คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5504/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตามบทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาตรา 156 วรรคท้าย เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แล้ว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อาจอุทธรณ์คำสั่งนั้นต่อศาลอุทธรณ์ได้ภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง เมื่อปรากฏว่าคดีนี้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยื่นคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2549 และศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ในวันเดียวกันนั้น ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นแล้วในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2549 ตามข้อความในคำร้องที่ว่า ข้าพเจ้ารอฟังคำสั่งอยู่ ถ้าไม่รอให้ถือว่าทราบแล้ว ส่วนการที่ศาลชั้นต้นได้ประทับข้อความไว้ในด้านหน้าคำร้องว่า ถ้าศาลไม่อาจสั่งได้ในวันนี้ ผู้ยื่นจะมาติดตามเพื่อทราบคำสั่งทุก ๆ 7 วัน มิฉะนั้นถือว่าทราบคำสั่งแล้วและให้ทนายจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ลงชื่อไว้นั้น ย่อมหมายความถึง การที่ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งในวันที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยื่นคำร้องเท่านั้น การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์
2549 จึงเกินกำหนดเวลา 7 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง อุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มิได้กำหนดเวลา 7 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง อุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มิได้กำหนดเวลาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นำเงินค่าธรรมเนียมศาลมาชำระภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ เป็นการไม่ชอบ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดเวลาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นำเงินค่าธรรมเนียมศาลมาชำระภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา
การดำเนินกระบวนพิจารณานับตั้งแต่จำเลยทั้งห้ายื่นคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์จนถึงชั้นฎีกานั้น เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งห้าอ้างว่าเป็นคนยากจนไม่มีทรัพย์สินพอที่จะเสียค่าธรรมเนียมศาลได้ จึงไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 149 วรรคท้าย เมื่อจำเลยทั้งห้าเสียค่าคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ ค่าคำร้องขอให้พิจารณาคำขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาใหม่เพื่ออนุญาตให้นำพยานหลักฐานมาแสดงเพิ่มเติม ค่าคำร้องอุทธรณ์คำสั่งกรณีที่ไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งห้าไต่สวนพยานเพิ่มเติม ค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยทั้งห้า ค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มา จึงต้องคืนให้แก่จำเลยทั้งห้าทั้งหมด

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงินจำนวน 4,254,374.02 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 3,489,933.21 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งห้าไม่ชำระหนี้ให้ยึดที่ดินตามโฉนดเลขที่ 45221 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2 และที่ดินตามโฉนดเลขที่ 48963 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 3 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ หากได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้าออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์และยื่นคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์
ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้วมีคำสั่งว่า คดีฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งห้ายากจนไม่มีเงินพอที่จะเสียค่าขึ้นศาล ให้ยกคำร้อง หากจำเลยทั้งห้าประสงค์จะดำเนินคดีต่อไปให้นำเงินค่าธรรมเนียมศาลมาชำระภายใน 15 วัน
จำเลยทั้งห้ายื่นคำร้องขอให้พิจารณาคำขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาใหม่เพื่ออนุญาตให้นำพยานให้นำพยานหลักฐานมาแสดงเพิ่มเติม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยทั้งห้า หากจำเลยทั้งห้ายังติดใจอุทธรณ์ให้นำเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์มาวางต่อศาลภายใน 15 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยื่นคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์อีกศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เคยยื่นคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาแล้ว การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มายื่นคำร้องเช่นนี้อีกจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อุทธรณ์คำสั่ง (ที่ถูกต้องทำเป็นคำร้อง)
