คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 527/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยเป็นเยาวชนถูกจับกุมในคดีอื่น ภายหลังพนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อหาในคดีนี้ให้จำเลยทราบ โดยจำเลยถูกควบคุมตัวระหว่างสอบสวนในคดีอื่นมาโดยตลอด ดังนี้ การคำนวณระยะเวลาในการให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนไปยังพนักงานอัยการเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลคดีเด็กและเยาวชนภายใน 30 วัน มิฉะนั้นต้องขอผัดฟ้องต่อศาลในคดีนี้จึงยังไม่เริ่มต้นนับ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักรถจักรยานยนต์ หรือมิฉะนั้นก็รับรถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นของโจร เจ้าพนักงานจับจำเลยได้ในคดีอื่น ภายหลังแจ้งข้อหาคดีนี้ให้ทราบจำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 34/2529 ของศาลชั้นต้น ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 335, 357 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525 มาตรา 11 ให้นับโทษจำเลยต่อกับโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 34/2529 ของศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้วเห็นว่า โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเกิน30 วันนับแต่วันจับกุมโดยมิได้ขอผัดฟ้อง อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2494 มาตรา 24 ทวิจึงมีคำสั่งไม่รับฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ว่า “โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยมิได้ถูกจับกุมในคดีนี้ แต่ถูกเจ้าพนักงานจับกุมในคดีอื่นหลังจากนั้นพนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อหาให้จำเลยทราบ ระหว่างสอบสวนจำเลยถูกควบคุมตัวในคดีอื่น ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ การนับระยะเวลาตามมาตรา 24 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชนพ.ศ. 2494 จึงยังไม่เกิดขึ้น การฟ้องคดีนี้จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 24 ทวิ และมาตรา 24 จัตวา แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2494 ที่ศาลล่างทั้งสองไม่ประทับฟ้องโจทก์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้นและพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นประทับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณาต่อไป.

Share