คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5511/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกโจทก์ไต่สวนเพียงครั้งเดียวและแจ้งประเมินให้โจทก์เสียภาษีเพิ่ม ถือได้ว่ามีการเรียกตรวจสอบไต่สวนตามหมายเรียกเสร็จสิ้นแล้ว การที่เจ้าพนักงานประเมินแจ้งประเมินครั้งที่สองให้โจทก์เสียภาษีโดยมิได้มีการออกหมายเรียกไต่สวนใหม่จึงเป็นการประเมินโดยไม่มีอำนาจ โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการการค้า โดยแสดงรายรับขาดไปเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของยอดรายรับของโจทก์ที่เจ้าพนักงานตรวจสอบได้ดังนั้น เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจที่จะประเมินภาษีการค้าของโจทก์ได้ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการตามมาตรา 88 ทวิ (2).

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง โจทก์ได้รับแบบแจ้งการประเมินภาษีการค้าจากจำเลยที่ 3 ในสำนวนแรกให้โจทก์ชำระภาษีการค้าพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม สำหรับเดือนมกราคม, เมษายน, กันยายน,ธันวาคม 2520 เป็นเงิน 696,783.77 บาท, สำหรับเดือนเมษายน-ธันวาคม2521 เป็นเงิน 2,082,671.44 บาท, สำหรับเดือนมกราคม-ธันวาคม 2522เป็นเงิน 3,955,717.88 บาท และสำหรับเดือนมกราคม-ธันวาคม 2523เป็นเงิน 1,926,180.79 บาท โดยอ้างว่าโจทก์แสดงรายรับต่ำกว่าความเป็นจริง ต่อมาวันที่ 15 มกราคม 2528 จำเลยที่ 4 ในสำนวนแรกได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมพร้อมเงินเพิ่มสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2520 เป็นเงิน1,175,310.75 บาท, ปี 2521 เป็นเงิน 6,122,006.89 บาท,ปี 2522 เป็นเงิน 14,276,881.13 บาท และปี 2523 เป็นเงิน2,043,846.38 บาท และเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2525 จำเลยที่ 5ได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2523 เพิ่มพร้อมเงินเพิ่มเป็นเงิน 6,277,842.29 บาทโดยอ้างว่าโจทก์นำรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี ค่าการกุศลส่วนที่เกินร้อยละ 1 มาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิและนำรายได้ขายไม้ซุงลงบัญชีไม่ครบถ้วน โจทก์เห็นว่าการประเมินไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย จึงได้ยื่นอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ต่อมาจำเลยที่ 2 (จำเลยที่ 3ในสำนวนหลัง) ได้แจ้งให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมพร้อมเงินเพิ่มเป็นเงิน 404,959 บาท โจทก์เห็นว่าการประเมินไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายจึงอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้วินิจฉัยว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินชอบแล้ว โจทก์เห็นว่าคำวินิจฉัยไม่ถูกต้องทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เพราะโจทก์ไม่ได้นำรายจ่ายต้องห้ามไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ การที่เจ้าพนักงานประเมินคำนวณรายรับของโจทก์โดยนำปริมาตรไม้ที่ปรากฏในใบเสร็จรับเงินค่าภาคหลวงที่โจทก์ชำระคูณด้วยราคาขายขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้เป็นการไม่ชอบ เพราะโจทก์ตกลงขายให้กับลูกช่วงตามปริมาตรแบบเก่าและปริมาตรไม้ที่ปรากฏตามใบเสร็จรับเงินค่าภาคหลวง โจทก์ไม่สามารถนำไม้ออกจากป่าได้ทั้งหมด ทั้งการประเมินพ้นกำหนด 5 ปีและ 10 ปี นับแต่วันยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีการค้าและภาษีเงินได้นิติบุคคล การประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลตามหนังสือแจ้งการประเมินเป็นการประเมินซ้ำซ้อน และนายสำเร็จ จำเลยที่ 5ในสำนวนแรกมิใช่เจ้าพนักงานประเมินจึงไม่มีอำนาจประเมินให้โจทก์ชำระเงินค่าภาษี ขอให้เพิกถอนแบบแจ้งการประเมินภาษีการค้าภาษีเงินได้นิติบุคคลและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การและแก้ไขคำให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินมิได้ซ้ำซ้อน ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ทั้งมิได้ขาดอายุความดั่งที่โจทก์ฟ้อง คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ทำคำวินิจฉัยเป็นหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบแล้ว จึงเป็นคำวินิจฉัยที่ชอบ ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงที่ทั้งสองฝ่ายนำสืบมาฟังได้ความต้องกันในชั้นต้นว่า เจ้าพนักงานประเมินได้ออกหมายเรียกโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.156 ครั้งเดียวภายในกำหนด 5 ปี นับแต่วันที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการการค้าจากการไต่สวนตามหมายเรียกดังกล่าว เจ้าพนักงานประเมินได้แจ้งประเมินให้โจทก์ชำระภาษีการค้าและภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2520-2523 ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการการค้า สำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2521 และปี 2523 นั้น มีการแจ้งประเมินสองครั้ง โดยในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2521 นั้น ครั้งแรกแจ้งประเมินตามหนังสือที่ 3032201075 ลงวันที่ 15 มกราคม 2528 ให้โจทก์ชำระภาษีและเงินเพิ่มรวม 6,122,006.89 บาท ครั้งที่สองแจ้งประเมินตามหนังสือที่ 3032201277 ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2530 ให้โจทก์ชำระภาษีและเงินเพิ่มรวม 404,959 บาท ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2523ครั้งแรกแจ้งประเมิน ตามหนังสือที่ 3032201077 ลงวันที่ 15 มกราคม2528 ให้โจทก์ชำระภาษีและเงินเพิ่มรวม 2,043,846.38 บาทครั้งที่สองแจ้งประเมินตามหนังสือที่ 3032201087 ลงวันที่ 30พฤษภาคม 2529 ให้โจทก์ชำระภาษีและเงินเพิ่มรวม 6,277,842.29 บาทการแจ้งการประเมินทุกครั้งโจทก์ได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลา คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ทุกกรณี คดีมีปัญหาวินิจฉัยว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในทุกกรณีนั้นเป็นการชอบหรือไม่
เห็นสมควรวินิจฉัยเฉพาะปัญหาในเรื่องการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลครั้งที่สองในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2521 และปี 2523 ก่อนข้อเท็จจริงยุติว่าเจ้าพนักงานประเมินได้ออกหมายเรียกโจทก์มาไต่สวนครั้งเดียวตามเอกสารหมาย ล.156 และออกหมายเรียกมาไต่สวนครั้งนี้ได้มีการแจ้งประเมินให้โจทก์เสียภาษีเพิ่มแล้วสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2521 ตามหนังสือที่ 3032201075ลงวันที่ 15 มกราคม 2528และสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2523 ตามหนังสือที่ 3032201077ลงวันที่ 15 มกราคม 2528 และโจทก์ได้อุทธรณ์การประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินทั้งสองฉบับนี้ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แล้วคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ กรณีจึงต้องถือว่าการเรียกตรวจสอบไต่สวนตามหมายเรียกเอกสารหมาย ล.156นั้น ได้เสร็จสิ้นลงแล้วสำหรับอำนาจในการแจ้งประเมินของเจ้าพนักงานประเมินที่มีขึ้นตามหมายเรียกไต่สวนดังกล่าว การที่เจ้าพนักงานประเมินมาแจ้งประเมินครั้งที่สองโดยมิได้มีการออกหมายเรียกมาไต่สวนใหม่ภายในกำหนดเวลา 5 ปี นั้น