คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1033/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้คำฟ้องของโจทก์จะไม่มีข้อความว่าผู้ใดเป็นผู้เรียงพิมพ์ และไม่มีลายมือชื่อของผู้เรียงพิมพ์ เป็นคำฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 67 (5) ซึ่งศาลมีอำนาจสั่งให้คืนหรือแก้ไขคำฟ้องได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคสอง ก็ตาม แต่ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งในเรื่องดังกล่าว และได้ดำเนินกระบวนพิจารณากันมาจนเสร็จสิ้นถึงศาลฎีกาแล้ว ตามสำนวนปรากฏว่าโจทก์ได้แต่งตั้ง ช. เป็นทนายความ และ ช. ได้ลงชื่อเป็นโจทก์ในคำฟ้องและได้ลงชื่อเป็นผู้เรียงพิมพ์ในคำแก้อุทธรณ์และคำแก้ฎีกา จึงพอที่จะฟังได้ว่า ช. ทนายความโจทก์เป็นผู้เรียงและพิมพ์คำฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 320,595.64 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 134,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 134,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องย้อนหลังลงไป 5 ปี และนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 5 เมษายน 2545) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า ฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่า คำฟ้องของโจทก์ไม่มีข้อความว่าผู้ใดเป็นผู้เรียงและผู้พิมพ์ มีสิทธิและหน้าที่เป็นทนายความหรือพนักงานอัยการหรือบุคคลอื่นใดมีความสามารถหรือหน้าที่จัดทำเป็นผู้เรียง ผู้พิมพ์คำฟ้องเพื่อยื่นต่อศาลได้ตามกฎหมายหรือไม่ จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า แม้คำฟ้องของโจทก์จะไม่มีข้อความว่าผู้เรียงพิมพ์และลายมือชื่อของผู้เรียงพิมพ์ เป็นคำฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 67 (5) ซึ่งศาลมีอำนาจสั่งให้คืนหรือแก้ไขคำฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 วรรคสอง ก็ตาม แต่ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งดังกล่าวและคดีนี้ได้ดำเนินกระบวนพิจารณากันมาจนเสร็จสิ้นถึงศาลฎีกาแล้ว ตามสำนวนปรากฏว่าโจทก์ได้แต่งตั้งให้นางสาวชลธิดาเป็นทนายความ และในคำฟ้อง ทนายความโจทก์ลงชื่อเป็นโจทก์ในคำแก้อุทธรณ์และคำแก้ฎีกา ทนายความโจทก์ลงชื่อเป็นผู้เรียงพิมพ์ พอที่จะฟังได้ว่าทนายความโจทก์เป็นผู้เรียงและพิมพ์คำฟ้อง ซึ่งมีอำนาจกระทำได้ คดีจึงไม่จำต้องคืนคำฟ้องให้โจทก์ไปทำมาใหม่หรือแก้ไขเพิ่มเติม การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลที่ดำเนินมาทั้งหมดจึงไม่เสียไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share