คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5531/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องสรุปได้ว่า จำเลยรู้ว่า ย. กับพวกรวม 14 คน ซึ่งเป็นคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชาเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ให้เข้าพักอาศัย ซ่อนเร้น และช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวนั้นพ้นจากการจับกุม ต่อมาจำเลยรับคนต่างด้าวดังกล่าวซึ่งไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงานเป็นกรรมกรที่โครงการก่อสร้างหมู่บ้าน พ. ซึ่งเป็นงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำโดยเด็ดขาด โดยโจทก์หาได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยช่วยคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายด้วยการรับคนต่างด้าวนั้นให้เข้าทำงานเป็นกรรมกรที่โครงการก่อสร้างหมู่บ้าน พ. เพียงประการเดียวเท่านั้นไม่ แต่ตามฟ้องกลับแสดงให้เห็นว่าจำเลยได้ช่วยด้วยประการอื่น ๆ อีก เพื่อให้คนต่างด้าวนั้นพ้นจากการจับกุมนอกจากการรับเข้าทำงาน ตามฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจึงแยกเจตนาของจำเลยในการกระทำความผิดได้อย่างชัดเจน การกระทำความผิดของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มี พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 ฉบับใหม่ประกาศใช้บังคับแทนฉบับเดิม (พ.ศ.2521) ซึ่งบทความผิดฐานรับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงานนั้นได้บัญญัติไว้ในมาตรา 27 ส่วนบทกำหนดโทษสำหรับความผิดฐานดังกล่าวได้บัญญัติไว้ในมาตรา 54 โดยมาตรา 54 บัญญัติว่า “ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 27 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทและถ้าคนต่างด้าวนั้นไม่มีใบอนุญาต ผู้กระทำต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน” เห็นได้ว่าอัตราโทษตามกฎหมายใหม่ดังกล่าวมีเพียงโทษปรับเท่านั้น มิได้มีโทษถึงจำคุกดั่งที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 39 แห่ง พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 เช่นนี้ กฎหมายที่บัญญัติในภายหลังเกี่ยวกับโทษจำคุกจึงเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า แต่โทษปรับตามกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดเป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยไม่ว่าในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2548 เวลากลางวัน จำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันคือ จำเลยรู้อยู่แล้วว่านายยอด ไม่มีชื่อสกุล กับพวกรวม 14 คน ซึ่งเป็นคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชาเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ให้เข้าพักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใดๆ เพื่อให้คนต่างด้าวดังกล่าวพ้นจากการจับกุม ต่อมาจำเลยรับคนต่างด้าวดังกล่าวซึ่งไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงานเป็นกรรมกรที่โครงการก่อสร้างหมู่บ้านพูนสุข ซึ่งเป็นงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำโดยเด็ดขาด อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 มาตรา 22, 39
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 มาตรา 22, 39 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานให้คนต่างด้าวเข้าพักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุม จำคุก 6 เดือน ฐานรับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงาน จำคุก 3 เดือน รวมจำคุก 9 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 4 เดือน 15 วัน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า ความผิดฐานให้เข้าพักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุมและฐานรับคนต่างด้าวเข้าทำงาน เป็นความผิดกรรมเดียวไม่ใช่ความผิดหลายกรรมต่างกันนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องสรุปได้ว่า จำเลยรู้ว่านายยอด ไม่มีชื่อสกุลกับพวกรวม 14 คน ซึ่งเป็นคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชาเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ให้เข้าพักอาศัย ซ่อนเร้น และช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวนั้นพ้นจากการจับกุม ต่อมาจำเลยรับคนต่างด้าวดังกล่าวซึ่งไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงานเป็นกรรมกรที่โครงการก่อสร้างหมู่บ้านพูนสุข ซึ่งเป็นงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำโดยเด็ดขาด โดยโจทก์หาได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยช่วยคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายด้วยการรับคนต่างด้าวนั้นให้เข้าทำงานเป็นกรรมกรที่โครงการก่อสร้างหมู่บ้านพูนสุขเพียงประการเดียวเท่านั้นไม่ แต่ตามฟ้องกลับแสดงให้เห็นว่าจำเลยได้ช่วยด้วยประการอื่น ๆ อีกเพื่อให้คนต่างด้าวนั้นพ้นจากการจับกุมนอกจากการรับเข้าทำงานตามฟ้องของโจทก์ดังกล่าว จึงแยกเจตนาของจำเลยในการกระทำความผิดได้อย่างชัดเจน การกระทำความผิดของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน หาใช่เป็นกรรมเดียวดังที่จำเลยฎีกาไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาขอให้ศาลฎีการอการลงโทษจำคุกสำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ให้แก่จำเลยนั้น เห็นว่า แม้ฎีกาข้อนี้ของจำเลยจะเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายมาด้วย ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยกำหนดโทษจำเลยให้เหมาะสมกับความผิดนั้นได้ คนต่างด้าวที่จำเลยกระทำความผิดคดีนี้มีเพียง 14 คน ซึ่งเป็นจำนวนไม่มากนัก ประกอบกับจำเลยรับคนต่างด้าวดังกล่าวเข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยเพื่อทำงานเป็นกรรมการก่อสร้างเท่านั้น ตามพฤติการณ์แห่งคดีจึงไม่ร้ายแรงมากนัก ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยกระทำความผิดอาญาและได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยสักครั้งหนึ่ง เพื่อให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีซึ่งน่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยและสังคมส่วนรวมมากกว่าที่จะจำคุกไปเสียเลยทีเดียว ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น อย่างไรก็ตาม เพื่อให้จำเลยหลาบจำและป้องกันมิให้จำเลยกระทำความผิดอีก สมควรลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่ง และกำหนดเงื่อนไขคุมความประพฤติของจำเลยไว้ด้วย
อนึ่ง ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มีพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 ฉบับใหม่ประกาศใช้บังคับแทนฉบับเดิม (พ.ศ.2521) ตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2551 แล้ว ซึ่งบทความผิดฐานรับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงานนั้นได้บัญญัติไว้ในมาตรา 27 ส่วนบทกำหนดโทษสำหรับความผิดฐานดังกล่าวได้บัญญัติไว้ในมาตรา 54 โดยมาตรา 54 บัญญัติว่า “ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 27 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท และถ้าคนต่างด้าวนั้นไม่มีใบอนุญาต ผู้กระทำต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน” เห็นได้ว่าอัตราโทษตามกฎหมายใหม่ดังกล่าวมีเพียงโทษปรับเท่านั้น มิได้มีโทษถึงจำคุกดั่งที่บัญญัติไว้ในมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 เช่นนี้ กฎหมายที่บัญญัติในภายหลังเกี่ยวกับโทษจำคุกจึงเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า แต่โทษปรับตามกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดเป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยไม่ว่าในทางใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 โดยมิได้ระบุวรรคมาด้วยก็ไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องเสียด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 27 (ที่แก้ไขใหม่), 54 (ที่แก้ไขใหม่) ฐานให้คนต่างด้าวเข้าพักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้พ้นจากการจับกุม ลงโทษจำคุก 6 เดือน และปรับ 50,000 บาท ฐานรับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงาน ลงโทษปรับ 50,000 บาท รวมจำคุก 6 เดือน และปรับ 100,000 บาท ลดโทษกึ่งหนึ่งแล้วคงจำคุก 3 เดือน และปรับ 50,000 บาท รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยมีกำหนด 2 ปี คุมความประพฤติของจำเลยไว้ 2 ปี นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ 3 ครั้ง ตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร และให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควร มีกำหนด 20 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share