แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ค่าเสียหายที่โจทก์ผู้รับประกันภัยชำระแก่องค์การคลังสินค้าตามสัญญาประกันภัยทางทะเลในการขนส่งระหว่างประเทศจำนวน 2,916,850.29 บาท สำหรับปูนซีเมนต์ที่เสียหายเพราะถุงแตกน้ำหนัก 1,769.30 เมตริกตันเป็นค่าเสียหายเฉพาะความเสียหายกรณีปูนซีเมนต์ที่ถุงแตกจำนวน 41,574 ถุง น้ำหนัก 1,769.30 เมตริกตัน โจทก์จึงได้รับช่วงสิทธิจากองค์การคลังสินค้าเฉพาะในส่วน ที่เกี่ยวกับปูนซีเมนต์ที่เสียหายเพราะถุงแตกจำนวน41,574 ถุง เท่านั้น โจทก์หาได้รับช่วงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากความเสียหายสำหรับกรณีปูนซีเมนต์แปรสภาพแข็งตัวจำนวน 1,372 ถุง และปูนซีเมนต์ขาดหายอีก 16 ถุง มาด้วย ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องสำหรับหนี้ความเสียหายตามฟ้องในกรณีปูนซีเมนต์แปรสภาพแข็งตัวและขาดหายจำนวนดังกล่าว ซึ่งปัญหาในเรื่องอำนาจฟ้องนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)ประกอบด้วยมาตรา 246 และ 247 ปูนซีเมนต์ที่เสียหายเพราะถุงแตกเกิดขึ้นระหว่างที่จำเลยที่ 3 ผู้ขนส่งทำหน้าที่ขนถ่ายปูนซีเมนต์จากเรือช.ไปยังคลังสินค้าขององค์การคลังสินค้าจำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดชำระค่าเสียหายจากการกระทำของตนดังกล่าว ปัญหาที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยสินค้าจากองค์การคลังสินค้าตามสัญญาประกันภัยทางทะเลในการขนส่งระหว่างประเทศไม่มีผลผูกพันถึงการขนส่งของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นการขนส่งภายในประเทศนั้นจำเลยที่ 3 ไม่ได้ให้การต่อสู้ในปัญหานี้ จึงไม่มีประเด็นข้อพิพาท ฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อนี้จึงเป็นฎีกาในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วยมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ แม้ตามปกติผู้ขนส่งต้องผูกพันและรับผิดตามสัญญารับขน ปูนซีเมนต์พิพาทหากปูนซีเมนต์ดังกล่าวสูญหายหรือบุบสลาย ในระหว่างการขนส่งจนกว่าปูนซีเมนต์จะได้ส่งถึง กรุงเทพมหานครเมืองท่าปลายทาง โดยผู้ขนส่งต้องมีหน้าที่ ขนถ่ายปูนซีเมนต์ขึ้นจากเรือเพื่อส่งมอบให้แก่ผู้รับขนส่ง ก็ ตาม แต่ก็อาจมีการตกลงในสัญญารับขนเป็นประการอื่น กล่าวคือ ตกลงให้ผู้รับตราส่งมีหน้าที่ขนถ่ายสินค้าขึ้น จากเรือดังกล่าวก็ได้เมื่อปรากฏว่าสัญญารับขนปูนซีเมนต์ รายพิพาทนี้มีข้อตกลงกันด้วยว่าให้ผู้รับตราส่งคือ องค์การคลังสินค้าเป็นผู้มีหน้าที่ขนถ่ายปูนซีเมนต์ ขึ้นจากเรือ และโจทก์กล่าวอ้างว่าความเสียหายตามฟ้องในส่วนปูนซีเมนต์ถุงแตกเกิดขึ้นจากการกระทำของจำเลยที่ 3 ในการขนถ่ายปูนซีเมนต์ จึงเป็นกรณี ที่ความเสียหายเพราะปูนซีเมนต์ถุงแตกนี้เกิดขึ้น ในระหว่างการทำหน้าที่ของจำเลยที่ 3 อันอยู่ในความรับผิดชอบขององค์การคลังสินค้าเองตามที่มีการตกลงกันไว้ในสัญญารับขนว่าให้องค์การคลังสินค้าผู้รับตราส่ง