คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5544/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์และจำเลยทั้งหกทำบันทึกข้อตกลงขอรังวัดแบ่งกรรมสิทธิ์รวมต่อเจ้าพนักงานที่ดินโดยโจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4แบ่งแยกที่ดินออกไป และโจทก์ยอมรับส่วนที่เหลือจากการแบ่งแยกโดยยอมรับว่าที่ดินส่วนที่เหลือจากการแบ่งแยกเป็นกรรมสิทธิ์รวมของโจทก์ จำเลยที่ 5 และจำเลยที่ 6 เช่นนี้ การรังวัดแบ่งแยกที่ดินย่อมผูกพันโจทก์ โจทก์ จำเลยที่ 5 และจำเลยที่ 6 ย่อมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินส่วนที่เหลือ เมื่อสารบัญจดทะเบียนมิได้ระบุเนื้อที่ดินส่วนของโจทก์ไว้เป็นพิเศษ จึงต้องสันนิษฐานว่าโจทก์ จำเลยที่ 5 และจำเลยที่ 6 มีส่วนคนละเท่ากัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1357.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อ พ.ศ. 2500 โจทก์ จำเลยที่ 5 จำเลยที่ 6นายเพียง ด้วงลอย และนางจอน ท้วมเลิศ รวม 5 คน ได้จดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินตามตราจอง เลขที่ 251 ตำบลบ้านสวน อำเภอเมืองสุโขทัยจังหวัดสุโขทัย ซึ่งมีเนื้อที่ทั้งหมด 56 ไร่ 2 งาน 4 ตารางวาตามพินัยกรรมของนายแส ด้วงลอย ผู้เป็นบิดาโดยนายเพียงได้ 14 ไร่ทางด้านทิศตะวันออก นางจอนได้ 5 ไร่ 2 งาน ทางด้านทิศเหนือของนายเพียง ส่วนโจทก์ จำเลยที่ 5 และจำเลยที่ 6 ได้คนละ 12 ไร่ 1 งาน2/3 ตารางวา ทางด้านทิศตะวันตก ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2503 นายเพียงได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินเฉพาะส่วนของตน จำนวน 14 ไร่ ให้แก่จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 4 ได้เข้าครอบครองที่ดินส่วนที่ได้รับโอนจากนายเพียงตลอดมา เมื่อ พ.ศ. 2507 จำเลยที่ 5 ได้จดทะเบียนยอมให้จำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 เข้าถือกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินเฉพาะส่วนของตนดังกล่าว ซึ่งมีอยู่จำนวน 12 ไร่ 1 งาน 2/3 ตารางวา เมื่อพ.ศ. 2512 นางจอนได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินส่วนของตน จำนวน 5 ไร่2 งาน ให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ดินส่วนของโจทก์และจำเลยที่ 6 ยังอยู่คงเดิม เมื่อ พ.ศ. 2526 โจทก์มีความประสงค์จะให้เจ้าพนักงานที่ดินทำการรังวัดแบ่งแยกที่ดินในส่วนของโจทก์ แล้วแยกตราจองหรือโฉนดให้เป็นชื่อของโจทก์ให้เป็นส่วนสัด โจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยทั้งหกร่วมกันยื่นคำขอและนำเจ้าพนักงานไปทำการรังวัดแบ่งแยกที่ดินออกเป็นส่วนสัด จำเลยทั้งหกเพิกเฉย ขอให้จำเลยทั้งหกไปยื่นคำขอและนำเจ้าพนักงานที่ดินทำการรังวัดแบ่งแยกที่ดินตามตราจองเลขที่ 251เล่ม 3 หน้า 51 ตำบลบ้านสวน อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัยให้โจทก์จำนวน 12 ไร่ 1 งาน 2/3 ตารางวา แล้วจดทะเบียนแยกโฉนดหรือตราจองให้เป็นชื่อของโจทก์จนเสร็จการ ถ้าจำเลยทั้งหกหรือคนใดคนหนึ่งไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยถ้าไม่อาจจัดการตามคำขอดังกล่าวได้ ก็ให้นำที่ดินออกขายทอดตลาดแล้วเอาเงินแบ่งให้โจทก์ตามส่วนที่โจทก์ถือกรรมสิทธิ์อยู่
