แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์รู้ถึงการละเมิดเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2527 และได้ฟ้องจำเลยในมูลละเมิดรายนี้ต่อศาลแพ่งเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน2528 ภายในอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 448 ศาลแพ่งพิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2529เพราะเหตุคดีไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแพ่ง จึงเป็นกรณีอายุความฟ้องร้องดังกล่าวได้สิ้นไปในระหว่างพิจารณาของศาลแพ่งต้องขยายอายุความนั้นออกไปถึงหกเดือน ภายหลังคำพิพากษาของศาลแพ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 176 การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลแรงงานกลางเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2529 จึงไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นลูกจ้างของโจทก์ได้ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง อันเป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์เสียหายเป็นเงิน 20,610,000 บาท ซึ่งเป็นการกระทำละเมิดแก่โจทก์เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2525 แต่โจทก์เพิ่งทราบว่าจำเลยเป็นผู้รับผิดชอบในความเสียหายดังกล่าวเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2528 จึงขอให้จำเลยจ่ายเงินจำนวนข้างต้นพร้อมดอกเบี้ย จำเลยให้การว่า ไม่ได้ทำละเมิดโจทก์ และฟ้องโจทก์ขาดอายุความละเมิดแล้ว ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่จะได้วินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ซึ่งศาลฎีกาเห็นสมควรจะได้วินิจฉัยอุทธรณ์ข้อ 4 ของโจทก์เสียก่อน โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์เคยฟ้องจำเลยในมูลคดีและข้อหาเดียวกันกับคดีนี้ต่อศาลแพ่ง เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2528 แต่ศาลแพ่งพิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2529 เพราะเป็นคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานโจทก์จึงฟ้องคดีนี้ต่อศาลแรงงานกลางเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2529คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 176นั้น พิเคราะห์แล้ว ในปัญหาดังกล่าวนี้ ข้อเท็จจริงได้ความตามที่ศาลแรงงานกลางรับฟังว่า โจทก์รู้ตัวผู้กระทำละเมิดเมื่อวันที่ 24มกราคม 2525 และได้รู้ถึงการละเมิดเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2527พฤติการณ์แห่งคดีได้ความต่อไปว่า โจทก์เคยฟ้องจำเลยเกี่ยวกับมูลละเมิดรายเดียวกันนี้ต่อศาลแพ่งเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2528ศาลแพ่งพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่ากรณีตามฟ้องของโจทก์เป็นคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง เกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลแรงงานกลางที่จะพิจารณาพิพากษาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 8(5) ศาลแพ่งไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ พิพากษายกฟ้องโจทก์เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2529 โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องคดีใหม่ต่อศาลแรงงานกลาง โจทก์จึงฟ้องคดีนี้ต่อศาลแรงงานกลางเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2529 ปัญหาว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่นั้นเห็นว่า คดีนี้โจทก์รู้ถึงการละเมิดเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2527โจทก์นำคดีไปฟ้องต่อศาลแพ่งเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2528 ภายในกำหนดหนึ่งปี ฟ้องโจทก์ดังกล่าวจึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 ต่อมาเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2529ศาลแพ่งพิพากษายกฟ้องโจทก์เพราะเหตุคดีไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแพ่ง การที่โจทก์นำคดีไปฟ้องต่อศาลแรงงานกลางใหม่นั้นกรณีจึงต้องปรับด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 176 ซึ่งบัญญัติว่า “ถ้าศาลยกคดีเสียเพราะเหตุคดีไม่อยู่ในอำนาจศาลและกำหนดอายุความสิ้นไปแล้วในระหว่างพิจารณาก็ดีหรือจะสิ้นลงในระหว่างหกเดือน ภายหลังที่ได้พิพากษาคดีถึงที่สุดก็ดีท่านให้ขยายอายุความนั้นออกไปถึงหกเดือนภายหลังคำพิพากษานั้น”ซึ่งกรณีของโจทก์เห็นได้ว่ากำหนดอายุความฟ้องร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 สิ้นไปแล้วในระหว่างพิจารณาของศาลแพ่งจึงต้องขยายอายุความนั้นออกไปถึงหกเดือนภายหลังคำพิพากษาของศาลแพ่งปรากฎว่าศาลแพ่งมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2529 โจทก์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลแรงงานกลางเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2529 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 176คดีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์อีกต่อไป ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ฟ้องคดีเกินกำหนด 1 ปี คดีขาดอายุความแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีตามที่ได้กำหนดไว้ในข้อ 1 และข้อ 2 แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี”