แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ก่อนที่จำเลยจะขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย 8 ปี เครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยต่างมีคำว่า “UNIOR” รวมอยู่ด้วย คำว่า “UNIOR”ตรงกับชื่อบริษัทโจทก์คำแรก โจทก์นำคำว่า “UNIOR” มาจากคำในภาษาสโลวีเนีย 2 คำ โดยคำว่า UNI มาจากคำว่า UNIVERZALNAแปลว่า จักรวาล และคำว่า OR มาจากคำว่า ORODJA แปลว่าเครื่องมือ เมื่อนำ 2 คำนี้มารวมกัน ก็จะเห็นถึงเหตุผลที่นำคำดังกล่าวมาใช้กับสินค้าเครื่องมือช่างของโจทก์ โดยได้ดัดแปลงเป็นคำใหม่ว่า”UNIOR” ให้มีลักษณะบ่งเฉพาะขึ้นมา ส่วนจำเลยอ้างว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า SUPPERUNIOR และ SUPPER-UNIOR จำเลยประดิษฐ์มาจากคำว่า SUPPER ซึ่งแปลว่า อาหารมื้อค่ำ และคำว่า JUNIORซึ่งแปลว่า ผู้อ่อนวัยกว่าหรือนักศึกษาชั้นปีที่ 3 เมื่อนำคำทั้ง 2 คำมารวมกันแปลว่า อาหารมื้อค่ำของผู้อ่อนวัยกว่าหรือนักศึกษาชั้นปีที่ 3เมื่อพิจารณาประกอบกับสินค้าที่จำเลยจดทะเบียนซึ่งได้แก่ กรรไกร คีมไขควงกุญแจปากตายและกุญแจบล็อกจะเห็นว่า คำ 2 คำตามที่จำเลยอ้างถึงนั้นไม่สอดคล้องกับประเภทสินค้า ทั้งไม่มีเหตุที่จำเลยจะตัดอักษร J ออกจากคำว่า JUNIOR โจทก์นำสืบว่าโจทก์ผลิตและส่งสินค้าของโจทก์ไปจำหน่ายทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว โดยจำเลยไม่ได้นำสืบโต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่น พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักรับฟังได้ว่าโจทก์คิดประดิษฐ์คำว่า “UNIOR” ขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อใช้เป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งได้ใช้มาก่อนจำเลยหลายปี จำเลยเพียงแต่เอาคำว่า SUPPERมาวางไว้หน้าคำว่า UNIOR เท่านั้น ทั้งคำว่า SUPPER ก็คล้ายกับคำว่า SUPER มาก หากผู้ซื้อสินค้าไม่ได้สังเกตอย่างดีแล้วก็อาจเข้าใจเป็นคำ SUPER ได้โดยง่าย อันจะมีความหมายว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพพิเศษของ UNIOR ทั้งยังปรากฏจากสินค้าคีมของโจทก์และของจำเลยก็มีลักษณะคล้ายกัน ด้ามคีมใช้สีเหลืองเข้มใกล้เคียงกันซองพลาสติกบรรจุสินค้าของจำเลยก็คล้ายกับของโจทก์ทั้งการใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยก็นำคำว่า SUPPER กับคำว่า UNIORวางไว้คนละบรรทัด โดยคำว่า SUPPER มีขนาดเล็กกว่าคำว่า UNIORพฤติการณ์ของจำเลยแสดงให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยในการขอจดทะเบียนและใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่พยายามทำให้ผู้ซื้อสินค้าสับสนหลงผิด เครื่องหมายการค้าของจำเลยจึงคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ เมื่อโจทก์ใช้และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาก่อน โจทก์ย่อมมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลย จึงมีสิทธิขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสองของจำเลยที่ใช้สำหรับสินค้าจำพวกเดียวกันและมีลักษณะอย่างเดียวกันได้
การที่จำเลยนำเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปขอจดทะเบียนและนำไปใช้กับสินค้าของจำเลยที่เป็นสินค้าจำพวกเดียวกันซึ่งมีลักษณะอย่างเดียวกันกับสินค้าของโจทก์นำออกจำหน่ายต่อสาธารณชน ย่อมเป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ แม้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจะรับจดทะเบียนให้จำเลยก็เป็นกรณีที่เกิดจากการที่จำเลยขอจดทะเบียนโดยไม่สุจริต จึงหาทำให้การกระทำของจำเลยกลับเป็นถูกต้องไม่ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้