เป็นผู้มีหน้าที่ขนถ่ายปูนซีเมนต์ขึ้นจากเรือ ถือไม่ได้ว่าเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นในระหว่างที่อยู่ในหน้าที่และความรับผิด ชอบ ของจำเลยที่ 2 แม้จำเลยที่ 2 จะเป็นผู้ขนส่งตามสัญญา รับขนดังกล่าว จำเลยที่ 2 ก็หาต้องรับผิดต่อ องค์การคลังสินค้าในความเสียหายนี้ไม่ จำเลยที่ 2จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้รับประกันภัยการขนส่งปูนซีเมนต์รายพิพาทจากองค์การคลังสินค้าเช่นกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันใช้เงินจำนวน 29,121.59 บาท รวมเป็นเงิน 1,800,680.18 บาทแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดในต้นเงินจำนวน113,601.60 บาท กับดอกเบี้ยเป็นเงิน 1,867.42 บาทรวมเป็นจำนวน 115,469.02 บาท ให้จำเลยทั้งสี่ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินที่ต้องรับผิดนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น
จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3ร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,771,558.89 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่า โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยสินค้าต่อองค์การคลังสินค้าได้รับช่วงสิทธิจากองค์การคลังสินค้ามาเรียกร้องจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในค่าเสียหายส่วนใดบ้าง ในข้อนี้โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับความเสียหายของปูนซีเมนต์รวมทั้งสิ้น 2,189.30 เมตริกตัน ซึ่งความเสียหายดังกล่าวนี้แยกได้เป็น 3 ส่วน ซึ่งน้ำหนักดังกล่าวตรงกับน้ำหนักปูนซีเมนต์ทั้งหมดที่โจทก์อ้างว่าเสียหายตามฟ้อง ปรากฏว่าโจทก์ชำระค่าเสียหายแก่องค์การคลังสินค้าผู้เอาประกันภัยเป็นเงิน 2,916,850.29 บาท สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับปูนซีเมนต์จำนวน 1,769.30 เมตริกตัน หรือเมตริกตันละ1,648.59 บาท ซึ่งเป็นอัตราเช่นเดียวกันกับอัตราที่โจทก์รับประกันภัยไว้ดังกล่าว ทั้งยังได้ระบุความเสียหายของปูนซีเมนต์ดังกล่าวเกิดเนื่องจากน้ำหนักขาดหายเพราะถุงแตกและปูนซีเมนต์มีสิ่งสกปรกปนเปื้อนรายละเอียดปรากฏตามใบรับความสูญเสียและรับช่วงสิทธิเอกสารท้ายฟ้องซึ่งตรงกับเอกสารหมาย จ.22พร้อมคำแปล ที่โจทก์อ้างส่งเป็นพยานหลักฐานในชั้นพิจารณาและตามรายงานการสำรวจความเสียหายเอกสารหมาย จ.23ระบุรายละเอียดปูนซีเมนต์ที่เสียหายไว้หลายรายการ แต่เฉพาะกรณีปูนซีเมนต์ที่ถุงแตกระบุไว้ว่าสำรวจพบจำนวน 41,574 ถุงหนัก 1,769,497 กิโลกรัม หรือ 1,769.497 เมตริกตัน เท่านั้นซึ่งน่าจะเป็นน้ำหนักรวมทั้งถุงด้วย ดังนี้ แสดงว่าค่าเสียหายที่โจทก์ชำระแก่องค์การคลังสินค้าจำนวน 2,916,850.29 บาท สำหรับปูนซีเมนต์ที่เสียหายเพราะถุงแตกน้ำหนัก 1,769.30 เมตริกตันตามเอกสารหมาย จ.22 ดังกล่าว