คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 554/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นคำขอฝ่ายเดียวขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดทรัพย์ซึ่งจำเลยจะได้รับจากนายจ้างของจำเลยหากศาลเห็นว่าสิทธิเรียกร้องเป็นเงินของจำเลยดังกล่าวไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามป.วิ.พ.มาตรา286ศาลย่อมมีอำนาจปฏิเสธไม่ออกหมายบังคับคดีให้แก่โจทก์ได้ สิทธิเรียกร้องเงินค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางและค่าเช่าที่พักเป็นค่าจ้างซึ่งทางราชการจ่ายให้เป็นพิเศษนอกเหนือจากเงินเดือนและค่าจ้างจากงบประมาณรายจ่ายให้แก่ข้าราชการหรือลูกจ้างที่เดินทางไปปฏิบัติราชการชั่วคราวนอกที่ตั้งสำนักงานซึ่งปฏิบัติราชการปกติไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามป.วิ.พ.มาตรา286(2).

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจกาศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์โจทก์จึงยื่นคำร้องขอให้ออกหมายบังคับคดี ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินเบี้ยเลี้ยง ซึ่งจำเลยจะได้รับจากกองเครื่องจักรกลางดิบกรมชลประทานนายจ้างของจำเลย ศาลชั้นต้นยกคำร้องอ้างว่าเงินเบี้ยเลี้ยงดังกล่าวเป็นเงินค่าจ้างไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286 (2)อายัดไม่ได้
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าตามคำร้องของโจทก์ไม่ได้ความชัดว่าเป็นเบี้ยเลี้ยงประจำหรือเป็นค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทาง ปัญหาว่าเงินที่ดจทก์ขอให้อายัดเป็นเงินประเภทใด จำเลยเป็นผู้มีสิทธิได้รับหรือไม่เป็นข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญซึ่งศาลชั้นต้นยังมิได้พิจารณาพิพากษายกคำสั่งและคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองให้ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนและมีคำสั่งใหม่
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งว่า เงินที่โจทก์อายัดเป็นเงินค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางและค่าเช่าที่พักของจำเลยที่จำเลยมีสิทธิเบิกได้ สำหรับเบี้ยเลี้ยงเดินทางเป็นเงินที่จต่ายในการเดินทางไปราชการซึ่งมีลักษณะเพิ่มพิเศษจากค่าจ้างประจำจึงเป็นค่าจ้างตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286 (2) หาอยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีไม่ส่วนค่าเช่าที่พักเป็นเรื่องที่ทางราชการจ่ายให้จำเลยในการปฏิบัติราชการ จำเลยมิได้รับเป็นรายได้ส่วนตัว จึงไม่ใช่สิทธิเรียกร้องเป็นเงินของจำเลยไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีเช่นกัน ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าที่โจทก์ฎีกาประการแรกว่า เมื่อโจทก์ยื่นคำขอฝ่ายเดียวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 275, 276แล้ว ศาลต้องออกหมายบังคับคดีให้ทันทีเพราะตามมาตราทั้งสองไม่ได้บัญญัติไว้ให้ศาลสั่งเป็นอย่างอื่นนั้น เห็นว่า ตามคำขอฝ่ายเดียวของโจทก์ได้ระบุวิธีการบังคับคดีซึ่งขอให้ออกหมายนั้นโดยขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีอายัดเงินเบี้ยเลี้ยงเดือนละประมาณ 1,800 บาทซึ่งจำเลยจะได้รับจากกองเครื่องจักรกลงานดิน กรมชลประทานนายจ้างของจำเลยเมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่า วิธีการบังคับคดีซึ่งขอให้ออกหมายนั้นไม่ชอบดังเช่นคดีนี้ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าสิทธิเรียกร้องเป็นเงินของจำเลยตามคำขอของโจทก์นั้นไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามมาตรา 286 ก็ย่อมมีอำนาจปฏิเสธไม่ออกหมายบังคับคดีให้แก่โจทก์ได้ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์ฎีกาว่าค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางไม่ใช่ค่าจ้าง ส่วนค่าเช่าที่พักเป็นสิทธิเรียกร้องที่เป็นเงินของจำเลยจึงอยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี ศาลฎีกาเห็นว่า ตามพระราชกฤษฎีกาค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ พ.ศ. 2518 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะยื่นคำขอฝ่ายเดียวให้ศาลออกหมาบบังคับคดีนั้น มาตรา 5บัญญํติว่า “การจ่ายเงินตามงบประมาณรายจ่ายเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายตามพระราชกฤษฎีกานี้…ฯลฯ” มาตรา 6 วรรคแรกบัญญัติว่า “ผู้เดินทางไปราชการซึ่งเป็นข้าราชการหรือลูกจ้าง ซึ่งรับเงินเดือนหรือค่าจ้างจากงบประมาณรายจ่ายให้เบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการได้ตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกานี้” มาตรา 8 บัญญัติว่า “การเดินทางไปราชการในราชอาณาจักร ได้แก่ (1) การเดินทางไปปฏิบัติราชการชั่วคราวนอกที่ตั้งสำนักงานซึ่งปฏิบัติราชการปกติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา หรือตามหน้าที่ที่ปฏิบัติราชการโดยปกติ…ฯลฯ”มาตรา 9 บัญญัติว่า “ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการในราชอาณาจักรได้แก่ (1) ค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทาง (2) ค่าเช่าที่พัก…ฯลฯ”มาตรา 10 บัญญัติว่า “ค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางให้เบิกได้ตามอัตราในบัญชี 1 ท้ายพระราชกฤษฎีกานี้” มาตรา 13 บัญญัติว่า “การเดินทางไปราชการวันใดที่จำเป็นต้องพักแรม…ให้เบิกค่าเช่าที่พักเหมาจ่ายได้ตามอัตราดังนี้…ฯลฯ” ตามบทบัญญัติดังกล่าวค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางและค่าเช่าที่พัก็คือค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่ทางราชการจ่ายให้แก่ข้าราชการหรือลูกจ้างที่ได้รับคำสั่งของผู้บังคับบัญชาให้เดินทางไปปฏิบัติราชการชั่วคราวนอกที่ตั้งสำนักงานซึ่งปฏิบัติราชการปกติตามอัตราซึ่งเหมาะสมกับสภาพการณ์ในขณะใช้พระราชกฤษฎีกานั้น ถือได้ว่าสิทธิเรียกร้องเงินค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางและค่าเช่าที่พักเป็นค่าจ้างซึ่งทางราชการจ่ายให้เป็นพิเศษนอกเหนือจากเงินเดือนและค่าจ้างจากงบประมาณรายจ่ายให้แก่ข้าราชการหรือลูกจ้างที่เดินทางไปปฏิบัติราชการชั่วคราวนอกที่ตั้งสำนักงานซึ่งปฏิบัติราชการปกติจึงไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตาม มาตรา 286 (2) โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีอายัดเงินค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางและค่าเช่าที่พักเดือนละ 1,800 บาทซึ่งจำเลยจะได้รับจากกองเครื่องจักรกลงานดิน กรมชลประทานนายจ้างของจำเลยได้
พิพากษายืน.

Share