ระหว่างส่งหมายเรียกให้จำเลยยื่นคำให้การแก้คดี โจทก์ยื่นคำบอกกล่าวขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยที่ 5 และที่ 6 ให้การต่อสู้คดี
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 5 และจำเลยที่ 6 ไปจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินตามตราจอง เลขที่ 251 ตำบลบ้านสวน อำเภอเมืองสุโขทัยจังหวัดสุโขทัย ให้โจทก์ จำนวน 8 ไร่ 95 3/4 ตารางวา แล้วจดทะเบียนแยกโฉนดหรือตราจองให้เป็นชื่อของโจทก์จนเสร็จการ หากไม่ไปก็ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน และหากไม่อาจจัดการตามคำขอดังกล่าวได้ ก็ให้นำที่ดินเฉพาะส่วนของโจทก์ จำเลยที่ 5และจำเลยที่ 6 ออกขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งให้โจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เดิมที่ดินตามตราจองเลขที่ 251 เป็นของนายแส ด้วงลอย บิดาของโจทก์จำเลยที่ 5 จำเลยที่ 6 นายเพียง ด้วงลอย และนางจอน ท้วมเลิศ นายแสได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่บุตรทั้งห้าคน เมื่อนายแสถึงแก่ความตาย บุตรทั้งห้าคนได้ไปจดทะเบียนรับโอนมรดก ต่อมาวันที่16 กุมภาพันธ์ 2503 นายเพียงได้ขายที่ดินส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ 4 ครั้นวันที่ 18 พฤษภาคม 2507 จำเลยที่ 5 ได้ไปจดทะเบียนให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ถือกรรมสิทธิ์รวมเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 5 ต่อมาวันที่ 4 มีนาคม 2512 นางจอนได้ขายที่ดินส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ 1วันที่ 7 มกราคม 2524 โจทก์และจำเลยทั้งหกได้ทำบันทึกข้อตกลงรังวัดแบ่งกรรมสิทธิ์รวมต่อเจ้าพนักงานที่ดินตามเอกสารหมาย ล.2 ขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินตามตราจองเลขที่ 251 ครั้นวันที่ 11 กรกฎาคม 2527จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ได้จดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินส่วนของตนออกไป ที่ดินส่วนที่เหลือเนื้อที่ 24 ไร่ 2 งาน 87 6/10 ตารางวาตกเป็นกรรมสิทธิ์รวมของโจทก์ จำเลยที่ 5 และจำเลยที่ 6
ปัญหาว่า โจทก์มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในที่ดินกรรมสิทธิ์รวมเป็นจำนวนเนื้อที่เท่าใด เห็นว่า โจทก์ได้ตกลงยินยอมให้จำเลยที่ 1ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 แบ่งแยกที่ดินออกไป และโจทก์ยอมรับส่วนที่เหลือจากการแบ่งแยกโดยยอมรับว่าที่ดินส่วนที่เหลือจากการแบ่งแยกเป็นกรรมสิทธิ์รวมของโจทก์ จำเลยที่ 5 และจำเลยที่ 6 ปรากฏตามบันทึกข้อตกลงรังวัดแบ่งกรรมสิทธิ์รวม เอกสารหมาย ล.2 เมื่อโจทก์ตกลงและยอมรับดังกล่าวแล้ว การรังวัดแบ่งแยกที่ดินย่อมผูกพันโจทก์โจทก์ จำเลยที่ 5 และจำเลยที่ 6 จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินส่วนที่เหลือ เนื้อที่ 24 ไร่ 2 งาน 87 6/10 ตารางวา ตามสารบัญจดทะเบียนเอกสารหมาย ล.1 เมื่อสารบัญจดทะเบียนมิได้ระบุเนื้อที่ดินส่วนของโจทก์ไว้เป็นพิเศษ จึงต้องสันนิษฐานว่า โจทก์จำเลยที่ 5 และจำเลยที่ 6 มีส่วนคนละเท่ากัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1357
พิพากษายืน.

Share