คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 803/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การพิจารณาคดีมีทุนทรัพย์และไม่มีทุนทรัพย์รวมอยู่ในคดีเดียวกันว่าจะต้องห้ามอุทธรณ์หรือฎีกาในข้อเท็จจริงหรือไม่ ย่อมต้องพิจารณาว่าคำขอใดเป็นหลัก คำขอใดเป็นคำขอที่ต่อเนื่อง โจทก์มีคำขอให้เพิกถอนนิติกรรมขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 โดยให้ถอนชื่อจำเลยที่ 2 ออกแล้วจึงให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ถือว่า คำขอให้เพิกถอนนิติกรรมขายที่ดินพิพาทเป็นคำขอหลัก คำขอให้จำเลยที่ 1โอนที่ดินพิพาทเป็นคำขอต่อเนื่องคดีจึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์และฎีกาในข้อเท็จจริง
ที่จำเลยที่ 2 เบิกความว่า จำเลยที่ 2 ได้ซื้อที่ดินพิพาทโดยไม่เคยขอดูหลักฐานทางทะเบียนว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทหรือไม่นั้นเป็นการผิดวิสัยของการซื้อที่ดินโดยทั่วไป ซึ่งจะต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าที่ดินที่จะซื้อเป็นของผู้ขายหรือไม่เพื่อไม่ให้มีปัญหาในภายหลัง จำเลยที่ 2ซื้อที่ดินพิพาทในราคาถึง 400,000 บาท แต่หลังจากซื้อแล้วก็ไม่ได้ เข้าทำประโยชน์ ข้อเท็จจริงก็ได้ความว่าโจทก์เป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทและไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ดำเนินการใด ๆ ให้จำเลยที่ 1ออกจากที่ดินพิพาท กลับได้ความว่าจำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทเพราะต้องการช่วยจำเลยที่ 1 ตามพฤติการณ์จึงเชื่อว่า ก่อนจะซื้อที่ดินพิพาทมาจำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่าโจทก์เป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทดังนั้น จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทโดยสุจริตและจดทะเบียนโดยสุจริต จำเลยที่ 2 ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง โจทก์ขอให้ เพิกถอนการจดทะเบียนขายได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1300

ย่อยาว

คดีนี้เดิมศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกันมากับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1497/2542 ของศาลชั้นต้น โดยให้เรียกจำเลยในคดีดังกล่าวและจำเลยที่ 1ในคดีนี้ว่าจำเลยที่ 1 แต่คดีสำหรับจำเลยที่ 1ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นคงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ขายที่ดินให้แก่โจทก์ในราคา 6,000 บาทซึ่งที่ดินดังกล่าวมีชื่อนายญา บรรลือหาญ บิดาจำเลยที่ 1 ถือสิทธิครอบครองและที่ดินจะตกแก่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ได้รับเงินไปจากโจทก์ครบถ้วนแล้วส่งมอบที่ดินให้แก่โจทก์ตั้งแต่วันทำสัญญาซื้อขาย โจทก์เข้าทำประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องตลอดมาเป็นเวลากว่า 10 ปี โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งหรือรบกวนการครอบครอง ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของบิดาจำเลยที่ 1 ไม่ยอมโอนที่ดินให้แก่โจทก์ แต่กลับนำที่ดินดังกล่าวไปโอนขายให้แก่จำเลยที่ 2 โดยให้จำเลยที่ 2 มีชื่อเป็นเจ้าของรวมทำให้โจทก์เสียหายขอให้เพิกถอนชื่อจำเลยที่ 2 จากการเป็นเจ้าของรวมดังกล่าว และให้จำเลยที่ 1โอนที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ยินยอมให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง

ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้องจำเลยที่ 1 ให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความ โจทก์จึงมาฟ้องจำเลยที่ 1 ในสำนวนคดีหลัง ซึ่งจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 ให้การและแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การว่า จำเลยที่ 2 ได้ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 ในราคา 450,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนและแบ่งแยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แล้ว ซึ่งเป็นการซื้อขายโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนถูกต้องตามระเบียบของกรมที่ดิน โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเพิกถอนนิติกรรมและฟ้องโจทก์เคลือบคลุม สัญญาซื้อขายที่ดินตามฟ้องโจทก์เมื่อพิจารณาจากข้อความในสัญญาดังกล่าวฟังได้ว่าเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์แล้วมอบที่ดินให้เป็นหลักประกันไว้โดยใช้แบบฟอร์มสัญญาซื้อขายแทนสัญญากู้ยืม โจทก์ชอบที่จะฟ้องจำเลยที่ 1 ฐานผิดสัญญากู้ยืมและที่โจทก์อ้างว่าเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด เมื่อไม่มีการจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การซื้อขายย่อมตกเป็นโมฆะและฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้โจทก์ไม่มีสิทธิมาฟ้องขอเพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 4079 เล่ม 41 ข เลขที่ดิน 783 ตำบลเขื่องคำ อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร เนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 66 ตารางวา ที่จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนใส่ชื่อจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2539 มาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 แล้ว ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินพิพาทดังกล่าวให้แก่โจทก์โดยให้จำเลยทั้งสองส่งมอบ น.ส.3 ก.สำหรับที่ดินแปลงพิพาทให้แก่โจทก์ เพื่อนำไปจดทะเบียนโอนแบ่งแยกยังสำนักงานที่ดิน หากจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการจดทะเบียนโอนให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองกับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่าเดิมที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก) เลขที่ 1328 ตำบลเขื่องคำ อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธรต่อมาจำเลยที่ 1 จดทะเบียนให้จำเลยที่ 2 มีกรรมสิทธิ์รวมและแบ่งแยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)เลขที่ 4079 ตำบลเขื่องคำ อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีมีทุนทรัพย์และไม่มีทุนทรัพย์รวมอยู่ในคดีเดียวกัน คดีจะต้องห้ามอุทธรณ์หรือฎีกาในข้อเท็จจริงหรือไม่ ย่อมต้องพิจารณาว่าคำขอใดเป็นหลักคำขอใดเป็นคำขอที่ต่อเนื่อง โจทก์มีคำขอให้เพิกถอนนิติกรรมขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 โดยให้ถอนชื่อจำเลยที่ 2 ออก แล้วจึงให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ถือว่าคำขอให้เพิกถอนนิติกรรมขายที่ดินพิพาทเป็นคำขอหลัก คำขอให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทเป็นคำขอต่อเนื่อง คดีจึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์และฎีกาในข้อเท็จจริง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ในข้อเท็จจริงจึงไม่ชอบ แต่ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหานี้ไปทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัย คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 2ประการแรกว่า โจทก์ได้ซื้อที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 4079 หรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์นายสงวน วอทอง นางอำพร บรรลือหาญ นายวังคำ บรรลือหาญ และนายบุญ สุขแสวง เป็นพยานเบิกความทำนองเดียวกันว่า บุตรนายญาผู้ตายได้แบ่งแยกการครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 1328 เป็นส่วนสัดแล้ว ต่อมาวันที่ 24 มิถุนายน 2527จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรผู้ตายได้นำที่ดินพิพาทซึ่งเป็นส่วนของตนมาขายให้แก่โจทก์ในราคา 6,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 