แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 423/2537 ของศาลชั้นต้น มีโจทก์ 3 คน คือ โจทก์ในคดีนี้ ห. และ ส. ฟ้องจำเลยในฐานะเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ พ. โดยขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ในโฉนดที่ดินพิพาทที่จำเลยได้ยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์จนศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยมีกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินพิพาท ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องในฐานะผู้จัดการเรียกเอาทรัพย์มรดกจากจำเลยเพื่อมาแบ่งปันแก่ทายาท แต่มีการบรรยายความเป็นมาว่าจำเลยกระทำการโดยไม่สุจริตอย่างไรเพื่อตัดสิทธิจำเลยมิให้รับมรดกด้วย สถานะของโจทก์ในคดีทั้งสองจึงแตกต่างกัน และประเด็นแห่งคดีทั้งสองก็แตกต่างกันด้วยฟ้องโจทก์คดีนี้ไม่เป็นฟ้องซ้อนกับฟ้องโจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 423/2537 ของศาลชั้นต้น
แม้รายการในสารบัญจดทะเบียนตามโฉนดที่ดินพิพาทจะเป็นเอกสารมหาชนก็ตาม แต่ก็มิใช่ข้อสันนิษฐานโดยเด็ดขาดที่จะให้รับฟังตามนั้น โจทก์สามารถนำพยานเข้าสืบหักล้างได้ว่าความจริงเป็นเช่นใด ซึ่งเป็นการนำสืบถึงความเป็นมาอันแท้จริงว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงแล้ววินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของ พ. นั้นจึงหาฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 94 แห่ง ป.วิ.พ. ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาโดยได้รับยกเว้นค่าขึ้นศาล ขอให้พิพากษาว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 1084 เป็นทรัพย์มรดกของนางเพียนหรืออำแดงเพียน โดยปลอดจากการจดทะเบียนขายฝากกับอำแดงเม้า ให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์ออกจากโฉนดที่ดินดังกล่าวและให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์กับให้จำเลยเป็นผู้ถูกกำจัดไม่ให้รับมรดกของนางเพียนหรืออำแดงเพียนในที่ดินดังกล่าว
จำเลยให้การว่า ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 77/2537 (หมายเลขแดงที่ 423/2537) ของศาลชั้นต้น ซึ่งศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราวเพื่อรอการพิจารณาคดีอาญาหมายเลขดำที่ 77/2537 ของศาลชั้นต้น นางเพียนหรืออำแดงเพียนขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 1084 ไว้กับอำแดงเม้าแล้วไม่ได้ไถ่ถอนขายฝาก จึงเป็นกรรมสิทธิ์ของอำแดงเม้า ต่อมาอำแดงเม้าขายให้นางศิริ กล่อมจิตร์ ไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ แต่ส่งมอบโฉนดที่ดินให้นางศิริ นางศิริครอบครองโดยสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมา ก่อนนางศิริถึงแก่กรรมในปี 2525 นางศิริยกที่ดินพร้อมมอบโฉนดที่ดินให้จำเลย จำเลยครอบครองทำประโยชน์โดยสงบและเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมา เป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี จำเลยยื่นคำร้องขอและศาลมีคำสั่งว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 1084 ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย ที่ดินโฉนดเลขที่ 1084 จึงไม่ใช่ทรัพย์มรดกของนางเพียนหรืออำแดงเพียน จำเลยไม่มีส่วนรู้เห็นหรือให้ความยินยอมหรือให้การเป็นพยานสนับสนุนในคดีระหว่างนางจำเริญกับโจทก์ และผลคดีไม่ผูกพันจำเลย จำเลยไม่ได้ยักย้ายและปิดบังทรัพย์มรดกของนางเพียนหรืออำแดงเพียน
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 โจทก์ถึงแก่กรรม นายณรงค์ พรรณสาลี ในฐานะผู้จัดการมรดกคนใหม่ของนางเพียนหรืออำแดงเพียน ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์ภาค 1 อนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยการครอบครองของจำเลยเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2536 ออกจากโฉนดที่ดินเลขที่ 1084 และให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 1084 ดังกล่าวแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความรวม 50,000 บาท สำหรับค่าธรรมเนียมศาลที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา ให้จำเลยนำมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์
จำเลยฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า เดิมนางเพียนหรืออำแดงเพียนมีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 1084 นางเพียนหรืออำแดงเพียนได้ขายฝากที่ดินพิพาทไว้กับอำแดงเม้า ตามสำเนาโฉนดที่ดิน ต่อมานางเพียนหรืออำแดงเพียนถึงแก่กรรม โจทก์และนางหยวก เอี่ยมสะอาด เป็นหลานของนางเพียนหรืออำแดงเพียน ส่วนจำเลย นางจำเริญ ภู่สิน และนายสมัย เจริญมาก เป็นเหลนของนางเพียนหรืออำแดงเพียน และต่างเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนางเพียนหรืออำแดงเพียน ตามบัญชีเครือญาติ นางจำเริญซึ่งเป็นน้องสาวจำเลยยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท โจทก์ นายสมัย และนางหยวกได้ยื่นคัดค้าน ศาลพิพากษาคดีถึงที่สุดให้ยกคำร้องของนางจำเริญในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 410/2531 ของศาลชั้นต้น ตามสำเนาคำร้อง คำคัดค้านและคำพิพากษาศาลฎีกา ต่อมาโจทก์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของนางเพียนหรืออำแดงเพียน ตามคำสั่งศาล ส่วนจำเลยยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและศาลมีคำสั่งให้จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 442/2536 ของศาลชั้นต้น ตามสำเนาคำสั่ง จำเลยจึงไปจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทมาเป็นของตนเอง โจทก์และนายสมัยจึงได้ฟ้องจำเลยกับพวกข้อหาเบิกความเท็จเกี่ยวกับเรื่องที่จำเลยไปยื่นขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทต่อศาล ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 77/2537 หมายเลขแดงที่ 982/2539 ของศาลชั้นต้น ตามสำเนาคำฟ้อง และโจทก์ นายสมัยและนางหยวกได้ฟ้องจำเลยขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทที่จำเลยอ้างว่าได้มาโดยการครอบครองปรปักษ์ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 77/2537 หมายเลขแดงที่ 423/2537 ของศาลชั้นต้น ตามสำเนาคำฟ้อง ศาลจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีแพ่งดังกล่าวชั่วคราว เพื่อรอฟังผลคดีอาญาข้อหาเบิกความเท็จ หลังจากนั้นโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางเพียนหรืออำแดงเพียนได้ยื่นฟ้องคดีนี้ และศาลพิพากษาคดีถึงที่สุดให้ยกฟ้องคดีข้อหาเบิกความเท็จ ตามสำเนาคำพิพากษาศาลฎีกา ต่อมาศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 77/2537 หมายเลขแดงที่ 423/2537 ออกจากสารบบความเนื่องจากโจทก์กับพวกทิ้งฟ้อง ตามสำเนารายงานกระบวนพิจารณา
มีปัญหาต้องพิจารณาตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่าฟ้องของโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 77/2537 หมายเลขแดงที่ 423/2537 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 77/2537 หมายเลขแดงที่ 423/2537 ของศาลชั้นต้นมีโจทก์ 3 คน คือโจทก์ นางหยวก เอี่ยมสะอาดและนายสมัย เจริญมาก ฟ้องจำเลยในฐานะเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนางเพียนหรืออำแดงเพียนโดยขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ในโฉนดที่ดินพิพาทที่จำเลยได้ยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์จนศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยมีกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินพิพาท ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องในฐานะผู้จัดการมรดกเรียกเอาทรัพย์มรดกจากจำเลยเพื่อมาแบ่งปันแก่ทายาท แต่มีการบรรยายความเป็นมาว่าจำเลยกระทำการโดยไม่สุจริตอย่างไรเพื่อตัดสิทธิจำเลยมิให้รับมรดกด้วยสถานะของโจทก์ในคดีทั้งสองจึงแตกต่างกันและประเด็นแห่งคดีทั้งสองก็แตกต่างกันด้วย ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้ไม่เป็นฟ้องซ้อนกับฟ้องโจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 77/2537 หมายเลขแดงที่ 423/2537 ของศาลชั้นต้น นั้น จึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นมีปัญหาต้องพิจารณาตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปว่าเมื่อหลักฐานทางทะเบียนปรากฏว่านางเพียนหรืออำแดงเพียนได้นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนขายฝากไว้กับอำแดงเม้าแล้วไม่ปรากฏว่าได้มีการจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากจากอำแดงเม้าแต่อย่างใด การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงว่านางเพียนหรืออำแดงเพียนได้ไถ่ถอนการขายฝากแล้วแต่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนและที่ดินพิพาทกลับตกมาเป็นของนางเพียนหรืออำแดงเพียนอีกเป็นการฟังข้อเท็จจริงที่ฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 ที่ห้ามมิให้นำสืบพยานบุคคลมาหักล้าง เห็นว่า แม้รายการในสารบัญจดทะเบียนตามโฉนดที่ดินพิพาทจะเป็นเอกสารมหาชนก็ตามแต่ก็มิใช่ข้อสันนิษฐานโดยเด็ดขาดที่จะให้รับฟังตามนั้น โจทก์สามารถนำพยานเข้าสืบหักล้างได้ว่าความจริงเป็นเช่นใด ซึ่งเป็นการนำสืบถึงความเป็นมาอันแท้จริงว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดก ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงแล้ววินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนางเพียนหรืออำแดงเพียนนั้นจึงหาฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 94 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งดังข้ออ้างของจำเลยไม่ ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกันมีปัญหาต้องพิจารณาตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินพิพาทแล้วนั้นจะมีผลผูกพันโจทก์เพียงใด เห็นว่า เมื่อครั้งที่นางจำเริญ ภู่สิน น้องสาวจำเลยยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยมีโจทก์ นางหยวก และนายสมัยยื่นคำคัดค้านตามสำเนาคำร้องและคำคัดค้าน ทั้งสองฝ่ายได้ต่อสู้คดีกันมาประมาณ 4 ปี จำเลยทราบเรื่องมาตลอด เนื่องจากจำเลยเคยเบิกความในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 77/2537 หมายเลขแดงที่ 982/2539 ของศาลชั้นต้น ตามสำเนาคำเบิกความว่าในคดีที่นางจำเริญร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทจำเลยได้ไปศาลแต่ไม่ได้เบิกความ ทั้ง ๆ ที่ข้อพิพาทคดีดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นคดีที่นางจำเริญยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและคดีที่โจทก์กับพวกฟ้องจำเลยกับพวกในข้อหาเบิกความเท็จนั้น ทั้งสองฝ่ายต่างกล่าวอ้างว่าตนเองมีสิทธิในที่ดินพิพาทอันเป็นการโต้แย้งสิทธิกับฝ่ายจำเลยแล้ว แต่จำเลยก็เพิกเฉยมิได้โต้แย้งคัดค้านหรือร้องขอเข้ามาในคดีทั้งยังยอมรับว่าเดิมโฉนดที่ดินพิพาทอยู่กับนางจำเริญ เมื่อศาลพิพากษาในคดีที่นางจำเริญร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทถึงที่สุดให้ยกคำร้อง จำเลยจึงได้รับโฉนดที่ดินพิพาทมาตามสำเนาคำให้การ แล้วจึงมายื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทในภายหลัง แสดงให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยว่ามิได้กระทำการโดยสุจริต ดังนั้น จึงหาใช้ยันโจทก์ซึ่งมิได้เป็นคู่ความในคดีที่จำเลยร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์หาได้ไม่ ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน มีปัญหาต้องพิจารณาตามฎีกาของจำเลยในข้อสุดท้ายว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้กำหนดค่าขึ้นศาลและค่าทนายความให้จำเลยใช้แทนโจทก์นั้นสูงเกินควรหรือไม่ เห็นว่า การกำหนดค่าฤชาธรรมเนียมให้คู่ความฝ่ายที่แพ้คดีชำระแทนนั้น ต้องคำนึงถึงความสุจริตในการต่อสู้คดี การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความรวมกัน 2 ศาล เป็นจำนวน 50,000 บาท และค่าธรรมเนียมศาลที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาให้จำเลยนำมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์นั้น เมื่ออัตราค่าทนายความขั้นสูงในศาลชั้นต้นกำหนดไว้ในอัตราร้อยละ 5 และในศาลอุทธรณ์กำหนดไว้ในอัตราร้อยละ 3 ของจำนวนทุนทรัพย์ที่นำมาฟ้อง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดอัตราค่าทนายความเป็นจำนวน 50,000 บาท จึงไม่เกินสมควร ศาลฎีกาไม่เห็นสมควรเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท