คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5703/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างกับบริษัท ส. ซึ่งโจทก์เป็นกรรมการตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ต่อมาบริษัท ส. โจทก์และจำเลยได้ทำบันทึกการโอนสิทธิเรียกร้อง โดยบริษัท ส. โอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยให้แก่โจทก์ และจำเลยได้สั่งจ่ายเช็คธนาคาร ก. สาขาประตูน้ำปทุมวัน ทั้ง 12 ฉบับ เมื่อเช็คถึงกำหนดและโจทก์นำไปเรียกเก็บเงินแล้วธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คและใบคืนเช็ค การที่จำเลยได้ยกข้อต่อสู้เรื่องอายุความเป็นประเด็นโดยจำเลยให้การเพียงว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเรียกร้องเพราะโจทก์ฟ้องคดีเกินกว่าสองปี ไม่มีรายละเอียดว่าคดีเริ่มนับอายุความเมื่อใด ขาดอายุความเมื่อใด เหตุใดจึงขาดอายุความ เป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้งตาม ป.วิ.พ.มาตรา 177 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 340,440 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 328,200 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 328,200 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 27,350 บาท นับแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2541 นับแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2541 นับแต่วันที่ 30 กันยายน 2541 นับแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2541 นับแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2541 นับแต่วันที่ 4 มกราคม 2542 นับแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2542 นับแต่วันที่ 2 มีนาคม 2542 นับแต่วันที่ 31 มีนาคม 2542 นับแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2542 นับแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2542 และนับแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกินจำนวน 12,240 บาท และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ 8,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 100,500 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 29 กรกฎาคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีในศาลอุทธรณ์รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติได้ในเบื้องต้นว่า เดิมจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างกับบริษัทสวนใหญ่บ้านและที่ดิน จำกัด ซึ่งโจทก์เป็นกรรมการตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ต่อมา บริษัทสวนใหญ่บ้านและที่ดิน จำกัด โจทก์และจำเลยได้ทำบันทึกการโอนสิทธิเรียกร้อง โดยบริษัทสวนใหญ่บ้านและที่ดิน จำกัด โอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยให้แก่โจทก์ และจำเลยได้สั่งจ่ายเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาประตูน้ำปทุมวัน ทั้ง 12 ฉบับ ตามฟ้องให้โจทก์ เมื่อเช็คถึงกำหนดและโจทก์นำไปเรียกเก็บเงินแล้ว ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คและใบคืนเช็ค
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใด พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยโดยโจทก์ไม่ฎีกาโต้แย้งฟังได้ว่า เช็คพิพาททั้ง 12 ฉบับ จำเลยออกให้เพื่อประกันการซ่อมบ้านกับบริษัทสวนใหญ่บ้านและที่ดิน จำกัด และโจทก์ และเมื่อได้ความว่าบ้านมีความเสียหายต้องซ่อมแซมแต่โจทก์ไม่ซ่อมแซมให้จึงต้องนำเงินค่าซ่อมแซมไปหักจากยอดเงินตามเช็ค โดยยอดเงินตามเช็คทั้ง 12 ฉบับ เป็นจำนวน 328,200 บาท หักด้วยค่าซ่อมแซม 227,700 บาท จำเลยจึงต้องชำระให้โจทก์ 100,500 บาท จำเลยฎีกาว่า ต้องนำค่าซ่อมแซมไปหักจากยอดเงิน 290,000 บาท ไม่ใช่ 328,200 บาท เห็นว่า ได้ความตามทางนำสืบของโจทก์และจำเลยตรงกันว่ายอดเงินที่ค้างชำระอยู่และจำเลยยึดไว้เป็นประกันนั้นมีเพียง 290,000 บาท เท่านั้น ส่วนที่เกินไปนั้นเป็นดอกเบี้ย ฉะนั้นจึงต้องนำค่าซ่อมแซมไปหักออกจากเงิน 290,000 บาท คงเหลือที่จำเลยค้างชำระเพียง 62,300 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยได้ยกข้อต่อสู้เรื่องอายุความเป็นประเด็นพิพาทหรือไม่ เห็นว่า จำเลยให้การเพียงว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเรียกร้องเพราะโจทก์ฟ้องคดีเกินกว่าสองปี ไม่มีรายละเอียดว่าคดีเริ่มนับอายุความเมื่อใด ขาดอายุความเมื่อใด เหตุใดจึงขาดอายุความ เป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยให้ชอบแล้วฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาอื่นไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 62,300 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share