ศาลชั้นต้นให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นรายเดือนจากเหตุที่จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยกับสินค้าในการลวงขายว่าเป็นสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ โจทก์จึงควรได้รับค่าเสียหายจนกว่าจำเลยจะเลิกใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยเท่านั้น ทั้งศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยซึ่งย่อมมีผลให้เป็นการเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย โดยจำเลยไม่จำเป็นต้องดำเนินการขอเพิกถอนอีกแต่อย่างใด ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเป็นรายเดือนจนกว่าจำเลยจะดำเนินการเพิกถอนเครื่องหมายการค้าแล้วเสร็จ จึงไม่ถูกต้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า UNIOR อ่านว่า ยูนิออร์หรือยูเนียร์ดีกว่าจำเลย ตามคำขอเลขที่ 283029 ทะเบียนเลขที่ ค 35262 และคำขอเลขที่ 294886 ทะเบียนเลขที่ ค 47692 ของจำเลย และเครื่องหมายการค้าคำว่า SUPPERUNIOR กับ SUPPER-UNIOR ของจำเลยเหมือนคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า UNIOR ของโจทก์ ให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 283029 ทะเบียนเลขที่ ค 35262และคำขอเลขที่ 294886 ทะเบียนเลขที่ ค 47692 ของจำเลย หรือตัดคำว่า UNIOR ออกจากเครื่องหมายการค้าของจำเลย หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยเลิกใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า SUPPER UNIOR หรือคำว่า UNIORกับสินค้าของจำเลย และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ450,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะเลิกใช้และถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า SUPPERUNIOR กับคำว่า SUPPER-UNIOR ของจำเลยคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า UNIOR ของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า UNIOR ดีกว่าจำเลย ให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 283029 ทะเบียนเลขที่ ค 35262 และคำขอเลขที่ 294886 ทะเบียนเลขที่ ค 47692ของจำเลย ให้จำเลยเลิกใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า SUPPERUNIORหรือคำว่า SUPPER-UNIOR หรือคำว่า UNIOR กับสินค้าของจำเลยให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 50,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะดำเนินการเพิกถอนเครื่องหมายการค้าของจำเลยให้แล้วเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นที่ยุติในเบื้องต้นว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดภายใต้กฎหมายประเทศสาธารณรัฐสโลวีเนีย โจทก์มอบอำนาจให้นางจริยา เปรมปราณีรัชต์ฟ้องคดีแทนโจทก์ โจทก์ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า UNIORสำหรับใช้กับสินค้าจำพวกที่ 8 รายการสินค้า กุญแจปากตาย คีม ค้อน ไขควง เครื่องมือสำหรับใช้ในการติดตั้งท่อ ฯลฯ เมื่อปี 2530และนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้แล้ว ทะเบียนเลขที่ ค 65740 ส่วนจำเลยขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “SUPPERUNIOR” และคำว่า “SUPPER-UNIOR” สำหรับสินค้าจำพวกที่ 8 รายการสินค้า กรรไกร คีม ไขควง กุญแจปากตายกุญแจบล็อก เมื่อปี 2538 นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนให้ตามทะเบียนเลขที่ ค 35262 และ ค 47692 มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์จำเลยเป็นข้อแรกว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า SUPPERUNIORและ SUPPER-UNIOR ของจำเลยคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่ใช้คำว่าUNIOR ของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า และโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าจำเลยหรือไม่ เห็นว่า โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวข้างต้นไว้แล้วก่อนที่จำเลยจะขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยถึง 8 ปี และปรากฏว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยต่างมีคำว่า “UNIOR” รวมอยู่ด้วย แต่คำว่า”UNIOR” ตรงกับชื่อบริษัทโจทก์คำแรก ทั้งโจทก์ยังมีนางจริยา เปรมปราณีรัชต์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ยื่นบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงและเบิกความอธิบายความเป็นมาของคำว่า “UNIOR” ว่า โจทก์นำมาจากคำในภาษาสโลวีเนีย 2 คำ โดยคำว่า UNI มาจากคำว่า UNIVERZALNA แปลว่า จักรวาล และคำว่า OR มาจากคำว่า ORODJA แปลว่า เครื่องมือเมื่อนำคำภาษาสโลวีเนียดังกล่าว 2 คำนี้มารวมกัน ก็จะเห็นถึงเหตุผลที่นำคำดังกล่าวมาใช้กับสินค้าเครื่องมือช่างของโจทก์โดยได้ดัดแปลงเป็นคำใหม่ว่า UNIOR ให้มีลักษณะบ่งเฉพาะขึ้นมา ในขณะที่จำเลยมีแต่นายณัฏฐชัย ฉายลักษมี เป็นพยานเบิกความว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า SUPPERUNIOR และ SUPPER-UNIOR จำเลยประดิษฐ์มาจากคำว่า SUPPER ซึ่งแปลว่า อาหารมื้อค่ำ และคำว่า JUNIOR ซึ่งแปลว่าผู้อ่อนวัยกว่า หรือนักศึกษาชั้นปีที่ 3 เมื่อนำคำทั้ง 2 คำมารวมกันแปลว่าอาหารมื้อค่ำของผู้อ่อนวัยกว่า หรืออาหารมื้อค่ำของนักศึกษาชั้นปีที่ 3ซึ่งเมื่อพิจารณาประกอบกับสินค้าที่จำเลยจดทะเบียนซึ่งได้แก่ กรรไกรคีม ไขควง กุญแจปากตาย และกุญแจบล็อก จะเห็นว่า คำ 2 คำตามที่จำเลยอ้างถึงนั้นไม่สอดคล้องกับประเภทสินค้าและไม่มีเหตุผลอื่นใดที่ทำให้จำเลยคิดที่จะนำคำ 2 คำนี้มาใช้ ทั้งไม่มีเหตุผลที่จำเลยจะตัดอักษรตัว J ออกจากคำว่า JUNIOR ทั้งที่จะมีผลให้เหลือเป็นคำว่าUNIOR เหมือนของโจทก์ นอกจากนั้นนางจริยายังเบิกความยืนยันว่าโจทก์เป็นผู้ผลิตและส่งสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า “UNIOR”ไปจำหน่ายทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว ความข้อนี้นายสุรินทร์ สุวรรณคันทร รองกรรมการผู้จัดการบริษัทเลี่ยงฮั้วทูลส์ จำกัดซึ่งเป็นผู้แทนจำหน่ายสินค้าของโจทก์ในประเทศไทย และนายอสิพรเตกิจจำรูญ หุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ็น เอช เค ซัพพลายซึ่งรับสินค้าของโจทก์จากบริษัทเลี่ยงฮั้วทูลส์ จำกัด ไปจำหน่ายอีกทอดหนึ่งก็เบิกความสนับสนุนว่า จำหน่ายสินค้าของโจทก์ภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า “UNIOR” มาประมาณยี่สิบปีแล้ว โดยจำเลยไม่ได้นำสืบโต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่น พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมาทั้งหมดจึงมีน้ำหนักรับฟังได้ว่าโจทก์คิดประดิษฐ์คำว่า “UNIOR”ขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อใช้เป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ทั้งได้ใช้เครื่องหมายการค้ากับได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ามาก่อนจำเลยหลายปี และเมื่อเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับของจำเลยแล้วแม้ตัวอักษรทั้งหมดในเครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้ง 2 คำ จะมากกว่าตัวอักษรในเครื่องหมายการค้าของโจทก์หลายคำก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาแล้ว ก็จะเห็นว่าจำเลยเพียงแต่เอาคำว่า SUPPER มาวางไว้หน้าคำว่า UNIOR เท่านั้น ทั้งคำว่า SUPPERก็คล้ายกับคำว่า SUPER มาก หากผู้ซื้อสินค้าไม่ได้สังเกตอย่างดีแล้วก็อาจเข้าใจเป็นคำ SUPER ได้โดยง่าย อันจะมีความหมายว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพพิเศษของ UNIOR ทั้งยังปรากฏจากสินค้าคีมของโจทก์และของจำเลยตามวัตถุพยานหมาย วจ.2 กับ วจ.3 และ วจ.5 กับ วจ.6ว่า ลักษณะสินค้าคีมของจำเลยมีลักษณะคล้ายของโจทก์ ด้ามคีมก็ใช้สีเหลืองเข้มใกล้เคียงกัน ซองพลาสติกบรรจุสินค้าของจำเลยก็คล้ายกับของโจทก์ ทั้งการใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยให้ปรากฏที่ตัวคีมก็มีการนำคำว่า SUPPER กับคำว่า UNIOR วางไว้คนละบรรทัดโดยคำว่า SUPPER มีขนาดเล็ก ส่วนคำว่า UNIOR มีขนาดใหญ่กว่าซึ่งมีลักษณะเน้นความเด่นชัดที่คำว่า UNIOR ทำให้เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ใช้กับสินค้าคล้ายกับของโจทก์มากดังปรากฏตามภาพสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าของโจทก์ 2 ภาพ กับของจำเลย 2 ภาพตามลำดับดังนี้ และความข้อนี้นายพันธุ์สวัสดิ์ พรหมรส นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าพยานจำเลยก็เบิกความรับว่า คำว่า “SUPPER”และคำว่า “UNIOR” ที่อยู่คนละบรรทัดนั้น คำที่เด่นชัดคือคำว่า “UNIOR”พฤติการณ์ของจำเลยล้วนแสดงให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยในการขอจดทะเบียนและใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่พยายามทำให้ผู้ซื้อสินค้าสับสนหลงผิดว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยไม่สุจริต โดยสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยอยู่ที่คำว่า “UNIOR”ส่วนอักษรตัวอื่นเป็นเพียงส่วนปลีกย่อยเครื่องหมายการค้าของจำเลยจึงคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้และเมื่อโจทก์ใช้และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวมาก่อนจำเลย โจทก์ย่อมมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวแล้วดีกว่าจำเลย จึงมีสิทธิขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายของจำเลยที่ใช้สำหรับสินค้าจำพวกเดียวกันและมีลักษณะอย่างเดียวกันได้ ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่มีสิทธิในคำ”UNIOR” เพราะไปคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “UNTOR” ของผู้อื่นที่จดทะเบียนไว้ก่อนโจทก์นั้น ก็เป็นปัญหาระหว่างโจทก์กับผู้ที่เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า “UNTOR” มิได้เกี่ยวข้องกับจำเลย และหาได้ทำให้จำเลยมีสิทธิในคำว่า “UNIOR” ดีกว่าโจทก์ไม่ อุทธรณ์จำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์จำเลยในข้อสุดท้ายมีว่าการที่จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนแล้ว จำเลยจะต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยนำเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปขอจดทะเบียนและนำไปใช้กับสินค้าของจำเลยที่เป็นสินค้าจำพวกเดียวกันซึ่งมีลักษณะอย่างเดียวกันกับสินค้าของโจทก์นำออกจำหน่ายต่อสาธารณชนย่อมเป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ แม้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจะรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้จำเลยก็เป็นกรณีที่เกิดจากการที่จำเลยขอจดทะเบียนโดยไม่สุจริต ซึ่งโจทก์ผู้มีสิทธิดีกว่ามีสิทธิขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนได้ดังวินิจฉัยมาข้างต้นแล้วจึงหาทำให้การกระทำของจำเลยกลับเป็นถูกต้องไม่ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยและให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์จำเลยฟังไม่ขึ้นทุกข้อ
อนึ่ง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 50,000 บาท นั้น เนื่องมาจากเหตุที่จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยกับสินค้าในการลวงขายว่าเป็นสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ โจทก์จึงควรได้รับค่าเสียหายจนกว่าจำเลยจะเลิกใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยเท่านั้นทั้งศาลดังกล่าวพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยซึ่งย่อมมีผลให้เป็นการเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย โดยจำเลยไม่จำเป็นต้องดำเนินการขอเพิกถอนอีกแต่อย่างใด ดังนั้นที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 50,000บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะดำเนินการเพิกถอนเครื่องหมายการค้าของจำเลยให้แล้วเสร็จจึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรแก้ไขคำพิพากษาในส่วนนี้ให้ตรงตามเหตุผลที่ศาลดังกล่าวได้วินิจฉัยเกี่ยวกับเหตุที่จำเลยต้องใช้ค่าเสียหายไว้”
พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะในเรื่องค่าเสียหาย ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 50,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะเลิกใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า SUPPERUNIOR และ SUPPER-UNIORนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง