คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5526/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนังสือสัญญาเอกสารท้ายฟ้องที่จำเลยได้ทำกับ ร.มีข้อความระบุว่าตกลงแลกเปลี่ยนที่ดินกัน โดยที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์รวมของ ร.และบิดาจำเลย เนื่องจากบิดาจำเลยถึงแก่กรรม จำเลยจะขอรับมรดกที่พิพาทส่วนของบิดา เมื่อได้รับ มรดกที่พิพาทหนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว จำเลยยอมโอนกรรมสิทธิ์ ที่พิพาทส่วนของบิดาที่รับมรดกเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ ให้แก่ ร.ส่วนร. จะโอนที่ดิน 3 แปลง ให้แก่จำเลยต่อมามีการบันทึกเพิ่มเติมว่า จำเลยได้รับ ส.ค.1 ที่เชิงทะเลไปแล้ว จำเลยจะโอนที่พิพาทให้แก่พวกลูก ร.เมื่อถึงเวลาพวกลูกของ ร.ต้องการ จำเลยจะโอนให้ทันที ดังนี้เมื่อขณะทำสัญญาที่ดินพิพาทยังมีชื่อบิดาจำเลย เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดอยู่ ทั้งสัญญาระบุไว้ชัดเจนว่าจำเลยจะโอนกรรมสิทธิ์ให้เมื่อรับโอนมรดกแล้วข้อตกลงตามสัญญา จึงเป็นสัญญาจะแลกเปลี่ยนที่ดินซึ่งมีหลักฐานเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อฝ่ายจำเลยผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ ต้องด้วย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 519 ประกอบมาตรา 456 วรรคสอง โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันของ ร. ย่อมมีสิทธิฟ้องร้องบังคับเอาแก่จำเลยได้ ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาคดีถึงที่สุดแล้วว่า จำเลยได้รับที่ดินของ ร. ตามสัญญาครบถ้วนแล้ว จำเลยไม่มีสิทธิเรียกให้แบ่งที่พิพาท จำเลยมีหน้าที่ต้องโอนส่วนของจำเลยในโฉนดที่พิพาทให้โจทก์ เมื่อจำเลยเป็นคู่ความในคดีดังกล่าว จึงต้องผูกพันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 145 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงต้องโอนที่พิพาทให้โจทก์ทั้งสอง ในฐานะผู้จัดการมรดกร่วมกันของ ร.

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันของนายร่วง มณีศรี เดิมนายร่วงกับจำเลยถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินโฉนดเลขที่ 2052 ต่อมาวันที่ 7 มีนาคม 2510 นายร่วงทำสัญญาแลกเปลี่ยนที่ดินกับจำเลยโดยนายร่วงจะได้ที่ดินโฉนดเลขที่ 2052 ทั้งแปลง ฝ่ายจำเลยจะได้ที่ดินของนายร่วง ซึ่งอยู่ที่บ้านบางเทาไปทั้งหมดตามหนังสือสัญญาเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3หลังจากนั้นนายร่วงเข้าครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 2052ครั้นนายร่วงถึงแก่กรรม โจทก์ทั้งสองและทายาทของนายร่วงได้ครอบครองที่ดินต่อมา ส่วนจำเลยครอบครองที่ดินของนายร่วงที่บ้านบางเทา และได้รับเอกสารเกี่ยวกับที่ดินไปแล้ว แต่จำเลยไม่ยอมจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 2052 ส่วนของจำเลยให้แก่โจทก์ทั้งสอง ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 2052ส่วนของจำเลยให้แก่โจทก์ทั้งสอง หากไม่ไปโอนให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนกับให้จำเลยเสียค่าธรรมเนียมในการโอนค่าภาษี ค่าใช้จ่าย หรือค่าอื่นใดที่ทางสำนักงานที่ดินเรียกเก็บกึ่งหนึ่ง
