คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6673/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 โอนที่ดินให้แก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 โดยรู้อยู่แล้วว่าโจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้และจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีทรัพย์สินเหลืออยู่ไม่พอที่จะชำระหนี้ให้โจทก์ได้ เป็นการกระทำเพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของตนได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วน จึงมีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็รู้อยู่แล้วเช่นเดียวกันว่าโจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระหนี้รับโอนที่ดินจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีความผิดฐานเป็นตัวการเช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 สิทธิที่จะบังคับชำระหนี้จะหมดไปหรือไม่ ไม่ใช่องค์ประกอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 หากฟังได้ว่าจำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันกระทำเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งเจ้าหนี้ได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ก็เป็นการกระทำการดังที่กล่าวไว้ในมาตรานี้แล้วจำเลยทั้งสี่จึงต้องมีความผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350, 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตายศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350, 83 ให้จำคุกคนละ 1 ปี
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4มีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้นั้น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350บัญญัติว่า “ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้นหรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี ฯลฯ” จากข้อเท็จจริงที่โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 และให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 คืนเงินมัดจำพร้อมเบี้ยปรับรวมเป็นเงิน7,020,000 บาท ให้แก่โจทก์ภายใน 7 วัน มิฉะนั้นโจทก์จะดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญา ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ว แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 รู้แล้วว่าโจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระหนี้ดังกล่าว การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 โอนที่ดินให้แก่จำเลยที่ 3และที่ 4 โดยที่โจทก์กล่าวในฟ้องและนำสืบว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2มีทรัพย์สินที่เหลืออยู่ไม่พอที่จะชำระหนี้จำนวน 7,020,000 บาทซึ่งฝ่ายจำเลยทั้งสี่ก็ไม่ได้นำสืบว่ามีทรัพย์อื่นพอที่จะชำระหนี้โจทก์ได้ เช่นนี้ ก็ต้องฟังว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำเพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของตนได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนจึงมีความผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ 3และที่ 4 ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็รู้อยู่แล้วเช่นเดียวกันว่าโจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยที่ 1 และที่ 2ชำระหนี้ดังกล่าว และจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีทรัพย์สินอื่นพอที่จะชำระหนี้โจทก์ได้ การที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 รับโอนที่ดินจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 เช่นนี้ก็ต้องฟังว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4ได้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีความผิดในฐานเป็นตัวการเช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ส่วนที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์อาจจะไม่เสียสิทธิในอันที่จะบังคับชำระหนี้ เพราะหากจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีทรัพย์ไม่พอชำระหนี้โจทก์ ทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 โอนให้แก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ไป โจทก์ชอบที่จะบังคับคดีเอาจากจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้อีก เนื่องจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีแพ่งแล้วนั้น เห็นว่า สิทธิที่จะบังคับชำระหนี้จะหมดไปหรือไม่ ไม่ใช่องค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 350 หากฟังได้ว่าจำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันกระทำเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งเจ้าหนี้ได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ก็เป็นการกระทำการดังที่กล่าวไว้ในมาตรานี้แล้ว จำเลยทั้งสี่ก็ต้องมีความผิด หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งกฎหมายมุ่งถึงเจตนาของลูกหนี้ที่จะโกงเจ้าหนี้ โดยรู้อยู่ว่าเจ้าหนี้ได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้อยู่แล้ว ไม่เกี่ยวกับปัญหาว่าสิทธิการบังคับคดีจะยังมีอยู่หรือไม่ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350, 83 ลงโทษจำคุกคนละ 1 ปีสำหรับจำเลยที่ 2 มีอายุ 78 ปีแล้ว เห็นควรให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 และให้ปรับ 4,000 บาทไม่ชำระค่าปรับบังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30

Share