เป็นค่าเสียหายเฉพาะความเสียหายกรณีปูนซีเมนต์ที่ถุงแตกจำนวน 41,574 ถุง น้ำหนัก 1,769.30 เมตริกตัน โจทก์จึงได้รับช่วงสิทธิจากองค์การคลังสินค้าเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับปูนซีเมนต์ที่เสียหายเพราะถุงแตกจำนวน 41,574 ถุง เท่านั้นโจทก์หาได้รับช่วงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากความเสียหายสำหรับกรณีปูนซีเมนต์แปรสภาพแข็งตัวจำนวน 1,372 ถุง และปูนซีเมนต์ขาดหายอีก 16 ถุง มาด้วย ดังนั้นโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องสำหรับหนี้ความเสียหายตามฟ้องในกรณีปูนซีเมนต์แปรสภาพแข็งตัวและขาดหายจำนวนดังกล่าว ซึ่งปัญหาในเรื่องอำนาจฟ้องนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบด้วย มาตรา 246 และ 247 คดีจึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยเฉพาะข้อพิพาทเกี่ยวกับปูนซีเมนต์ที่เสียหายเพราะถุงแตกจำนวน 41,574 ถุงเท่านั้น
ปัญหาต่อไปศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดในความเสียหายกรณีปูนซีเมนต์ถุงแตกเสียหายจำนวน 41,574 ถุง หรือไม่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ปูนซีเมนต์ที่เสียหายเพราะถุงแตกจำนวน41,574 ถุง ดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างการที่จำเลยที่ 3 ทำหน้าที่ขนถ่ายปูนซีเมนต์จากเรือเช่ายางไปยังคลังสินค้าขององค์การคลังสินค้าจำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดชำระค่าเสียหายจากการกระทำของตนดังกล่าว และปรากฏว่าความเสียหายเพราะปูนซีเมนต์ถุงแตก41,574 ถุง น้ำหนัก 1,769.30 เมตริกตัน ดังกล่าวนี้โจทก์ได้ชำระค่าเสียหายให้แก่องค์การคลังสินค้าผู้เอาประกันภัยเป็นเงิน2,916,850.29 บาท หักจำนวนเงินที่ขายซากปูนซีเมนต์จำนวน 1,145,291.40 บาท แล้วคงเหลือค่าเสียหายที่จำเลยที่ 3ต้องรับผิดจำนวน 1,771,558.89 บาท
ส่วนที่จำเลยที่ 3 ฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยสินค้าจากองค์การคลังสินค้าตามสัญญาประกันภัยทางทะเลในการขนส่งระหว่างประเทศไม่มีผลผูกพันถึงการขนส่งของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นการขนส่งภายในประเทศนั้นจำเลยที่ 3ไม่ได้ให้การต่อสู้ในปัญหานี้ จึงไม่มีประเด็นข้อพิพาท ฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อนี้จึงเป็นฎีกาในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 2ว่าจำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดในความเสียหายของปูนซีเมนต์ที่ถุงแตกจำนวน 41,574 ถุง ด้วยหรือไม่ เห็นว่าแม้ตามปกติผู้ขนส่งต้องผูกพันและรับผิดตามสัญญารับขนปูนซีเมนต์พิพาท หากปูนซีเมนต์ดังกล่าวสูญหายหรือบุบสลายในระหว่างการขนส่งจนกว่าปูนซีเมนต์จะได้ส่งถึงกรุงเทพมหานครเมืองท่าปลายทางโดยผู้ขนส่งต้องมีหน้าที่ขนถ่ายปูนซีเมนต์ขึ้นจากเรือเพื่อส่งมอบให้แก่ผู้รับตราส่งก็ตาม