คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5396/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การฟ้องคดีล้มละลายเป็นการฟ้องให้จัดการทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย เจ้าหนี้รายอื่นของลูกหนี้แม้ไม่ได้ยื่นฟ้องก็มีสิทธิในทรัพย์สินของลูกหนี้โดยอาศัยวิธีการในกฎหมายล้มละลาย เมื่อปรากฏว่าศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดแล้วในคดีนี้ และเจ้าหนี้ที่ยื่นฟ้องจำเลยไว้ต้องไปใช้สิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต่อไป กรณีจึงไม่มีประโยชน์ที่ศาลแพ่งในคดีหมายเลขดำที่ ล.221/2528 และคดีล้มละลายอีก 9 คดี ที่จำเลยถูกเจ้าหนี้อื่นฟ้องเป็นคดีล้มละลายจะต้องพิจารณาคดีอีกต่อไป ศาลจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีดังกล่าวตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 15 ทั้งคำสั่งจำหน่ายคดีก็มิได้ลบล้างผลของการยื่นคำฟ้องคดีล้มละลายดังกล่าวแต่อย่างใด เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยถูกฟ้องขอให้ล้มละลายในคดีนี้เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2528 แต่จำเลยถูกฟ้องขอให้ล้มละลายในคดีหมายเลขดำที่ ล.221/2528 แล้วตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2528 การที่จำเลยโอนที่ดินพิพาทให้ผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อวันที่ 25 และ 27 มิถุนายน 2528 ซึ่งอยู่ในระยะเวลา 3 เดือน ก่อนมีการขอให้จำเลยล้มละลาย ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 115 (เดิม)
การเพิกถอนการโอนตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 115 (เดิม) มิได้บัญญัติให้คำนึงถึงความสุจริตและการเสียค่าตอบแทนของผู้รับโอน แต่ให้พิจารณาถึงความมุ่งหมายของลูกหนี้ว่าจะให้เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่นหรือไม่เท่านั้น คดีนี้ขณะโอนที่ดินพิพาทให้ผู้คัดค้านที่ 1 จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวและมีเจ้าหนี้อีกหลายราย การโอนที่ดินพิพาททำให้กองทรัพย์สินของจำเลยลดน้อยถอยลง เป็นเหตุให้เจ้าหนี้อื่นไม่ได้รับชำระหนี้หรือได้รับชำระหนี้น้อยกว่าที่ควรจะได้รับ การโอนที่ดินพิพาทให้ผู้คัดค้านที่ 1 จึงทำให้ได้เปรียบเจ้าหนี้อื่น กรณีมีเหตุให้ศาลสั่งเพิกถอนการโอนได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2528 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2528 และพิพากษาให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2529
ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 24737 และ 24738 ตำบลกูบแดง (หลุมไผ่) อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง และเพิกถอนการจำนองและการไถ่ถอนจำนองที่ดินดังกล่าวโดยให้ผู้คัดค้านทั้งหกร่วมกันโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวคืนให้แก่กองทรัพย์สินของจำเลย หากไม่โอนขอให้ถือเอาคำสั่งหรือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา หากไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ให้ผู้คัดค้านทั้งหกร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 53,322,300 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันยื่นคำร้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่เคยเล่นแชร์น้ำมันกับจำเลยไม่รู้ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว การโอนกระทำโดยสุจริต มีค่าตอบแทน และมิได้มุ่งหวังให้ผู้คัดค้านที่ 1 ได้เปรียบแก่เจ้าหนี้รายอื่น ขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 ไม่ยื่นคำคัดค้าน
