คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3444/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3) ซึ่งมีข้อกำหนดห้ามผู้มีสิทธิในที่ดินโอนที่ดินไปยังผู้อื่นภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้เป็นต้นไป นอกจากตกทอดทางมรดกตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 31 การที่จำเลยได้ที่ดินพิพาทมาโดยทางมรดก และทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ในระหว่างระยะเวลาห้ามโอนดังกล่าวโดยได้รับเงินกับมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ครอบครองแล้ว แม้มีข้อตกลงว่าจำเลยจะจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ เมื่อจำเลยประกาศรับมรดกเสร็จแล้วก็ตาม ก็ถือได้ว่าเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ตกเป็นโมฆะโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ สารบบเลขที่ 101 หน้า 22 เล่มที่ 1 หมู่ที่ 2 ตำบลกันจุ อำเภอหนองไผ่ (บึงสามพัน) ให้แก่โจทก์ในราคา 60,000 บาทโดยตกลงว่าจำเลยจะดำเนินการจดทะเบียนโอนชื่อผู้ถือสิทธิครอบครองที่ดินดังกล่าวจากสามีจำเลยมาเป็นชื่อจำเลยแล้วจดทะเบียนโอนต่อให้โจทก์ โจทก์ได้มอบเงินให้จำเลยรับไปครบถ้วนแล้ว และเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวตลอดมา ต่อมาจำเลยได้จดทะเบียนโอนชื่อผู้ถือสิทธิครอบครองในที่ดินดังกล่าวเป็นของจำเลย แต่กลับปฏิเสธไม่ยอมจดทะเบียนโอนให้โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนชื่อผู้ถือสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์สารบบเลขที่ 101หน้า 22 เล่ม 1 หมู่ที่ 2 ตำบลกันจุ อำเภอบึงสามพัน (หนองไผ่)จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นชื่อโจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามก็ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ทั้งไม่เคยได้รับเงินจากโจทก์โจทก์ทราบดีว่าจำเลยไม่มีสิทธิขายที่ดินพิพาทเนื่องจากเป็นของสามีจำเลยซึ่งถูกคนร้ายลอบยิงตาย โจทก์จึงขอเช่าจากจำเลยและเข้าครอบครองที่ดินพิพาทในฐานะผู้เช่า และไม่เคยแจ้งการเสียภาษีบำรุงท้องที่แต่อย่างใด ทั้งไม่เคยบอกกล่าวให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขายเนื่องจากไม่มีการซื้อขายกันจริง ขอให้ยกฟ้องศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นที่ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยทำสัญญาขายที่พิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญาซื้อขาย เอกสารหมาย จ.1 แล้วจำเลยผิดสัญญาไม่จดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ คงมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า สัญญาเอกสารหมาย จ.1 มีผลใช้บังคับได้หรือไม่โจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ซึ่งทางราชการห้ามโอนจำหน่ายแก่กัน ให้ตกทอดกันได้เฉพาะทางมรดกเรียกกันว่าเป็น น.ส.3 หลังแดงและได้ความจากฎีกาของโจทก์ว่า ข้อกำหนดห้ามโอนดังกล่าวเป็นไปตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 31 เห็นว่า ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ห้ามผู้ได้สิทธิในที่ดินโอนที่ดินไปยังผู้อื่นภายใน 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้เป็นต้นไป นอกจากตกทอดทางมรดก สำหรับที่ดินพิพาทนั้นปรากฏตามสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 ว่า ทางราชการออกให้แก่นายม่วง สีเสียดสามีของจำเลยเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2516 ดังนั้นผู้ที่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทจะโอนที่ดินพิพาทให้แก่บุคคลอื่นก่อนวันที่ 1 กรกฎาคม 2526 ไม่ได้เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย การที่จำเลยทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทซึ่งตกทอดเป็นมรดกแก่ตนให้โจทก์ในราคา 60,000 บาทตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.1 เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2519 ซึ่งอยู่ในระหว่างระยะเวลาห้ามโอนดังกล่าว และได้รับเงินกับได้มอบที่ดินพิพาทให้โจทก์เข้าครอบครองแล้ว แม้จะมีข้อตกลงว่าจำเลยจะจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่โจทก์เมื่อจำเลยประกาศรับมรดกเสร็จแล้วก็ตามก็ถือได้ว่า เป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share