แต่ก็อาจมีการตกลงในสัญญารับขนเป็นประการอื่น กล่าวคือ ตกลงให้ผู้รับตราส่งมีหน้าที่ขนถ่ายสินค้าขึ้นจากเรือดังกล่าวก็ได้ ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ออกใบตราส่งตามเอกสารหมาย จ.21 อันถือว่าเป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนรายนี้มีข้อความระบุว่า ชำระค่าระวางล่วงหน้าแล้ว กับมีคำว่าฟรีเอาท์ (FREE OUT) ซึ่งจำเลยที่ 2 นำสืบว่าข้อความดังกล่าวมีความหมายว่านอกจากค่าระวางเรือแล้วผู้ซื้อสินค้าจะต้องรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายอื่นทั้งหมดรวมทั้งค่าขนถ่ายสินค้าด้วย โดยโจทก์ไม่ได้นำสืบโต้แย้งเป็นอย่างอื่น ทั้งปรากฏว่าในการที่องค์การคลังสินค้าทำสัญญาซื้อปูนซีเมนต์กับจำเลยที่ 4 เมื่อวันที่7 มีนาคม 2533 ตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย ล.2 อันเป็นมูลเหตุให้มีการขนส่งปูนซีเมนต์รายพิพาทมายังประเทศไทยเพื่อส่งมอบให้แก่องค์การคลังสินค้าตามสัญญาซื้อขายดังกล่าวนั้นก็ตกลงซื้อขายกันในราคา ซี.แอนด์.เอฟ.-เอฟ.โอ.หรือ FREE OUT ทำนองเดียวกันกับที่ระบุในใบตราส่งเอกสารหมาย จ.21 และข้อความตามสัญญาซื้อขายดังกล่าวข้อ 5ก็ระบุไว้ชัดเจนว่า องค์การคลังสินค้ามีหน้าที่ในการขนถ่ายสินค้าขึ้นจากเรือที่ขนปูนซีเมนต์มาและยังมีข้อสัญญาด้วยว่าหากองค์การคลังสินค้าทำการขนถ่ายสินค้าขึ้นจากเรือช้ากว่ากำหนดจะต้องเสียค่าปรับวันละ 4,000 ดอลลาร์สหรัฐแต่ถ้าใช้เวลาเร็วกว่ากำหนดจะได้ค่าขนถ่ายเร็ววันละ 2,000ดอลลาร์สหรัฐ อันแสดงว่าตามสัญญาดังกล่าวองค์การคลังสินค้ามีประโยชน์ส่วนได้หรือส่วนเสียในการปฏิบัติหน้าที่ขนถ่ายสินค้าขึ้นจากเรือด้วย จึงน่าเชื่อว่าสัญญารับขนปูนซีเมนต์รายพิพาทนี้มีข้อตกลงกันด้วยว่าให้ผู้รับตราส่งคือองค์การคลังสินค้าเป็นผู้มีหน้าที่ขนถ่ายปูนซีเมนต์ขึ้นจากเรือและโจทก์กล่าวอ้างว่าความเสียหายตามฟ้องในส่วนปูนซีเมนต์ถุงแตกเกิดขึ้นจากการกระทำของจำเลยที่ 3 ในการขนถ่ายปูนซีเมนต์ จึงเป็นกรณีที่ความเสียหายเพราะปูนซีเมนต์ถุงแตกนี้เกิดขึ้นในระหว่างการทำหน้าที่ของจำเลยที่ 3 อันอยู่ในความรับผิดชอบขององค์การคลังสินค้าเองตามที่มีการตกลงกันไว้ในสัญญารับขนว่าให้องค์การคลังสินค้าผู้รับตราส่งเป็นผู้มีหน้าที่ขนถ่ายปูนซีเมนต์ขึ้นจากเรือ ถือไม่ได้ว่าเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นในระหว่างที่อยู่ในหน้าที่และความรับผิดชอบของจำเลยที่ 2 ที่โจทก์อ้างว่าเป็นผู้ขนส่งตามใบตราส่งเอกสารหมาย จ.21 ซึ่งเป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนรายนี้ แม้จำเลยที่ 2 จะเป็นผู้ขนส่งตามสัญญารับขนดังกล่าวจำเลยที่ 2 ก็หาต้องรับผิดต่อองค์การคลังสินค้าในความเสียหายนี้ไม่ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้รับประกันภัยการขนส่งปูนซีเมนต์รายพิพาทจากองค์การคลังสินค้าเช่นกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์