ผู้คัดค้านที่ 4 ยื่นคำคัดค้านว่า ได้รับโอนที่ดินพิพาทโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ผู้ร้องขอเพิกถอนการโอนเกิน 1 ปี จึงขาดอายุความ และเคยมีการขอเพิกถอนที่ดินพิพาทซึ่งศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกคำร้องของผู้ร้องมาแล้ว การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องเข้ามาอีกจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านที่ 5 ยื่นคำคัดค้านว่า ได้รับจำนองที่ดินพิพาทโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน มิใช่ผู้รับโอนที่ดินหรือผู้รับประโยชน์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 114 และมาตรา 115 ผู้ร้องไม่มีสิทธิร้องขอเพิกถอนการจำนอง ขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านที่ 6 ยื่นคำคัดค้านว่า ได้รับโอนที่ดินพิพาทจากผู้คัดค้านที่ 4 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ผู้ร้องไม่อาจขอให้เพิกถอนการโอนได้ ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเพิกถอนเกิน 1 ปี ถือว่าขาดอายุความ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 24737 และ 24738 ตำบลกูบแดง (หลุมไผ่) อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างจำเลยผู้โอนกับผู้คัดค้านที่ 1 เพิกถอนการจำนองและการไถ่ถอนจำนองที่ดินดังกล่าวระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 กับผู้คัดค้านที่ 2 เพิกถอนการโอนที่ดินดังกล่าวระหว่างผู้คัดค้านที่ 3 กับผู้คัดค้านที่ 4 เพิกถอนการจำนองและไถ่ถอนจำนองที่ดินดังกล่าวระหว่างผู้คัดค้านที่ 4 กับผู้คัดค้านที่ 5 เพิกถอนการโอนที่ดินดังกล่าวระหว่างผู้คัดค้านที่ 4 กับผู้คัดค้านที่ 6 เพิกถอนการจำนองที่ดินดังกล่าวระหว่างผู้คัดค้านที่ 6 กับผู้คัดค้านที่ 5 และให้ผู้คัดค้านทั้งหกกลับคืนสู่ฐานะเดิมโดยให้ร่วมกันโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างคืนสู่กองทรัพย์สินของจำเลย หากไม่โอนให้ถือเอาคำสั่งของศาลแทนการแสดงเจตนาของผู้คัดค้านทั้งหก หากไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ ให้ผู้คัดค้านทั้งหกร่วมกันชดใช้ราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นเงิน 53,322,300 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่มีคำสั่ง (วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2546) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง
ผู้คัดค้านที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษายืน
ผู้คัดค้านที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 ข้อแรกมีว่า การโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านที่ 1 ได้กระทำในระยะเวลา 3 เดือน ก่อนมีการขอให้จำเลยล้มละลายหรือไม่ เห็นว่า การฟ้องคดีล้มละลายมีความแตกต่างจากการฟ้องบังคับลูกหนี้ให้ชำระหนี้ในคดีแพ่งสามัญเนื่องจากการฟ้องคดีล้มละลายเป็นการฟ้องให้จัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนดไว้เพื่อประโยชน์แก่บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลาย ไม่ว่าผู้ใดจะฟ้องขอให้ลูกหนี้ล้มละลายก็ตามเจ้าหนี้รายอื่นของลูกหนี้แม้ไม่ได้ยื่นฟ้องก็มีสิทธิมีส่วนในทรัพย์สินของลูกหนี้รายนั้น ๆ โดยอาศัยวิธีการในกฎหมายล้มละลาย ผู้ร้องมีนางสาวอุทัยวรรณ แจ่มสุธี ซึ่งเคยเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รับผิดชอบสำนวนคดีนี้เบิกความว่า เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2528 จำเลยถูกนางสาวสุพัตรา