แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เครื่องหมายการค้าของโจทก์ 2 ตรา เป็นรูปเด็กจูงควายและนกขี่ควายของจำเลยเป็นรูปเด็กจูงและฉุดควาย กับควายขี่นก เห็นได้ว่ามีสารสำคัญอย่างเดียวกันคือควายกับเด็กและควายกับนก แม้จะมีการผิดแปลกแตกต่างกันไปบ้างแต่สารสำคัญของเครื่องหมายทั้งสองก็ยังคงเป็นอย่างเดียวกัน เช่นนี้เรียกได้ว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยเหมือนหรือคล้ายคลึงกับของโจทก์ ทั้งเมื่อพิจารณาถึงการขานชื่อก็เป็นการเรียกขานชื่ออย่างเดียวกัน ซึ่งเมื่อนำมาใช้กับสินค้าประเภทเดียวกันแล้ว อาจทำให้ผู้ซื้อผิดหลงได้ และเมื่อปรากฏว่าเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่รับจดทะเบียนให้มาก่อนครั้งแรก ต่อเมื่อจำเลยได้ดัดแปลงจนได้รับจดให้ภายหลัง ย่อมส่อเจตนาของจำเลยว่าประสงค์จะเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าตรา “รูปเด็กจูงควาย” และ “รูปนกขี่ควาย” ซึ่งได้จดทะเบียนไว้แล้วสำหรับใช้กับสินค้าผ้าฝ้าย จำเลยบังอาจเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยนำเครื่องหมายรูปเด็กจูงควาย และฉุดควาย กับรูปควายขี่นก มาใช้กับสินค้าผ้าดำของจำเลยออกจำหน่าย เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 274
จำเลยให้การปฏิเสธและต่อสู้ว่าได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของตนไว้แล้วโดยชอบด้วยกฎหมาย
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์ จำเลยทั้ง 2 ตรามีลักษณะร่วมกันที่เห็นเด่นชัดคือควายกับคน และนกกับควาย อันเป็นสารสำคัญของรูป และเมื่อคำนึงถึงประชาชนผู้ซื้อซึ่งส่วนมากเป็นชาวชนบทด้วยแล้ว เห็นว่าอาจทำให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 274 ปรับ 1,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย คำว่าควายนกและเด็กกับควายไม่เป็นคำที่บอกถึงลักษณะหรือคุณภาพของสินค้าโดยเฉพาะ ผู้ใดอาจขอจดทะเบียนได้แต่ต้องไม่มีลักษณะคล้ายกันอันอาจ ทำให้ผู้ซื้อหลงผิดได้ เมื่อพิเคราะห์ตราเครื่องหมายทั้ง 2 ตราของโจทก์จำเลยแล้ว เห็นว่าไม่เหมือนหรือคล้ายคลึงกันอันอาจทำให้ประชาชนผิดหลงได้ พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า เครื่องหมายการค้าทั้ง 2 ตราของโจทก์จำเลยมีสารสำคัญเป็นอย่างเดียวกันคือควายกับเด็กและควายกับนก แม้จำเลยจะดัดแปลงให้ต่างกับของโจทก์บ้าง โดยเพิ่มเด็กเข้ามาอีกคนหนึ่งให้ดึงหางควาย และสับนกขี่ควายของโจทก์ให้เป็นควายขี่นก แต่สารสำคัญก็คงเป็นควายกับเด็กและควายกับนกอยู่นั่นเอง เพราะข้อแตกต่างเช่นนี้จะเห็นได้ชัดแจ้งก็ต่อเมื่อนำเอามาเทียบเคียงกันโดยใกล้ชิดเท่านั้นยิ่งกว่านั้นเมื่อพิจารณาถึงการขานชื่อเครื่องหมาย ก็เป็นการเรียกขานชื่ออย่างเดียวกัน คือเด็กกับควายและควายกับนก เมื่อจำเลยนำมาใช้กับสินค้าประเภทเดียวกับของโจทก์ จึงมีเหตุที่ผู้ซื้ออาจหลงผิดได้ ทั้งโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายไว้ก่อน ส่วนจำเลยมาจดทีหลัง ซึ่งก็ได้เคยถูกเจ้าพนักงานยับยั้งมาก่อนแล้วครั้งหนึ่งแต่ได้ดัดแปลงจนสามารถจดทะเบียนเป็นของตนได้ อันส่อเจตนาว่าประสงค์จะเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ พิพากษากลับให้บังคับคดีตามศาลชั้นต้น