จึงเป็นการประเมินโดยไม่มีอำนาจที่จะทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะความมุ่งหมายของกฎหมายที่ให้มีการออกหมายเรียกมาไต่สวนก่อนมีการประเมินนั้นก็โดยมุ่งหมายที่จะให้มีการประเมินให้เสร็จสิ้นเสียในคราวที่มีการออกหมายเรียกมาไต่สวน เนื่องจากแจ้งประเมินนั้นเป็นผลให้อายุความสะดุดหยุดลง ถ้ามีการแจ้งประเมินได้หลายครั้งในการออกหมายเรียกมาไต่สวนคราวเดียวแล้วความรับผิดของผู้ที่จะต้องถูกแจ้งประเมินก็จะมีกำหนดเวลาเกินกว่า 10 ปี นับแต่ได้ยื่นแบบแสดงรายการอันจะเป็นเหตุให้ความรับผิดของผู้เสียภาษีที่จะถูกแจ้งประเมินนั้นไม่มีเวลาที่จะเห็นได้ว่าจะยุติแน่นอนเมื่อใด ดังนั้นศาลฎีกาจึงเห็นว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินครั้งที่สองสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2521 และ 2523 ตามหนังสือที่ 3032201277ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2530 และหนังสือที่ 3032201187 ลงวันที่30 พฤษภาคม 2529 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เกี่ยวกับหนังสือแจ้งประเมินตามที่กล่าวนั้น เป็นการไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ชอบที่จะเพิกถอนเสีย…
โจทก์อุทธรณ์ในข้อสามว่า การประเมินภาษีการค้าเกินกว่า 5 ปีนับแต่วันที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการ จึงเป็นการประเมินที่เกินกำหนด5 ปี ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 88 ทวิ(1) ได้พิจารณาการประเมินภาษีการค้าในรอบระยะเวลาบัญชีที่พิพาทแล้วเป็นกรณีที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการการค้าโดยแสดงรายรับขาดไปได้ความตามที่จำเลยนำสืบตามเอกสารหมาย ล.186 ว่า ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2520 โจทก์มีรายรับ 20,563,552.51 บาท โจทก์ยื่นไว้5,436,398.75 บาท ปี 2521 โจทก์มีรายรับ 53,473,632.20 บาทโจทก์ยื่นไว้ 6,417,178.92 บาท ปี 2522 โจทก์มีรายรับ104,467,553.76 บาท โจทก์ยื่นไว้ 11,243,597.43 บาท ปี 2523โจทก์มีรายรับ 53,311,458.36 บาท โจทก์ยื่นไว้ 6,298,013.40 บาทเห็นได้ว่าในแต่ละปีนั้นโจทก์ยื่นแสดงรายการการค้าโดยแสดงรายรับขาดไปเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของยอดรายรับของโจทก์ที่เจ้าพนักงานตรวจสอบได้ ดังนั้นเจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจที่จะประเมินภาษีการค้าของโจทก์ได้ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากรมาตรา 88 ทวิ(2) มิใช่จะต้องประเมินภายในกำหนด 5 ปี ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 88 ทวิ(1) ดังที่โจทก์อุทธรณ์ เมื่อข้อเท็จจริงยุติว่าการประเมินภาษีการค้าของโจทก์นั้น เจ้าพนักงานประเมินภายในกำหนด 10 ปี จึงเป็นการแจ้งประเมินภายในกำหนดเวลาที่กฎหมายบัญญัติไว้ ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่าการประเมินของโจทก์ไม่ขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล…”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการแจ้งประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2521ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2521 ครั้งที่สองตามหนังสือที่ 3032201277ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2530 ที่ให้โจทก์ชำระภาษีและเงินเพิ่มรวม 404,595 บาท และรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2523ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2523 ครั้งที่สองตามหนังสือที่303220187 ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2529 ที่ให้โจทก์ชำระภาษีและเงินเพิ่มรวม 6,277,842.29 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง.

Share