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นพ้นกำหนด 7 วัน นับตั้งแต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 156 วรรคท้าย ให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ว่า คำสั่งของศาลอุทธรณ์ที่ยกอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ชอบหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ทราบคำสั่งศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2549 เนื่องจากเจ้าหน้าที่นำสำนวนลงมาจากห้องผู้พิพากษาในวันดังกล่าว และศาลชั้นต้นมีข้อกำหนดให้มาตรวจคำสั่งภายใน 7 วัน นับแต่วันยื่นอุทธรณ์ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงอุทธรณ์คำสั่งในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2549 และได้ระบุไว้ในอุทธรณ์ว่าเพิ่งทราบคำสั่งในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2549 นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 156 วรรคท้าย บัญญัติว่า ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลให้แต่เฉพาะบางส่วนหรือมีคำสั่งให้ยกคำขอเสียทีเดียว ถ้าเป็นการขอฟ้องหรือต่อสู้คดีในชั้นศาลชั้นต้นผู้ขออาจอุทธรณ์คำสั่งนั้นต่อศาลอุทธรณ์ได้ภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันมีคำสั่งถ้าเป็นการขอฟ้องหรือต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกา ผู้ขออาจอุทธรณ์คำสั่งนั้นไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาแล้วแต่กรณีโดยยื่นคำขอเป็นคำร้องต่อศาลชั้นต้นภายในกำหนดเดียวกัน คำสั่งของศาลอุทธรณ์เช่นว่านี้ให้เป็นที่สุด ตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แล้ว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อาจอุทธรณ์คำสั่งนั้นต่อศาลอุทธรณ์ได้ภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง เมื่อปรากฏว่าคดีนี้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยื่นคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2549 และศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ในวันเดียวกันนั้น ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นแล้วในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2549 ตามข้อความในคำร้องที่ว่า ข้าพเจ้ารอฟังคำสั่งอยู่ถ้าไม่รอให้ถือว่าทราบแล้ว ส่วนการที่ศาลชั้นต้นได้ประทับข้อความไว้ในด้านหน้าคำร้องว่า ถ้าศาลไม่อาจสั่งได้ในวันนี้ ผู้ยื่นจะมาติดตามเพื่อทราบคำสั่งทุก ๆ 7 วัน มิฉะนั้นถือว่าทราบคำสั่งแล้ว และให้ทนายจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ลงชื่อไว้นั้น ย่อมหมายความถึง การที่ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งในวันที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยื่นคำร้องเท่านั้นแต่เมื่อปรากฏว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ในวันที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยื่นคำร้อง จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2549 นั่นเอง ส่วนการที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อ้างว่า เจ้าหน้าที่นำสำนวนลงมาจากห้องผู้พิพากษาในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2549 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงทราบคำสั่งศาลชั้นต้นในวันดังกล่าวนั้น เห็นว่า ข้อกล่าวอ้างดังกล่าวนั้นเลื่อนลอยไม่อาจรับฟังได้ และการที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่ขวนขวายเพื่อติดตามทราบคำสั่งศาลในเวลาอันสมควรทั้งที่รู้ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต้องใช้สิทธิในการอุทธรณ์คำสั่งภายใน 7 วัน ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่ใส่ใจในคดีของตนข้ออ้างตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่อาจรับฟังได้ ดังนั้นจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นได้ภายในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2549 แต่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กลับยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2549 จึงเกินกำหนดเวลา 7 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฟังไม่ขึ้น แต่การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มิได้กำหนดเวลาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นำเงินค่าธรรมเนียมศาลมาชำระภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์และภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฟังจึงเป็นการไม่ชอบ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดเวลาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นำเงินค่าธรรมเนียมศาลมาชำระภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา
อนึ่ง การดำเนินกระบวนพิจารณานับตั้งแต่จำเลยทั้งห้ายื่นคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์จนถึงชั้นฎีกานั้น เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งห้าอ้างว่าเป็นคนยากจนไม่มีทรัพย์สินพอที่จะเสียค่าธรรมเนียมศาลได้ จึงไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 149 วรรคท้าย เมื่อจำเลยทั้งห้าเสียค่าคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ ค่าคำร้องขอให้พิจารณาคำขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาใหม่เพื่ออนุญาตให้นำพยานหลักฐานมาแสดงเพิ่มเติม ค่าคำร้องอุทธรณ์คำสั่งกรณีที่ไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งห้าไต่สวนพยานเพิ่มเติม ค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยทั้งห้า ค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาคำสั่งของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มาจึงต้องคืนให้แก่จำเลยทั้งห้าทั้งหมด”
พิพากษายืน หากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ประสงค์จะอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นต่อไปให้นำเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์มาวางต่อศาลชั้นต้นภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันฟังคำพิพากษานี้ ให้คืนค่าคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ ค่าคำร้องขอให้พิจารณาคำขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาใหม่เพื่ออนุญาตให้นำพยานหลักฐานมาแสดงเพิ่มเติม ค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยทั้งห้า ค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาคำสั่งของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แก่จำเลยทั้งห้า

Share