ศรีอ่ำดี ฟ้องขอให้ล้มละลายต่อศาลแพ่งในคดีหมายเลขดำที่ ล.221/2528 ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยชั่วคราว หลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดในคดีนี้จึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีหมายเลขดำที่ ล.221/2528 และจำหน่ายคดีล้มละลายที่จำเลยถูกฟ้องอีก 9 คดี ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ได้โต้แย้งเรื่องวันที่ที่จำเลยถูกฟ้องในคดีหมายเลขดำที่ ล.221/2528 ส่วนการจำหน่ายคดีก็ไม่ใช่เพราะโจทก์ทิ้งฟ้องหรือถอนฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง โดยได้ความตามหนังสือแจ้งคำสั่งว่าเป็นการจำหน่ายคดีตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 15 ซึ่งเป็นการจำหน่ายคดีเนื่องจากจำเลยถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีนี้แล้ว ไม่มีประโยชน์ที่ศาลจะต้องพิจารณาคดีอื่นที่จำเลยถูกฟ้องขอให้ล้มละลายอีกต่อไป เพราะการฟ้องคดีล้มละลายของเจ้าหนี้แต่ละคนมีวัตถุประสงค์เหมือนกันคือเพื่อให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้วดำเนินการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เจ้าหนี้ที่ยื่นฟ้องจำเลยไว้ต้องไปใช้สิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต่อไป คำสั่งจำหน่ายคดีมิได้ลบล้างผลของการยื่นคำฟ้องคดีล้มละลายหมายเลขดำที่ ล.221/2528 แต่อย่างใด พยานหลักฐานของผู้ร้องฟังได้ว่าจำเลยถูกฟ้องขอให้ล้มละลายวันที่ 27 มิถุนายน 2528 และจำเลยโอนที่ดินพิพาทให้ผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อวันที่ 25 และ 27 มิถุนายน 2528 ซึ่งอยู่ในระยะเวลา 3 เดือนก่อนมีการขอให้จำเลยล้มละลาย ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 115 (เดิม) ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 ข้อต่อไปมีว่า มีเหตุเพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านที่ 1 หรือไม่ ผู้คัดค้านที่ 1 ฎีกาว่า ผู้คัดค้านที่ 1 รับโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน ขณะรับโอนผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ทราบว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวและการโอนมิได้กระทำโดยมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านที่ 1 ได้เปรียบเจ้าหนี้อื่นนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 115 (เดิม) บัญญัติว่า “การโอนทรัพย์สินหรือการกระทำใด ๆ ซึ่งลูกหนี้ได้กระทำหรือยินยอมให้กระทำในระหว่างระยะเวลา 3 เดือน ก่อนมีการขอให้ล้มละลายและภายหลังนั้น โดยมุ่งหมายให้เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ศาลมีอำนาจสั่งเพิกถอนการโอนหรือการกระทำนั้นได้” ดังนี้เห็นได้ว่า การเพิกถอนการโอนตามมาตราดังกล่าวมิได้บัญญัติให้คำนึงถึงความสุจริตและการเสียค่าตอบแทนของผู้รับโอนดังที่ผู้คัดค้านที่ 1 ฎีกา แต่ให้พิจารณาถึงความมุ่งหมายของลูกหนี้ว่าจะให้เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่นหรือไม่เท่านั้น ซึ่งในข้อนี้พยานของผู้คัดค้านที่ 1 คือนายเรืองวิทย์ ลิกค์ และนางสาวปรานี โชติรัชต์กุล เบิกความมีข้อเท็จจริงทำนองเดียวกันว่า นางสาวปรานีเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการผู้คัดค้านที่ 1 และเป็นภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสของนายเรืองวิทย์ ส่วนนายเรืองวิทย์เป็นหุ้นส่วนของผู้คัดค้านที่ 1 จำเลยจ่ายเช็คชำระหนี้ค่าที่ดินให้พยานทั้งสอง ต่อมาธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน