คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 33/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ในประเด็นแห่งคดีมีเพียงว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อายัดที่ดินพิพาทไว้โดยชอบหรือไม่ ซึ่งต่อมาศาลฎีกามีคำวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวเป็นที่สุดว่าการอายัดที่ดินพิพาทของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ดังนี้มีผลเท่ากับว่าที่ดินพิพาทต้องถูกอายัดต่อไปเท่านั้น การที่ศาลชั้นต้นมีหนังสือแจ้งไปยังเจ้าพนักงานที่ดินให้ดำเนินการออกใบแทน น.ส.3 ก. สำหรับที่ดินพิพาท แล้วจดทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนชื่อเจ้าของที่ดินจากผู้ร้องเป็นจำเลยที่ 3 ทั้ง ๆที่ผู้ร้องยังโต้แย้งว่าจำเลยที่ 3 มิได้เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มิได้ดำเนินการยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทระหว่างผู้ร้องกับ ส. ย่อมไม่อาจกระทำได้ เนื่องจากการเพิกถอนการโอนต้องเป็นไปโดยผลของคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาล ตราบใดที่ยังไม่มีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้เพิกถอนการโอนก็ยังคงต้องถือว่าการโอนที่ดินพิพาทระหว่างผู้ร้องกับ ส. เป็นไปโดยชอบผู้ร้องซึ่งเป็นผู้มีชื่ออยู่ใน น.ส.3 ก. ของที่ดินพิพาทจึงยังมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินแก้ไขเปลี่ยนแปลงทะเบียนน.ส.3 ก. ของที่ดินพิพาทเป็นชื่อของจำเลยที่ 3 เป็นการไม่ถูกต้อง ทั้งยังไม่มีอำนาจสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการออกใบแทน น.ส.3 ก. สำหรับที่ดินพิพาท

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งหกชั่วคราวเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2529 และมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งหกเด็ดขาดเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2532ชั้นรวบรวมทรัพย์เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งหกมีหนังสือแจ้งอายัดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)เลขที่ 2924 ถึง 2977, 2988 และ 2996 ถึง 3001 ตำบลหนองล่องอำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ไปยังเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดลำพูนสาขาป่าซาง ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ที่ดินตามที่อายัดดังกล่าวผู้ร้องซื้อมาจากนางสุมลหรือพรพิมล เหลืองประเสริฐ ซึ่งเป็นเจ้าของที่แท้จริงโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ที่ดินดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์สินในคดีล้มละลายที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะยึดหรืออายัดได้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 109ขอให้มีคำสั่งกลับหรือยกคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือมีคำสั่งอื่นใดเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำคัดค้านว่า ที่ดินตามคำร้องทั้งหมด จำเลย (ลูกหนี้) ที่ 3 ซื้อมาตั้งแต่ปลายปี 2527แล้วใส่ชื่อนางเรียม พรหมนิตย์ ซึ่งเป็นมารดาถือสิทธิในที่ดินแทน ต่อมาได้จดทะเบียนใส่ชื่อนางสุมล เหลืองประเสริฐถือสิทธิครอบครองที่ดินดังกล่าวแทนนางเรียม ที่ดินพิพาทจึงยังคงเป็นทรัพย์สินในคดีล้มละลาย ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ดำเนินการทวงหนี้จนถึงชั้นออกคำบังคับให้นางเรียบและนางสุมลส่งมอบและให้โอนที่ดินพิพาทคืนตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 118 แล้ว แต่บุคคลทั้งสองไม่ส่งมอบคืน การที่ผู้ร้องรับโอนที่ดินพิพาทไปเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2532 และวันที่16 มีนาคม 2533 ซึ่งเป็นวันหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 3 ชั่วคราวแล้ว เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 22 และมาตรา 24 ตกเป็นโมฆะและใช้ยันเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ได้ ต้องถือว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินในคดีล้มละลายอันอาจแบ่งแก่เจ้าหนี้ได้ ซึ่งผู้คัดค้านมีหน้าที่รวบรวมเข้าไว้ในกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 จึงมีอำนาจอายัดได้
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งอายัดที่ดินพิพาททั้ง 67 แปลง
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษายืน
ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งหกทำหนังสือถึงศาลชั้นต้นว่าศาลฎีกาวินิจฉัยด้วยว่า การที่ผู้มีชื่อถือสิทธิในที่ดินแทนผู้ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ต้องถือเสมือนหนึ่งว่าเป็นการกระทำของผู้ถูกพิทักษ์ทรัพย์อันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 22, 24 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483ดังนั้น การโอนย่อมตกเป็นโมฆะและใช้ยันเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ได้ และย่อมมีผลทำให้การจำนองที่ดินระหว่างผู้ร้องกับธนาคารกรุงเทพ จำกัด ตกเป็นโมฆะด้วย คำพิพากษาศาลฎีกาถึงกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นคุณแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3ย่อมใช้ยังผู้รับจำนองซึ่งเป็นบุคคลที่ 3 ได้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีหมายนัดให้นางเรียม พรหมนิตย์นางสุมล เหลืองประเสริฐ ผู้ร้องและธนาคารกรุงเทพ จำกัดให้ส่งมอบต้นฉบับ น.ส.3 ก. ของที่ดินพิพาทต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และนัดจดทะเบียนแก้ไขชื่อในที่ดินดังกล่าวให้กลับมาเป็นชื่อของนางสาวระพีพรรณ พรหมานิตย์ จำเลยที่ 3 โดยปลอดการจำนองโดยผลของคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวแล้วแต่ไม่มีผู้ใดยอมดำเนินการ ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดลำพูนออกใบแทน น.ส.3 ก. ดังกล่าวทั้งหมด แล้วแก้ไขทะเบียนให้กลับมาในฐานะเดิมเป็นชื่อของจำเลยที่ 3 โดยปลอดการจำนองซึ่งเป็นการถือเอาคำพิพากษาศาลฎีกาแทนแสดงเจตนาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 213 แล้วส่งไปให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อดำเนินการต่อไป
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไปยังเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดลำพูนให้ดำเนินการตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดลำพูน ออกใบแทน น.ส.3 ก. แล้วจดทะเบียนแก้ไขชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ ผู้รับจำนองให้กลับมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 3 โดยปลอดจำนอง
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผลของคำพิพากษาศาลฎีกามีเพียงว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจอายัดที่ดินดังกล่าวได้ และทำให้การอายัดที่ดิน 67 แปลงมีผลใช้บังคับต่อไปเท่านั้น ศาลฎีกายังมิได้วินิจฉัยเป็นที่ยุติว่า นางเรียม พรหมนิตย์ หรือนางสุมล เหลืองประเสริฐ ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวแทนนางสาวระพีพรรณ พรหมนิตย์ จำเลยที่ 3 หรือไม่ การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอให้จดทะเบียนโอนทรัพย์สินของผู้ร้องโดยไม่มีคำพิพากษาให้เพิกถอนหรือให้แก้ไขการจดทะเบียนโดยชัดแจ้งย่อมเป็นการไม่ชอบ ขอศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบเสียทั้งสิ้น ให้เพิกถอนหนังสือของศาลชั้นต้นและให้ยกเลิกใบแทน น.ส.3 ก. และเพิกถอนการจดทะเบียนที่ได้กระทำไปแล้วตามหนังสือดังกล่าว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฎตามทางสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า ผู้โอนขายที่ดินให้ผู้ร้องรับว่าถือที่ดินไว้แทนจำเลยที่ 3 และได้มีการโอนขายที่ดินให้ผู้ร้องหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วการโอนขายจึงขัดต่อพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22และ 24 มีผลเป็นโมฆะ การที่ศาลมีคำสั่งให้ดำเนินการตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอถือว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 การดำเนินการดังกล่าวจึงชอบแล้วให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า ให้เพิกถอนหนังสือของศาลชั้นต้นให้ยกเลิกใบแทน น.ส.3 ก. และเพิกถอนการแก้ไขทางทะเบียนที่ได้กระทำไปแล้วตามหนังสือดังกล่าว
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งหกมีหนังสือลงวันที่2 กรกฎาคม 2533 และวันที่ 10 สิงหาคม 2533 ไปยังเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดลำพูน สาขาป่าซาง ให้อายัดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2924 ถึง2977, 2988 ถึง 2994 และ 2996 ถึง 3001 ตำบลหนองล่องอำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน รวม 67 แปลง ซึ่งเป็นที่ดินที่ผู้ร้องได้รับโอนมาจากนางสุมล ต่อมาวันที่ 29 สิงหาคม 2533ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่สั่งอายัดที่ดินพิพาททั้ง 67 แปลงคดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง ภายหลังศาลฎีกามีคำพิพากษาดังกล่าวแล้วเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนังสือถึงศาลชั้นต้นตามหนังสือที่ยธ. 1410/0053 ลงวันที่ 9 มกราคม 2538 ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไปยังเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดลำพูนออกใบแทน น.ส.3 ก. สำหรับที่ดินพิพาทแล้วจดทะเบียนแก้ไขให้กลับมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 3โดยปลอดการจำนอง โดยอ้างว่าศาลฎีกาวินิจฉัยด้วยว่า การที่ผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินแทนผู้ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ต้องถือเสมือนหนึ่งว่าเป็นการกระทำของผู้ถูกพิทักษ์ทรัพย์การโอนย่อมตกเป็นโมฆะและใช้ยันเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ได้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไปยังเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดลำพูนให้ดำเนินการตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอดังกล่าว ปรากฎตามหนังสือของศาลชั้นต้นที่ ยธ. 0208/2251 ลงวันที่ 23 มกราคม 2538ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่าคำสั่งของศาลชั้นต้น ที่ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ลำพูนออกใบแทน น.ส.3 ก. เลขที่ 2924 ถึง 2977 2994 และ 2996 ถึง 3001ตำบลหนองล่อง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน แล้วจดทะเบียนแก้ไขให้กลับมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 3 โดยปลอดจำนอง ตามหนังสือของศาลชั้นต้นที่ ยธ. 0208/2251 ลงวันที่ 23 มกราคม 2538 นั้นเป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่พิเคราะห์แล้วเห็นว่า กรณีที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ร้องกับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ด้วยเรื่องที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนังสือไปยังเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดลำพูน สาขาป่าซาง ให้อายัดที่ดินพิพาทรวม 67 แปลงซึ่งผู้ร้องอ้างว่าเป็นที่ดินที่ผู้ร้องเป็นเจ้าของสิทธิครอบครองอยู่โดยซื้อมาจากนางสุมล มิใช่เป็นทรัพย์ของจำเลยที่ 3ผู้ถูกพิทักษ์ทรัพย์ ผู้ร้องเริ่มต้นคดีด้วยการยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งอายัดที่ดินของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดังกล่าว ผลคดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษาให้ยกคำร้องของผู้ร้องตามคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 1561/2537เมื่อประเด็นแห่งคดีมีเพียงว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อายัดที่ดินพิพาทชอบหรือไม่ ศาลฎีกาพิพากษายกคำร้องของผู้ร้อง ผลของคำพิพากษาศาลฎีกาจึงเป็นการวินิจฉัยว่าการอายัดที่ดินพิพาทของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นการชอบด้วยกฎหมาย เท่ากับว่าที่ดินพิพาททั้ง 67 แปลงต้องถูกอายัดต่อไป ไม่มีการเพิกถอนการอายัดเท่านั้น การที่ศาลชั้นต้นมีหนังสือแจ้งไปยังเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดลำพูนให้ดำเนินการออกใบแทน น.ส.3 ก.สำหรับที่ดินพิพาท แล้วจดทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนชื่อจากผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินเป็นชื่อของจำเลยที่ 3 โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังมิได้มีการยื่นคำร้องขอให้ดำเนินการขอเพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทระหว่างผู้ร้องในฐานะผู้รับโอนกับนางสุมลในฐานะผู้โอนย่อมไม่อาจกระทำได้ เพราะการเพิกถอนการโอนต้องเป็นไปโดยผลของคำสั่งหรือคำพิพากษา ตราบใดที่ยังไม่มีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้เพิกถอนการโอนก็ยังถือเป็นการโอนโดยชอบอยู่ การที่ศาลฎีกากล่าวไว้ในคำพิพากษาดังกล่าวว่า การที่มีผู้มีชื่อถือสิทธิในที่ดินแทนผู้ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เสมือนหนึ่งเป็นการกระทำของผู้ถูกพิทักษ์ทรัพย์ ซึ่งน่าจะหมายถึงการที่จำเลยที่ 3 ผู้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทแล้วจดทะเบียนใส่ชื่อนางเรียมหรือนางสุมลเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองแทนเท่านั้น ตามปัญหานี้ผู้ร้องไม่ได้รับว่าที่ดินเป็นของจำเลยที่ 3 ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ชอบที่จะร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนหรือการกระทำใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 เสียก่อน เมื่อยังไม่ปรากฎมีคำสั่งศาลให้เพิกถอนการโอนหรือการกระทำนั้น ที่ดินพิพาทยังเป็นชื่อของผู้ร้องในฐานะเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ศาลชั้นต้นด่วนมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินแก้ไขทะเบียนให้กลับมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 3 หาเป็นการถูกต้องไม่ อีกทั้งยังไม่มีอำนาจที่จะสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดลำพูนดำเนินการออกใบแทนสำหรับที่ดินพิพาททั้ง 67 แปลง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share