แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เมื่อพนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยและศาลสั่งประทับฟ้อง ศาลย่อมมีอำนาจออกหมายขังจำเลยไว้ระหว่างพิจารณาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 71 และมาตรา 88 ที่ใช้ขณะยื่นคำร้องและที่แก้ไขใหม่ ซึ่งเป็นขั้นตอนต่างหากจากการจับกุมและควบคุมจำเลยของเจ้าพนักงานตำรวจ การคุมขังจำเลยระหว่างพิจารณาจึงไม่ขัดต่อมาตรา 90
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2546 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 100/1, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33 และริบของกลาง
ระหว่างสอบสวนจำเลยถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันถูกจับ (วันที่ 14 สิงหาคม 2546) ตลอดมา และขณะโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต้องขังอยู่ตามหมายขังระหว่างสอบสวนของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นสั่งประทับฟ้อง และออกหมายขังจำเลยระหว่างพิจารณา
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น ผู้ร้องซึ่งเป็นบิดาของจำเลยยื่นคำร้องลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2547 ว่า เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2546 จำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองกำแพงเพชรจับกุมและคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย การควบคุมหรือการคุมขังจำเลยระหว่างพิจารณาจึงมิชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน ขอให้ไต่สวนคำร้องและสั่งปล่อยจำเลย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ศาลมีอำนาจควบคุมจำเลยไว้ระหว่างพิจารณาหรือไม่ โดยผู้ร้องฎีกาอ้างว่า เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมและควบคุมจำเลยโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ทำให้การคุมขังจำเลยระหว่างพิจารณาไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า เมื่อพนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยและศาลประทับฟ้อง ศาลย่อมมีอำนาจออกหมายขังจำเลยไว้ระหว่างพิจารณาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 71 และมาตรา 88 ที่ใช้ขณะยื่นคำร้องและที่แก้ไขใหม่ ซึ่งเป็นขั้นตอนต่างหากจากการจับกุมและควบคุมจำเลยของเจ้าพนักงานตำรวจ การคุมขังจำเลยระหว่างพิจารณาจึงไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ผู้ร้องอ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ และเมื่อวินิจฉัยเช่นนี้แล้ว ปัญหาอื่นตามฎีกาของผู้ร้องจึงไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน