คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5387-5388/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยมีเงื่อนไขในลักษณะที่โจทก์มีเจตนาจะให้จำเลยทำงานให้โจทก์แล้วเสร็จก่อน แล้วจึงหักหนี้ค่าก่อสร้างกับมูลหนี้ที่ออกเช็คพิพาทคดีนี้ภายหลัง เมื่อจำเลยก่อสร้างหรือชำระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วน โจทก์จึงจะถอนฟ้องคดีนี้ให้ ไม่มีข้อความตอนใดแสดงว่าโจทก์ตกลงระงับข้อพิพาทหรือสละสิทธิในการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยทันทีแต่อย่างใด จึงมิใช่การยอมความเพื่อให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
ข้อตกลงดังกล่าวเป็นเรื่องที่โจทก์ฝ่ายเดียวผ่อนผันการชำระหนี้ให้แก่จำเลยมิใช่ต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ไม่ทำให้มูลหนี้เดิมตามเช็คระงับไป แล้วเกิดหนี้ใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความทั้งไม่มีการเปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้จึงมิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่อันจะทำให้หนี้เดิมระงับไปแต่อย่างใด เมื่อจำเลยมิได้ใช้เงินตามเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับให้โจทก์ และหนี้ที่ได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นก็ไม่สิ้นผลผูกพันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 7 คดีจึงไม่เลิกกัน

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่าโจทก์ และเรียกจำเลยทั้งสองสำนวนว่าจำเลย
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 สำนวนแรกรวม 3 กระทง จำคุกกระทงละ 2 เดือน รวมจำคุก 6 เดือน สำนวนหลังจำคุก 1 เดือน
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้จำหน่ายคดีจากสารบบความ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (3)
โจทก์ทั้งสองสำนวนฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปแล้วหรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 7 ฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า จำเลยออกเช็คพิพาทของธนาคารไทยทนุ จำกัด (มหาชน) สาขาถนนราชวิถี นครปฐม จำนวน 4 ฉบับ มอบให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ค่าสินค้าอุปกรณ์การก่อสร้างที่จำเลยซื้อไปจากโจทก์ ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับถึงกำหนด โจทก์นำไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ในระหว่างพิจารณาคดีโจทก์และจำเลยทำบันทึกข้อตกลงมีข้อความว่า เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2541 โจทก์ได้รับเงินจำนวน 30,000 บาท จากจำเลยเพื่อชำระหนี้ในคดีนี้ ส่วนหนี้ที่เหลือโจทก์และจำเลยทำบันทึกข้อตกลงมีข้อความว่า เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2541 โจทก์ได้รับเงินจำนวน 30,000 บาท จากจำเลยเพื่อชำระหนี้ในคดีนี้ ส่วนหนี้ที่เหลือโจทก์และจำเลยตกลงกันให้จำเลยทำการก่อสร้าง สิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ให้โจทก์ เพื่อเป็นการชำระหนี้ให้โจทก์ในคดีนี้ต่อไป เมื่อจำเลยก่อสร้างเสร็จหรือชำระหนี้โจทก์ครบถ้วน โจทก์จึงจะถอนฟ้องคดีนี้ เห็นว่า ข้อตกลงดังกล่าวมีเงื่อนไขในลักษณะที่โจทก์มีเจตนาจะให้จำเลยทำงานให้โจทก์แล้วเสร็จก่อน แล้วจึงหักหนี้ค่าก่อสร้างกับมูลหนี้ที่ออกเช็คพิพาทคดีนี้กันภายหลัง เมื่อจำเลยก่อสร้างหรือชำระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วน โจทก์จึงจะถอนฟ้องคดีนี้ให้ ไม่มีข้อความตอนใดแสดงว่าโจทก์ตกลงระงับข้อพิพาทหรือสละสิทธิในการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยทันทีแต่อย่างใด จึงมิใช่การยอมความเพื่อให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) นอกจากนี้ ข้อตกลงดังกล่าวที่ระบุว่า เมื่อจำเลยก่อสร้างเสร็จหรือชำระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วนโจทก์จึงจะถอนฟ้อง แสดงให้เห็นว่าเป็นเพียงการให้โอกาสจำเลยมีทางเลือกชำระหนี้ด้วยการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างหรือชำระหนี้เงินให้โจทก์ก็ได้ เป็นเรื่องที่โจทก์ฝ่ายเดียวผ่อนผันการชำระหนี้ให้แก่จำเลย มิใช่ต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันจึงไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ไม่ทำให้มูลหนี้เดิมตามเช็คระงับไปแล้วเกิดหนี้ใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ทั้งไม่มีการเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ จึงมิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่อันจะทำให้หนี้เดิมระงับไปแต่อย่างใด เมื่อจำเลยมิได้ใช้เงินตามเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับให้โจทก์ และหนี้ที่ได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นก็ไม่สิ้นผลผูกพัน ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 7 คดีจึงไม่เลิกกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปแล้วให้จำหน่ายคดีจากสารบบความศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่จำเลยออกเช็คพิพาทชำระหนี้ให้โจทก์ฉบับที่ 1 ถึงฉบับที่ 3 สั่งจ่ายเงินฉบับละ 100,000 บาท และฉบับที่ 4 สั่งจ่ายเงินจำนวน 65,728 บาท ซึ่งแต่ละฉบับเป็นจำนวนเงินไม่มากนัก ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยตามเช็คฉบับที่ 1 ถึงฉบับที่ 3 จำคุกกระทงละ 2 เดือน และฉบับที่ 4 จำคุก 1 เดือนนั้น หนักเกินไป ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดี”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (1) (2) การกระทำของจำเลยสำนวนแรกเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวม 3 กระทง จำคุกกระทงละ 1 เดือน รวมจำคุก 3 เดือน สำนวนหลังจำคุก 15 วัน

Share