แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ข้อตกลงที่โจทก์จำเลยกำหนดไว้ในบันทึกข้อตกลงและสัญญารับดำเนินการก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่ต่อกันระหว่างคู่สัญญากำหนดให้ทรัพย์สินต่าง ๆ ตามที่ระบุในบันทึกข้อตกลง ตกเป็นของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผู้ร้อง โดยไม่ปรากฏว่าทรัพย์สินซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์ทั้ง 22 รายการ ที่โจทก์นำยึดถูกกำหนดโดยกฎหมายว่าจะต้องปฏิบัติตามแบบของนิติกรรมเสียก่อนจึงจะมีผลให้กรรมสิทธิ์ตกเป็นของผู้ร้อง ดังนั้น เมื่อผู้ร้องเข้าทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับสมาคมนิสิตเก่าสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ และจำเลยโดยผู้ร้องแสดงเจตนาถือเอาประโยชน์ยอมรับทรัพย์สินตามที่ระบุในบันทึกข้อตกลงและสัญญารับดำเนินการซึ่งมีทรัพย์สินทั้ง 22 รายการที่โจทก์นำยึดรวมอยู่ด้วย ผู้ร้องจึงได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าว และทรงไว้ซึ่งอำนาจแห่งกรรมสิทธิ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ที่จะใช้ยันได้ต่อบุคคลทั่วไป
จำเลยเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากผู้ร้อง และไม่มีข้อบังคับของผู้ร้องหรือบทบัญญัติแห่งกฎหมายห้ามมิให้ตัวแทนของผู้ร้องเข้าเป็นกรรมการจำเลย จำเลยในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินต่าง ๆ ที่อยู่ในอาคารศศปาฐศาลาย่อมมีอำนาจแห่งกรรมสิทธิ์ที่จะยินยอมให้โอนกรรมสิทธิ์ไปยังผู้ร้อง อันเป็นกรณีผูกพันตามบันทึกข้อตกลงและสัญญารับดำเนินการซึ่งจัดทำกันไว้ การที่ผู้ร้องใช้สิทธิร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินทั้ง 22 รายการ จากการยึดจึงไม่เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 736,348.35 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 521,308.70 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท แต่จำเลยไม่ชำระ โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ของจำเลยเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2542 รวม 22 รายการ รวมราคาเป็นเงิน 300,500 บาท เพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ทรัพย์ที่ยึดทั้งหมดตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องแล้วตามเงื่อนไขที่กำหนดในบันทึกข้อตกลงและสัญญารับดำเนินการ ขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด
โจทก์ให้การว่า ทรัพย์ที่โจทก์ยึดทั้งหมดเป็นของจำเลย ผู้ร้องกับจำเลยมีนิติสัมพันธ์กันอย่างไร โจทก์ไม่ทราบและไม่ผูกพันโจทก์ ผู้ร้องทราบถึงการกระทำของจำเลยเพราะผู้ร้องมีตัวแทนเป็นกรรมการของจำเลย จึงเป็นการใช้สิทธิร้องขัดทรัพย์โดยไม่สุจริต ขอให้ยกคำร้องขอ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ปล่อยทรัพย์พิพาททั้ง 22 รายการ คืนแก่ผู้ร้อง กับให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้อง โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งว่าโจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยให้ชำระราคาสินค้าที่สั่งซื้อไปจากโจทก์ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2541 ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 736,348.35 บาท พร้อมดอกเบี้ย คดีถึงที่สุด แต่จำเลยเพิกเฉยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา ต่อมาวันที่ 5 มีนาคม 2542 โจทก์ดำเนินการบังคับคดีโดยนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์รวม 22 รายการ ตามสำเนาบัญชียึดทรัพย์เอกสารหมาย ร. 4 ซึ่งอยู่ที่อาคารศศปาฐศาลาชั้นที่ 10 และ 11 ของผู้ร้อง คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในประการแรกว่า ข้อตกลงตามบันทึกข้อตกลงระหว่างผู้ร้องกับสมาคมนิสิตเก่าสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2535 เอกสารหมาย ร. 7 และสัญญารับดำเนินการระหว่างสมาคมกับนายภูษณ ปรีย์มาโนช และนายปภัสร์ ช่วงสุวนิช ตัวแทนกลุ่ม เอ็มเอ็ม 89 ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2535 เอกสารหมาย ร. 8 ซึ่งกำหนดให้ทรัพย์สินต่าง ๆ ที่สมาคมดังกล่าวหรือกลุ่ม เอ็มเอ็ม 89 นำมาไว้ในอาคารศศปาฐศาลาชั้นที่ 10 และ 11 ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง เป็นเพียงบุคคลสิทธิใช้บังคับเฉพาะคู่สัญญาเท่านั้น ทรัพย์ทั้ง 22 รายการ จึงยังเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยหรือไม่ เห็นว่า ข้อตกลงต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในบันทึกข้อตกลงและสัญญารับดำเนินการเอกสารหมาย ร. 7 และ ร. 8 ย่อมก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่ต่อกันระหว่างคู่สัญญา เมื่อข้อตกลงกำหนดให้ทรัพย์สินต่าง ๆ ตามที่ระบุในบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย ร. 7 ข้อ 9 และในสัญญารับดำเนินการเอกสารหมาย ร. 8 ข้อ 2 และข้อ 3 ตกเป็นของผู้ร้อง โดยไม่ปรากฏว่าทรัพย์สินทั้ง 22 รายการ ที่โจทก์นำยึดถูกกำหนดโดยกฎหมายว่าจะต้องปฏิบัติตามแบบของนิติกรรมเสียก่อนจึงจะมีผลให้กรรมสิทธิ์ซึ่งเป็นทรัพยสิทธิตกเป็นของผู้ร้อง ดังนั้น เมื่อผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเข้าทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับสมาคมนิสิตเก่าสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์และจำเลย ฉบับลงวันที่ 2 ตุลาคม 2541 ตามเอกสารหมาย ร. 11 โดยผู้ร้องแสดงเจตนาถือเอาประโยชน์ยอมรับทรัพย์สินตามที่ระบุในบันทึกข้อตกลงและสัญญารับดำเนินการเอกสารหมาย ร. 7 และ ร. 8 ซึ่งมีทรัพย์สินทั้ง 22 รายการที่โจทก์นำยึดในภายหลังรวมอยู่ด้วย ผู้ร้องจึงได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวนับแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2541 เป็นต้นมา และผู้ร้องย่อมทรงไว้ซึ่งอำนาจแห่งกรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ในอันที่จะใช้ยันได้ต่อบุคคลทั่วไป มิใช่เฉพาะคู่สัญญาเท่านั้นดังที่โจทก์ยกขึ้นกล่าวอ้างในฎีกา ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายมีว่า ผู้ร้องมีตัวแทนเข้าร่วมเป็นกรรมการจำเลย การร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินทั้ง 22 รายการ จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหรือไม่ เห็นว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากผู้ร้อง และไม่ปรากฏว่ามีข้อบังคับของผู้ร้องหรือบทบัญญัติแห่งกฎหมายห้ามมิให้ตัวแทนของผู้ร้องเข้าเป็นกรรมการจำเลย จำเลยในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินต่าง ๆ ที่อยู่ในอาคารศศปาฐศาลาชั้นที่ 10 และ 11 ย่อมมีอำนาจแห่งกรรมสิทธิ์ที่จะยินยอมให้โอนกรรมสิทธิ์ไปยังผู้ร้อง อันเป็นกรณีผูกพันตามบันทึกข้อตกลงและสัญญารับดำเนินการเอกสารหมาย ร. 7 และ ร. 8 ซึ่งจัดทำกันไว้ตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2535 ต่อเนื่องกันมาโดยไม่ปรากฏข้อระแวงสงสัยว่าเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต ฉะนั้นลำพังเพียงเหตุที่โจทก์ยกขึ้นอ้างจึงยังไม่อาจรับฟังได้ว่าผู้ร้องใช้สิทธิร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินทั้ง 22 รายการ โดยไม่สุจริต ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน ผู้ร้องไม่ได้แก้ฎีกาจึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้.