้เสียหายที่ 2 อีก ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาว่าจำเลยทั้งสองมิได้พาอาวุธมีดติดตัวมา และจำเลยที่ 2 มิได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ทำร้ายผู้เสียหายที่ 2 หากแต่ได้ร่วมกับพวกที่เหลืออีก 4 ถึง 5 คน โดยพวกคนหนึ่งเป็นผู้ใช้อาวุธมีดแทงผู้เสียหายที่ 2 จึงเป็นข้อเท็จจริงที่แตกต่างเกี่ยวกับการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำความผิด รวมทั้งรายละเอียดของบุคคลที่เกี่ยวข้องที่โจทก์ไม่ได้กล่าวมาในฟ้อง ซึ่งการเป็นตัวการร่วมกันกระทำความผิดนั้น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 บัญญัติว่าผู้เป็นตัวการต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ผู้เป็นตัวการแต่ละคนจึงต้องร่วมกันรับผิดในผลที่เกิดขึ้นแม้ตนไม่ได้กระทำเพราะต่างถือเอาการกระทำและเจตนาของกันและกันเป็นของตน ข้อเท็จจริงว่ามีการร่วมกันกระทำความผิดกับบุคคลอื่นนอกเหนือไปจากบุคคลที่โจทก์กล่าวมาในฟ้องจึงเป็นข้อสำคัญ เมื่อโจทก์กล่าวในฟ้องเพียงว่าจำเลยทั้งสองเท่านั้นที่ร่วมกันกระทำความผิดโดยไม่มีบุคคลอื่นอีก ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาจึงแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญ มิใช่ข้อแตกต่างเป็นเพียงรายละเอียดที่ศาลจะลงโทษจำเลยที่ 2 ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง ย่อมลงโทษจำเลยที่ 2 ในฐานะที่เป็นตัวการร่วมกับพวกที่เหลือพาอาวุธมีดติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร และร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายที่ 2 เป็นเหตุให้รับอันตรายสาหัสไม่ได้ แต่เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 2 มาด้วยว่า จำเลยที่ 2 เตะ ต่อย และถีบผู้เสียหายที่ 2 เป็นเหตุให้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 ความผิดดังกล่าวย่อมรวมถึงการใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ด้วย ถือได้ว่าความผิดตามฟ้องรวมการกระทำหลายอย่างซึ่งแต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัว เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยที่ 2 ได้ชกต่อยผู้เสียหายที่ 2 และตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผล ปรากฏว่านอกเหนือจากบาดแผลฉีกขาดขอบเรียบอันเป็นบาดแผลที่ผู้เสียหายที่ 2 ถูกพวกของจำเลยที่ 2 ใช้อาวุธมีดแทงแล้ว ผู้เสียหายที่ 2 มีบาดแผลถลอกตื้นบริเวณสะบักซ้าย แขนและมือซ้าย กับบริเวณข้อศอกและมือขวา อันเป็นข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำความผิดฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 2 ในการกระทำตามที่พิจารณาได้ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และเมื่อได้วินิจฉัยดังนี้แล้วก็ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ที่ว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดฐานร่วมกันชุลมุนต่อสู้ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 391 เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานทำร้ายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย จำคุก 1 เดือน ฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ จำคุก 1 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share