พยานทวงถามและแจ้งว่าจะดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย จำเลยจึงโอนที่ดินพิพาทชำระหนี้แก่พยานทั้งสอง ซึ่งมีชื่อผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ซื้อ ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านมีข้อเท็จจริงตอนหนึ่งว่าผู้คัดค้านที่ 1 รับโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยแทนนายเรืองวิทย์ ซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าหนี้จำเลยอยู่ก่อนแล้วได้ความจากคำเบิกความของนางสาวอุทัยวรรณ แจ่มสุธี พยานผู้ร้องด้วยว่า จำเลยถูกเจ้าหนี้ยื่นฟ้องขอให้ล้มละลายรวม 12 คดี และต่อมาจำเลยถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีนี้ ดังนี้แสดงให้เห็นว่าขณะโอนที่ดินพิพาทให้ผู้คัดค้านที่ 1 จำเลยมีเจ้าหนี้อีกหลายรายและจำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว การโอนที่ดินพิพาททำให้กองทรัพย์สินของจำเลยลดน้อยถอยลง เป็นเหตุให้เจ้าหนี้รายอื่นไม่ได้รับชำระหนี้หรือได้รับชำระหนี้น้อยกว่าที่ควรจะได้รับ การที่ผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งมีนายเรืองวิทย์เป็นหุ้นส่วนรับโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยย่อมทำให้นายเรืองวิทย์เจ้าหนี้ได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น เมื่อการโอนที่ดินพิพาทได้กระทำภายในระยะเวลา 3 เดือน ก่อนมีการขอให้จำเลยล้มละลายดังวินิจฉัยมาแล้วข้างต้น จึงมีเหตุให้ศาลสั่งเพิกถอนการโอนได้ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 ข้อสุดท้ายมีว่า หากโอนที่ดินพิพาทคืนกองทรัพย์สินของจำเลยไม่ได้ จะต้องให้ผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกชดใช้ราคาแทนเป็นเงินเท่าใด เห็นว่า ตามสำเนาโฉนดที่ดิน และรายงานประเมินราคาทรัพย์แสดงรูปแผนที่ที่ดินพิพาทว่า ที่ดินพิพาทอยู่ห่างจากตลาดสดรามอินทราและทางแยกเข้าถนนลาดปลาเค้าประมาณ 500 เมตร บริเวณโดยรอบมีอาคารประกอบธุรกิจการค้าและหมู่บ้านจัดสรร มีสาธารณูปโภค คือไฟฟ้า น้ำประปา โทรศัพท์ การคมนาคมสะดวก สำหรับสิ่งปลูกสร้างนั้น สถานีบริการน้ำมันมีสภาพชำรุดทรุดโทรมและทิ้งร้างไม่ได้นำมาประเมินราคา ส่วนบ้านที่ว่าเป็นบ้านร้างก็ได้ความว่าเป็นบ้านตึก 2 ชั้น โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคากระเบื้อง ผนังก่ออิฐถือปูน พื้นหินอ่อนและคอนกรีต ปูกระเบื้องเคลือบ เนื้อที่ประมาณ 200 ตารางเมตร มีโรงจอดรถ นายประเสริฐผู้ประเมินราคาที่ดินพิพาทเบิกความด้วยว่า การประเมินราคาที่ดินพยานได้ออกไปยังที่ตั้งทรัพย์ทุกครั้ง ขั้นตอนเริ่มจากการสอบถามราคาไปยังกรมที่ดินแล้วไปตรวจที่ตั้งทรัพย์ สอบถามราคาพื้นที่ใกล้เคียงและราคาท้องตลาดแล้วนำมาเฉลี่ยหาราคาประเมิน ส่วนสิ่งปลูกสร้างใช้ราคาประเมินของกรมที่ดิน นายประเสริฐรับราชการเป็นนิติกร สำนักงานวางทรัพย์กลาง กรมบังคับคดี และไม่ปรากฏว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด เชื่อว่าได้ประเมินราคาที่ดินพิพาทตามหลักวิชาชีพและข้อมูลที่แท้จริง ผู้คัดค้านที่ 1 อ้างราคาที่ดินพิพาทมีราคาประมาณ 10,000,000 บาท เป็นการกล่าวอ้างขึ้นมาลอย ๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานมาสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงไม่พอฟังหักล้างพยานหลักฐานของผู้ร้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกชดใช้ราคาที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นเงิน 53,322,300 บาท พร้อมดอกเบี้ยมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share