จำเลยให้การว่า ที่ดิน 1 ใน 3 แปลง ที่นายร่วงนำมาแลกเปลี่ยนกับจำเลย คือที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 321 นายร่วงได้นำไปขายให้แก่กระทรวงเกษตราธิการ ตั้งแต่ปี 2465 จำเลยสำคัญผิดว่าที่ดินยังเป็นของนายร่วง อยู่ สัญญาแลกเปลี่ยนที่ดินจึงเป็นโมฆะ จำเลยเพิ่งทราบความจริงเมื่อได้รับ ส.ค.1 จากโจทก์ในปี 2525 ภายหลังนายร่วงถึงแก่กรรม หลังจากนั้นจำเลยได้บอกเลิกสัญญาแลกเปลี่ยนที่ดินกับโจทก์ และในปี 2531 โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทแทนการฟ้องขอให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาแลกเปลี่ยนที่ดินโจทก์จึงไม่อาจฟ้องขอให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาแลกเปลี่ยนที่ดินได้อีกขอให้ยกฟ้อง
ก่อนสืบพยาน โจทก์ทั้งสองและจำเลยต่างแถลงไม่สืบพยานโดยขออ้างถ้อยคำสำนวนและเอกสารในสำนวนคดีแพ่งของศาลชั้นต้นคดีหมายเลขแดงที่ 427/2531, 192/2532 และ 943/2538 เป็นพยานประกอบการพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 2052ส่วนของจำเลยให้โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของนายร่วง มณีศรี หากจำเลยไม่ไปโอนให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนและให้จำเลย ชำระค่าธรรมเนียมในการโอนกึ่งหนึ่ง คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยฎีกาว่า นิติกรรมแลกเปลี่ยนที่ดินตกเป็นโมฆะ เพราะมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยมีสิทธิฎีกาได้นั้น ศาลพิเคราะห์หนังสือสัญญาเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 ซึ่งจำเลยรับว่าเป็นสัญญาที่จำเลยได้ทำกับนายร่วงนั้น มีข้อความระบุว่าตกลงแลกเปลี่ยนที่ดินกันโดยที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์รวมของนายร่วงและบิดาจำเลย เนื่องจากบิดาจำเลยถึงแก่กรรม จำเลยจะขอรับมรดกที่พิพาทส่วนของบิดาเมื่อได้รับมรดกที่พิพาทนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว จำเลยยอมโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทส่วนของบิดาที่รับมรดกเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ให้แก่นายร่วง ส่วนนายร่วงจะโอนที่ดิน 3 แปลง ให้แก่จำเลยต่อมามีการบันทึกเพิ่มเติมว่า จำเลยได้รับ ส.ค.1 ที่เชิงทะเลไปแล้วจำเลยจะโอนที่พิพาทให้แก่พวกลูกนายร่วง เมื่อถึงเวลาพวกลูกนายร่วงต้องการจำเลยจะโอนให้ทันที เห็นว่า ขณะทำสัญญาที่ดินยังมีชื่อบิดาจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดอยู่ ทั้งสัญญาระบุไว้ชัดเจนว่า จำเลยจะโอนกรรมสิทธิ์ให้เมื่อรับโอนมรดกแล้ว ดังนั้นข้อตกลงตามสัญญาจึงเป็นสัญญาจะแลกเปลี่ยนที่ดินซึ่งมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายจำเลยผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 519 ประกอบมาตรา 456 วรรคสอง โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันของนายร่วง มีสิทธิฟ้องร้องบังคับเอาแก่จำเลยได้ไม่ตกเป็นโมฆะ
จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายว่า คำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 192/2532 ไม่ผูกพันจำเลย ศาลควรรับฟังพยานหลักฐานในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 943/2538 ประกอบการวินิจฉัย ปัญหาในคดีนี้เห็นว่าศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้พิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 192/2532ซึ่งถึงที่สุดแล้วว่า จำเลยได้รับที่ดินตำบลเชิงทะเลของนายร่วงตามสัญญาครบถ้วนแล้ว จำเลยไม่มีสิทธิเรียกให้แบ่งที่พิพาท จำเลยมีหน้าที่ต้องโอนส่วนของจำเลยในโฉนดเลขที่ 2052 ซึ่งเป็นที่พิพาทให้โจทก์ เมื่อจำเลยเป็นคู่ความในคดีดังกล่าว จึงต้องผูกพันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ฉะนั้นจำเลยจึงต้องโอนที่พิพาทให้โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จัดการร่วมกันของนายร่วง
พิพากษายืน

Share