แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ในวันนัดสืบพยานจำเลย ทนายจำเลยที่ 2 นอนรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลมีบัตรตรวจโรคผู้ป่วย รายงานการรักษาและใบรับรองแพทย์มาเป็นหลักฐาน เชื่อ ได้ว่าทนายจำเลยที่ 2 ป่วยจนไม่สามารถมาศาลได้จริง เป็นเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้ การนัดสืบพยานจำเลยในวันนั้นเป็นการซักค้านตัวจำเลยที่ 2 ของทนายโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 2 ยังเบิกความไม่เสร็จก็ยากที่จะรับฟังเป็นความจริงได้ถ้า ศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีย่อมจะทำให้เสียความยุติธรรมชอบที่ศาลจะสั่งเลื่อนคดีต่อไปเท่าที่จำเป็นแม้จะเกินกว่าหนึ่งครั้งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 40.
ย่อยาว
คดีสองสำนวน ศาลชั้นต้นรวมการพิจารณาและพิพากษา
สำนวนแรกโจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการได้ว่าจ้างโจทก์ให้ดำเนินการปรับปรุงตกแต่งอาคารพาณิชย์4 ชั้น จำนวน 3 คูหา ต่อมาจำเลยผิดสัญญา จำเลยขอเลิกสัญญากับโจทก์โจทก์ตกลงเลิกสัญญาแต่ขอให้จำเลยชำระค่าจ้างตามผลงานที่ได้กระทำไป ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 281,400 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ทำงานไม่ตรงตามสัญญาใช้วัสดุอุปกรณ์ไม่ถูกต้องตามที่กำหนด และไม่ได้ดำเนินการตามสัญญาว่าจ้างโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้าง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม
สำนวนหลังจำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์ทั้งสองเป็นจำเลยว่าจำเลยทั้งสองไม่ทำงานตามสัญญา จนโจทก์ไม่อาจใช้ประโยชน์จากงานที่ทำนั้นได้ โจทก์ต้องว่าจ้างผู้อื่นมาทำงานให้เสร็จ รวมเป็นค่าเสียหายกว่า 1,000,000 บาท แต่โจทก์ขอคิดเพียง 600,000 บาท ขอให้จำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 600,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การเป็นใจความทำนองเดียวกับคำฟ้องในสำนวนแรกกับปฏิเสธในเรื่องค่าเสียหาย
เมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว ระหว่างสืบพยานจำเลย ทนายจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอ้างเหตุเจ็บป่วยกะทันหัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานไปทำการตรวจแล้ว เชื่อว่าอาการของทนายจำเลยที่ 2 ที่อ้างว่าป่วยนั้นไม่ร้ายแรงถึงกับจะมาศาลไม่ได้ จึงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและถือว่าจำเลยไม่มีพยานมาสืบ ให้งดสืบพยานจำเลย
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งงดสืบพยานจำเลยและอนุญาตให้จำเลยนำพยานเข้าสืบต่อไป
ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องของจำเลยที่ 2 แล้ว ไม่เชื่อว่าทนายจำเลยที่ 2 ป่วยจนไม่สามารถมาศาล จึงมีคำสั่งไม่อนุญาตและพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 121,462.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จให้แก่โจทก์ ให้ยกฟ้องสำนวนหลัง
โจทก์ที่ 1 และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 281,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ในวันนัดสืบพยานจำเลยวันที่ 30 มกราคม2528 ทนายจำเลยที่ 2 มีใบตรวจรับรองของนายแพทย์เพียร บุรัสการมาประกอบคำร้องขอเลื่อนคดี ในชั้นไต่สวนก็ได้ความว่าในวันดังกล่าวทนายจำเลยที่ 2 ได้เข้าไปนอนรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลเพชรบุรีตัดใหม่มีบัตรตรวจโรคผู้ป่วยและรายงานการรักษาและใบรับรองแพทย์มาเป็นหลักฐานด้วย เชื่อได้ว่าทนายจำเลยที่ 2 ป่วยจนไม่สามารถมาศาลได้จริง การเจ็บป่วยนั้นนับว่าเป็นเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้การนัดสืบพยานจำเลยในวันนั้นเป็นการซักค้านตัวจำเลยที่ 2 ของทนายโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 2 ยังเบิกความไม่เสร็จก็ยากที่จะรับฟังเป็นความจริงได้ถ้าศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีย่อมจะทำให้เสียความยุติธรรมชอบที่ศาลชั้นต้นจะสั่งเลื่อนคดีต่อไปเท่าที่จำเป็น แม้จะเกินกว่าหนึ่งครั้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 40 กรณีมิใช่เป็นการประวิงคดีเพราะจำเลยก็เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์เป็นจำเลยในสำนวนหลังเช่นกัน และการเลื่อนคดีครั้งก่อน ๆ ก็มีเหตุจำเป็นทั้งสิ้น…”
พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานจำเลยต่อไปจนสิ้นกระแสความแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี.