คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1706/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ป.วิ.พ. มาตรา 290 เป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่ว่าจะเป็นโจทก์หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่นเพื่อให้ได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาโดยเท่าเทียมกัน ดังนั้น ข้ออ้างที่จะโต้แย้งคัดค้านคำขอเฉลี่ยทรัพย์ของผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้อื่นว่าจำเลยที่ 1 ยังมีทรัพย์สินอื่นนอกจากทรัพย์ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดไว้ในคดีนี้ที่เพียงพอจะชำระหนี้ได้ จึงเป็นข้อโต้แย้งระหว่างเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาด้วยกัน เมื่อจำเลยที่ 3 เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นต่อโจทก์ ทั้งยังปรากฏว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการของจำเลยที่ 1 อีกด้วย จำเลยที่ 3 จึงไม่มีสิทธิคัดค้านการขอเฉลี่ยทรัพย์ของผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่น

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 5,204,784.03 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 4,534,270.96 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 11 พฤษภาคม 2542) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์โดยให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ร่วมรับผิดเป็นเงิน 5,058,585.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 4,534,270.96 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 11 พฤษภาคม 2542) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ร่วมรับผิดเป็นเงิน 5,058,858.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 4,100,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จและให้จำเลยที่ 6 ร่วมรับผิดเป็นเงิน 4,706,294.51 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 4,100,000 บาท นับถัดจากฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จมิฉะนั้นให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งหกออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้จนครบกับให้จำเลยทั้งหกใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 20,000 บาท คดีถึงที่สุด จำเลยทั้งหกไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ โจทก์ขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีได้อายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ตามบัญชีออมทรัพย์เลขที่ 074-2-020-530-8 จำนวน 6,298,261.53 บาท
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ผู้ร้องตามคำพิพากษาของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ คดีหมายเลขแดงที่ ย. 5328/2542 ระหว่าง บริษัทสหวิริยาโอเอ จำกัด (มหาชน) โจทก์ บริษัทไทยเวฟอินเตอร์เนชั่นแนง บรอดคาสติ้ง จำกัด จำเลย เป็นเงิน 83,550,192.15 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินกู้แต่ละครั้งรวม 45 ครั้ง นับแต่วันกู้แต่ละครั้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ต่อดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 8 มิถุนายน 2542) รวมทั้งสิ้นต้องไม่เกิน 29,099,175.14 บาท พร้อมค่าฤชาธรรมเนียม นอกจากทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดไว้ในคดีนี้แล้ว ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดของจำเลยที่ 1 เหลือพอที่จะให้ผู้ร้องบังคับคดีชำระหนี้ ขอให้มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ที่ถูกบังคับคดี
จำเลยที่ 3 ยื่นคำคัดค้านว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันและจำนองทรัพย์สินเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ ผู้ร้องเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 ร้อยละ 60 และทราบดีว่าจำเลยที่ 1 มีเงินฝากที่ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาพระรามที่ 3 ตามบัญชีออมทรัพย์ เลขที่ 079-2-020-530-8 จำนวน 9,165,454.52 บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดไว้เพื่อชำระหนี้โจทก์ 6,298,261.53 บาท ยังคงเหลือเงินในบัญชี 2,867,192.99 บาท ไม่ติดภาระผูกพันใด และจำเลยที่ 1 มีวัสดุอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงาน หากนำออกขายทอดตลาดจะได้ราคาไม่ต่ำกว่า 2,000,000 บาท หนี้ตามคำพิพากษาของผู้ร้องเกิดจากผู้บริหารของผู้ร้องฉ้อฉลให้ผู้แทนจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อและประทับตราในหนังสือสัญญากู้ที่ยังไม่ได้กรอกข้อความแล้วนำไปกรอกข้อความโดยไม่แจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องทราบ จำเลยที่ 1 ไม่ได้รับเงินตามสัญญากู้ ผู้ร้องฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ภายหลังจากจำเลยที่ 1 หยุดดำเนินกิจการ ทำให้ไม่อาจต่อสู้คดีได้และเป็นคดีสืบพยานฝ่ายเดียว ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเฉลี่ยทรัพย์ได้ตามคำร้อง
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่าจำเลยที่ 3 มีสิทธิคัดค้านคำขอเฉลี่ยทรัพย์ของผู้ร้องหรือไม่ จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นให้แก่โจทก์ การที่โจทก์บังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 ย่อมมีผลถึงจำเลยที่ 3 ด้วย จำเลยที่ 3 จึงเป็นผู้เสียหายโดยตรงจากการขอเฉลี่ยทรัพย์ของผู้ร้อง เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 เป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่ว่าจะเป็นโจทก์หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่นเพื่อให้ได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาโดยเท่าเทียมกัน ดังนั้น ข้ออ้างที่จะโต้แย้งคัดค้านคำขอเฉลี่ยทรัพย์ของผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่นว่าจำเลยยังมีทรัพย์สินอื่นนอกจากทรัพย์ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดไว้ในคดีนี้ที่เพียงพอจะชำระหนี้ได้จึงเป็นข้อโต้แย้งระหว่างเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาด้วยกัน ลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ว่าจะเป็นลูกหนี้ผู้ถูกยึดหรืออายัดทรัพย์หรือไม่จะยกขึ้นโต้แย้งหาได้ไม่ ซึ่งโจทก์ก็หาได้คัดค้านคำขอเฉลี่ยทรัพย์ของผู้ร้องแต่อย่างใดไม่ เมื่อจำเลยที่ 3 เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นต่อโจทก์ ทั้งยังปรากฏว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการของจำเลยที่ 1 อีกด้วย ดังนั้น จำเลยที่ 3 จึงไม่มีสิทธิคัดค้านการขอเฉลี่ยทรัพย์ของผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่น ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น และคดีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ในเรื่องที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 3 เลื่อนการไต่สวนคำร้องของผู้ร้องในคดีนี้อีก เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง”
พิพากษายืน

Share