คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1885/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การยอมตามที่บุคคลภายนอกเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 481 นั้น มีความหมายว่า ต้องเป็นการยอมโดยสมัครใจ การที่เจ้าพนักงานศุลกากรยึดรถยนต์ที่โจทก์ซื้อจากจำเลยไปจากโจทก์โดยอ้างอำนาจของกฎหมาย ซึ่งหากโจทก์ไม่ยอมให้ยึดก็อาจต้องมีความผิดในทางอาญา จึงไม่เป็นการยอมตามที่บุคคลภายนอกเรียกร้องตามมาตรา 481 ความรับผิดของจำเลยผู้ขายรถยนต์ดังกล่าวไม่อยู่ในบังคับอายุความตามมาตรา481 แต่อยู่ในบังคับอายุความทั่วไปตามมาตรา 164.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ติดต่อขายรถยนต์ให้โจทก์โดยจำเลยที่ 3 ร่วมสมรู้ด้วย ต่อมาเจ้าพนักงานศุลกากรจับโจทก์พร้อมกับยึดรถยนต์ดังกล่าวโดยอ้างว่ายังไม่ได้เสียภาษีขาเข้าให้ถูกต้องตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่อาจจดทะเบียนโอนรถยนต์มาเป็นของโจทก์ และไม่อาจใช้รถยนต์ดังกล่าว ขอศาลพิพากษาให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าเสียหายรวม 196,500 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ตรวจดูสภาพรถยนต์และหลักฐานทางทะเบียนเห็นว่าถูกต้องแล้วจึงตกลงซื้อ รถยนต์ที่ซื้อขายเสียภาษีนำเข้าโดยชอบแล้ว ที่โจทก์ยอมให้เจ้าพนักงานศุลกากรยึดรถยนต์ไปนั้นเป็นความประมาทเลินเล่อของโจทก์ ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 164,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่7 มกราคม 2526 จำเลยที่ 1 ที่ 2 นำรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้าโคโรลล่าสีขาวหมายเลขทะเบียน 6 ข – 1890 คันพิพาทไปขายให้โจทก์ในราคา164,000 บาทได้ทำสัญญาซื้อขายกันตามเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งระบุไว้ด้วยว่า หากมีผู้คัดค้านทำให้โจทก์ไม่ได้รับโอน จำเลยต้องชดใช้เงินคืนพร้อมด้วยค่าเสียหาย จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์พิพาทพร้อมทะเบียนรถ ใบโอนทะเบียนรถให้โจทก์ โจทก์สั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด ชำระราคาให้จำเลย วันที่ 11 มกราคม 2526เจ้าหน้าที่ศุลกากรไปดูรถพิพาทแล้วแจ้งต่อโจทก์ว่ารถยังไม่ได้เสียภาษี โจทก์นำทะเบียนและสัญญาซื้อขายให้ดูเจ้าหน้าที่ศุลกากรไม่เชื่อ และจับกุมโจทก์พร้อมทั้งยึดรถพิพาทไป โจทก์ร้องเรียนต่ออธิบดีกรมศุลกากร เจ้าหน้าที่ชี้แจงว่ารถพิพาทนำป้ายทะเบียนรถยนต์อื่นมาใช้ โจทก์ติดต่อกับจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ตอบโจทก์จึงแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจและนำเจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุมจำเลยที่ 1 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2526 ปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีเพียงประเด็นเดียวว่า คดีโจทก์ขาดอายุความตามมาตรา481 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่าตามต้นร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 481 ใช้คำว่าHAS YIELDED HIS CLAIM คำว่า YIELDED แปลว่า ยอมให้ ยอมจำนน ยอมแพ้ยอมล่าถอย ไม่ใช่เป็นการยอมโดยความสมัครใจแต่เพียงอย่างเดียวนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 481 บัญญัติว่า ‘ถ้าผู้ขายไม่ได้เป็นคู่ความในคดีเดิมหรือถ้าผู้ซื้อได้ประนีประนอมยอมความกับบุคคลภายนอก หรือยอมตามที่บุคคลภายนอกเรียกร้องไซร้ ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีในข้อรับผิดเพื่อการรอนสิทธิเมื่อพ้นกำหนดสามเดือนนับแต่วันคำพิพากษาในคดีเดิมถึงที่สุด หรือนับแต่วันประนีประนอมยอมความ หรือวันที่ยอมตามบุคคลภายนอกเรียกร้องนั้น’คำว่า ยอมตาม ในบทกฎหมายดังกล่าวเป็นคำภาษาไทย มีความหมายชัดแจ้งอยู่ในตัว จึงจะนำต้นร่างที่เป็นภาษาอังกฤษมาแปลเป็นภาษาไทยใช้บังคับแก่คู่ความไม่ได้ ศาลฎีกาเห็นว่า การยอมยอมตามที่บุคคลภายนอกเรียกร้อง ตามมาตรา 481 ดังกล่าว มีความหมายชัดแจ้งว่า ต้องเป็นการยอมโดยสมัครใจการที่เจ้าพนักงานศุลกากรยึดรถพิพาทไปจากโจทก์โดยอ้างอำนาจของกฎหมาย โจทก์จำต้องยอมให้ยึด มิฉะนั้นอาจจะต้องมีความผิดในทางอาญา จึงไม่เป็นการยอมตามที่บุคคลภายนอกเรียกร้องตามมาตรา 481 ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ผู้ขายไม่อยู่ในบังคับอายุความตามมาตรา 481 แต่ต้องอยู่ในบังคับอายุความทั่วไปตามมาตรา 164 ซึ่งมีอายุความ 10 ปีคดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
พิพากษายืน.

Share