คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5513/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้หนังสือมอบอำนาจจะมิได้ระบุโดยตรงว่าห้างโจทก์เป็นผู้มอบอำนาจให้ ม. ฟ้องคดีแทน แต่ในตอนต้นของหนังสือมอบอำนาจระบุว่า ข้าพเจ้านาย ป. และมีข้อความต่อมาว่า ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจลงนามผูกพันห้างโจทก์————————————-และในช่องผู้มอบอำนาจ นอกจากนาย ป. หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างโจทก์จะได้ลงลายมือชื่อแล้วยังได้ประทับตราของห้างโจทก์อีกด้วย ดังนี้ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้มอบอำนาจให้ ม. ฟ้องคดีแทนโจทก์
จำเลยที่ 1 เป็นผู้สลักหลังเช็คพิพาท เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงจำเลยที่ 1 จะอ้างว่าจำเลยที่ 1 ไม่เคยเป็นหนี้โจทก์จึงไม่มีมูลหนี้ที่จะต้องรับผิดต่อโจทก์หาได้ไม่ เพราะการที่จำเลยที่ 1เข้าสลักหลังเช็คพิพาทย่อมก่อให้เกิดมูลหนี้ในเช็คอยู่ในตัว.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีนายปิยะ พรปริญญา เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ โจทก์มอบอำนาจให้นายมนัส เอี่ยมอดุง ฟ้องคดีแทน จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัท มีจำเลยที่ ๒ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ โจทก์เป็นผู้ทรงเช็ค ๔ ฉบับ ซึ่งห้างหุ้นส่วนจำกัดเกรทคาร์เรนท์สั่งจ่ายให้แก่จำเลยที่ ๑ แล้วจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ลงลายมือชื่อสลักหลัง และประทับตราของจำเลยที่ ๑ ส่งมอบให้แก่โจทก์เพื่อเป็นการชำระหนี้ เมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์นำไปเรียกเก็บเงิน แต่เรียกเก็บเงินไม่ได้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ จำนวน ๑๐๙,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การว่า โจทก์ไม่เคยมอบอำนาจให้นายมนัส เอี่ยมอดุง เป็นผู้ดำเนินคดีนี้แทนโจทก์ ลายมือชื่อในช่องผู้มอบอำนาจมิใช่ลายมือชื่อของนายปิยะ พรปริญญา หากแต่เป็นการเซ็นปลอม นายมนัส เอี่ยมอดุง จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยทั้งสองไม่เคยเป็นหนี้โจทก์ จึงไม่มีมูลหนี้หรือเหตุผลใดที่จำเลยจะต้องสลักหลัง ประทับตราและส่งมอบเช็คเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงินตามเช็คให้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวน ๑๐๙,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๒
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า แม้หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.๔จะไม่ได้ระบุไว้โดยตรงว่า ห้างโจทก์เป็นผู้มอบอำนาจแต่กลับระบุไว้ในตอนต้นของหนังสือมอบอำนาจว่า ข้าพเจ้านายปิยะ พรปริญญา ก็ตามแต่ต่อจากนั้นก็มีข้อความว่า “จึงเป็นผู้มีอำนาจลงนามผูกพันห้างหุ้นส่วนจำกัดโตโยต้าสุรินทร์ผู้แทนจำหน่ายโตโยต้า(คือห้างโจทก์) และในช่องผู้มอบอำนาจ นายปิยะ พรปริญญาหุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์จะได้ลงลายมือชื่อแล้วยังได้ประทับตราของห้างโจทก์อีกด้วย เมื่อพิเคราะห์หนังสือมอบอำนาจทั้งฉบับแล้วถือได้ว่าตัวโจทก์เป็นผู้มอบอำนาจให้นายมนัส เอี่ยมอดุง ฟ้องคดีแทนโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง คดีโจทก์ฟ้องเรียกเงินตามเช็คจากจำเลยที่ ๑ในฐานะผู้สลักหลัง ซึ่งจำเลยที่ ๑ นำสืบรับว่า ได้ลงชื่อสลักหลังเช็คพิพาทจริง และจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำแทนจำเลยที่ ๑ รับว่าก่อนสลักหลังเช็คพิพาททราบดีแล้วว่าการสลักหลังเช็คพิพาทเป็นการค้ำประกัน เมื่อจำเลยที่ ๑ เป็นผู้สลักหลังเช็คที่ระบุชื่อผู้รับเงินไว้ เช่นนี้แล้วธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินจำเลยที่ ๑ จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๙๑๔, ๙๕๙ ประกอบด้วยมาตรา ๙๘๙จำเลยที่ ๑ จะอ้างว่า จำเลยที่ ๑ ไม่เคยเป็นหนี้โจทก์ จึงไม่มีมูลหนี้แก่กัน ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์หาได้ไม่ เพราะการที่จำเลยที่ ๑เข้าสลักหลังเช็ค ย่อมก่อให้เกิดมูลหนี้อยู่ในตัวแล้ว
พิพากษายืน.

Share