และส่งมอบการครอบครองให้แก่โจทก์ และโจทก์ได้ครอบครองทำกินตลอดมาทั้งนายสงวนและนายบุญเป็นอดีตกำนันและอดีตผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านในท้องที่ซึ่งที่ดินพิพาทตั้งอยู่ จึงเป็นพยานคนกลางซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับคู่ความฝ่ายใดและยังเบิกความยืนยันว่าได้ลงลายมือชื่อในสัญญาตามเอกสารหมาย จ.1ด้วย พยานโจทก์จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ แม้พยานโจทก์จะเบิกความแตกต่างกันในเรื่องวันเวลาที่แบ่งแยกการครอบครองเป็นส่วนสัดก็เป็นเพียงรายละเอียดไม่ทำให้น้ำหนักพยานโจทก์เสียไป เพราะถึงอย่างไรจำเลยที่ 1 ก็ครอบครองที่ดินพิพาทเป็นส่วนสัดก่อนที่จะขายให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ก็เบิกความตอบทนายความโจทก์ถามค้านเจือสมพยานโจทก์ว่า เห็นเล้าไก่ปลูกอยู่ในที่ดินพิพาท จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ครอบครองที่ดินพิพาทเป็นส่วนสัดแล้วและโจทก์ได้ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบการครอบครองให้แก่โจทก์ แล้วโจทก์ก็ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ที่จำเลยที่ 2นำสืบว่าที่ดินพิพาทยังไม่มีการครอบครองเป็นส่วนสัด ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 2 ประการต่อไปว่า จำเลยที่ 2ได้ซื้อที่ดินพิพาทโดยสุจริต และจดทะเบียนโดยสุจริตหรือไม่ จำเลยที่ 2เบิกความว่า จำเลยที่ 2 ได้ซื้อที่ดินพิพาทโดยไม่เคยขอดูหลักฐานทางทะเบียนว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทหรือไม่นั้น เป็นการผิดวิสัยของการซื้อที่ดินโดยทั่วไป ซึ่งจะต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าที่ดินที่จะซื้อเป็นของผู้ขายหรือไม่ เพื่อไม่ให้มีปัญหาในภายหลัง ประกอบกับจำเลยที่ 2 ก็ซื้อที่ดินพิพาทในราคาถึง 400,000 บาท แต่หลังจากซื้อแล้วก็ไม่ได้เข้าทำประโยชน์แต่อย่างใดทั้งข้อเท็จจริงก็ได้ความว่าโจทก์เป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ดำเนินการใด ๆ ให้จำเลยที่ 2 (ที่ถูกจำเลยที่ 1) ออกจากที่ดินพิพาท กลับได้ความว่า จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทเพราะต้องการช่วยจำเลยที่ 1 ตามพฤติการณ์จึงเชื่อว่า ก่อนจะซื้อที่ดินพิพาทมา จำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ดังนั้น จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทโดยสุจริต และจดทะเบียนโดยสุจริต จำเลยที่ 2 ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1299 วรรคสอง โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทและขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนขายได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1300 ฎีกาจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกยังไม่ได้แบ่งปันให้แก่ทายาท เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกแล้วก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทายาทก็เป็นเรื่องที่ทายาทจะไปว่ากล่าวเอาแก่จำเลยที่ 1 ทั้งอาณาเขตที่ดินที่ซื้อขายตามสัญญาเอกสารหมาย จ.1 ไม่ตรงกับอาณาเขตที่ดินพิพาทนั้นเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น และฎีกาข้ออื่นที่ว่าสัญญาเอกสารหมาย จ.1 เป็นสัญญากู้ยืมก็ดีเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดเมื่อไม่จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมเป็นโมฆะก็ดี เห็นว่า เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่าจึงย่อมโอนกันได้ด้วยการส่งมอบการครอบครอง ข้อฎีกาดังกล่าวจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

อนึ่ง คดีนี้เดิมศาลชั้นต้นพิจารณารวมกันกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1497/2542 ของศาลชั้นต้น ซึ่งคดีดังกล่าวยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว แต่จำเลยที่ 2 เสียค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ในคดีดังกล่าวมาด้วยทั้งชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีการวม 300 บาท จึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรคืนค่าขึ้นศาลจำนวนดังกล่าวที่เสียเกินมาแก่จำเลยที่ 2”

พิพากษายืน แต่ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีการวม 300 บาท แก่จำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share