คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6007/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อยังอยู่กับผู้ให้เช่าซื้อ แต่ผู้เช่าซื้อย่อมมีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์จากรถยนต์ที่เช่าซื้อนั้นและมีหน้าที่ต้องส่งคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อใน สภาพเรียบร้อยแก่ผู้ให้เช่าซื้อหากมีกรณีต้องคืน เมื่อบุตรโจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อถึงแก่กรรม สิทธิและหน้าที่ดังกล่าวย่อมตกทอดมายังโจทก์ในฐานะทายาทคนหนึ่ง เมื่อจำเลยได้ยักยอกทรัพย์นั้นไปจากโจทก์ โจทก์ย่อมได้รับความเสียหาย จึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้อง
ฎีกาของจำเลยที่ว่า โจทก์มอบรถยนต์คันพิพาทให้จำเลยซ่อมเป็นเวลานานถึง 8 เดือนเศษ จำเลยไม่ได้แจ้งราคาซ่อมให้โจทก์ทราบ โจทก์น่าจะทราบได้ในขณะนั้นหรือช่วงเวลานั้นแล้วว่าจำเลยเบียดบังเอารถยนต์คันพิพาทเป็นของตนเอง โจทก์นำคดีมาฟ้องเกินระยะเวลา 3 เดือน พ้นกำหนดอายุความเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒, ๒๕๔
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว คดีมีมูลให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒ จำคุกมีกำหนดสามเดือน ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด ๓ เดือน คดีต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ จำเลยคงฎีกาได้แต่เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายต้องถือเอาตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาเป็นยุติแล้วว่ารถยนต์คันพิพาทเป็นของ บริษัทสยามกลการ จำกัด และอยู่ในระหว่างที่นายปกรณ์ อิทธิวรกิจ บุตรโจทก์เช่าซื้อไป ต่อมาเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๒๖ นายปกรณ์ขับรถยนต์คันดังกล่าวประสบอุบัติเหตุ เป็นเหตุให้นายปกรณ์เสียชีวิตและรถยนต์เสียหาย โจทก์ซึ่งเป็นผู้ครอบครองรถยนต์ดังกล่าวแทนผู้ตายได้ตกลงมอบรถยนต์นั้นให้จำเลยไปซ่อม หลังจากนั้นจำเลยก็ไม่มาติดต่อกับโจทก์อีกเลย ต่อมาวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๒๗ โจทก์ติดต่อกับจำเลยได้และขอให้จำเลยคิดค่าซ่อมและส่งรถคืน จำเลยไม่ยอมกลับอ้างว่าได้ซื้อรถยนต์คันพิพาทไปจากโจทก์แล้ว โจทก์จึงทราบว่าจำเลยเบียดบังรถยนต์คันดังกล่าวไปในวันนั้น
ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์คันพิพาทจึงไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้องนั้นพิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงได้ความว่า รถยนต์คันพิพาทบุตรโจทก์เช่าซื้อมาจากบริษัทสยามกลการ จำกัด แม้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์นั้นยังอยู่กับผู้ให้เช่าซื้อ แต่ผู้เช่าซื้อย่อมมีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์จากรถยนต์ที่เช่าซื้อนั้น และมีหน้าที่ต้องส่งคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อในสภาพเรียบร้อยแก่ผู้ให้เช่าซื้อหากมีกรณีต้องคืน เมื่อบุตรโจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อถึงแก่กรรม สิทธิและหน้าที่ดังกล่าวย่อมตกทอดมายังโจทก์ในฐานะทายาทคนหนึ่งเมื่อจำเลยได้ยักยอกทรัพย์นั้นไปจากโจทก์ โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายจึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้
ที่จำเลยฎีกาเรื่องอายุความว่า โจทก์มอบรถยนต์คันพิพาทให้จำเลยซ่อมเป็นเวลานานถึง ๘ เดือนเศษ จำเลยไม่ได้แจ้งราคาซ่อมให้โจทก์ทราบ โจทก์น่าจะทราบได้ในขณะนั้นหรือช่วงเวลานั้นแล้วว่าจำเลยเบียดบังเอารถยนต์คันพิพาทเป็นของตนเอง โจทก์นำคดีมาฟ้องเกินระยะเวลา ๓ เดือน นับแต่วันที่โจทก์ได้รู้การกระทำความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดนั้น เห็นว่าเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ ดังกล่าวข้างต้น ศาลฎีกาไม่วินิจฉัย
ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานยักยอกชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒ โดยไม่ได้ระบุวรรคนั้น เห็นสมควรระบุวรรคเสียให้ถูกต้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒ วรรคแรก นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share