คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 550/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการการค้าไว้ไม่ถูกต้องเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยจึงไปควบคุมรายรับของโจทก์เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการกำหนดรายรับให้ถูกต้องตามความเป็นจริงซึ่งเป็นการกระทำโดยอาศัยอำนาจตามประมวลรัษฎากร มาตรา 87 วิ (7)และการกำหนดรายรับของผู้ประกอบการค้าด้วยวิธีดังกล่าวกฎหมายมิได้จำกัดว่าให้ทำได้เฉพาะรายรับของปีปัจจุบันเท่านั้น หากเจ้าพนักงานประเมินเห็นว่าปีใดผู้ประกอบการค้ายื่นแบบแสดงรายการการค้าไว้ไม่ถูกต้อง หรือมีข้อผิดพลาดทำให้จำนวนภาษีที่ต้องเสียคลาดเคลื่อนไปเจ้าพนักงานประเมินก็ย่อมมีอำนาจกำหนดรายรับของผู้ประกอบการค้าสำหรับในปีนั้นได้เพื่อจะนำมาประเมินภาษีตามมาตรา 87 และการประเมินดังกล่าวมาตรา 88 ทวิ (1)บัญญัติให้กระทำได้ภายในกำหนดเวลา 5 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการการค้า หรือวันที่ยื่นแบบแสดงรายการการค้าแล้วแต่วันใดจะเป็นวันหลังถ้ามีการยื่นแบบแสดงรายการการค้า ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินกำหนดรายรับของโจทก์ด้วยวิธีควบคุมรายรับดังกล่าวแล้วประเมินภาษีย้อนหลังไปภายใน 5 ปี(นับแต่ปีที่ควบคุมรายรับ)จึงชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เจ้าพนักงานประเมินแจ้งว่า โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการการค้าสำหรับปี 2510 ถึง 2515 ไม่ถูกต้อง ทำให้ภาษีการค้าที่ต้องชำระต่ำไป จึงเรียกเก็บภาษีเพิ่ม โจทก์เห็นว่าการประเมินเรียกภาษีเพิ่มไม่ถูกต้อง เพราะมิได้ทำการประเมินบนมูลฐานแห่งรายรับและรายจ่ายที่เป็นจริง ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งที่ให้โจทก์เสียภาษีเพิ่มดังกล่าว

จำเลยให้การว่า เจ้าพนักงานได้ประเมินเรียกเก็บจากมูลฐานแห่งรายรับของโจทก์ที่ถูกต้องตรงต่อความจริงและเป็นธรรมแก่โจทก์แล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฎีกาในข้อแรกว่า เฉพาะกรณีที่ตรวจสอบจากบัญชีเอกสารหรือหลักฐานอื่นแล้วพบว่า ผู้ประกอบการค้าได้ยื่นเสียภาษีการค้าไว้ไม่ถูกต้อง จำเลยจึงจะประเมินย้อนหลังไปได้ 5 ปี แต่กรณีของโจทก์นี้เป็นกรณีที่จำเลยไม่สามารถจะตรวจสอบพบจากบัญชีเอกสารหรือหลักฐานอื่นของโจทก์ได้แล้วจำเลยจึงได้ใช้วิธีไปควบคุมรายรับในปัจจุบันมาประเมินย้อนหลัง 5 ปี โจทก์จึงเห็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะไม่มีบทกฎหมายในหมวดว่าด้วยภาษีการค้ากำหนดให้ทำเช่นนั้นได้ ศาลฎีกาเห็นว่าการที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยไปควบคุมรายรับของโจทก์ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏนั้น ก็เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการกำหนดรายรับของโจทก์ให้ถูกต้องตามความเป็นจริง เพราะโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการการค้าไว้ไม่ถูกต้อง ทั้งนี้เจ้าพนักงานประเมินได้กระทำไปโดยอาศัยอำนาจตามประมวลรัษฎากร มาตรา 87 ทวิ(7) ซึ่งบัญญัติให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจกำหนดรายรับของผู้ประกอบการค้าได้ โดยให้พิจารณาถึงฐานะความเป็นอยู่หรือพฤติการณ์ของผู้ประกอบการค้าหรือสถิติการค้าของผู้ประกอบการค้าเองหรือของผู้ประกอบการค้าอื่นที่กระทำกิจการทำนองเดียวกันหรือพิจารณาจากหลักเกณฑ์อย่างอื่นอันแสดงรายรับได้โดยสมควร การกำหนดรายรับของผู้ประกอบการค้าดังกล่าว กฎหมายมิได้จำกัดว่าให้กำหนดรายรับได้เฉพาะรายรับของปีปัจจุบันเท่านั้น ฉะนั้น หากปีใดเจ้าพนักงานประเมินเห็นว่า ผู้ประกอบการค้ายื่นแบบแสดงรายการการค้าไว้ไม่ถูกต้องหรือมีข้อผิดพลาดทำให้จำนวนภาษีที่ต้องเสียคลาดเคลื่อนไป เจ้าพนักงานประเมินก็ย่อมมีอำนาจกำหนดรายรับของผู้ประกอบการค้าสำหรับในปีนั้นได้เพื่อนำมาประเมินภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 87 และในการประเมินดังกล่าวประมวลรัษฎากร มาตรา 88 ทวิ(1) บัญญัติให้กระทำได้ภายในกำหนดเวลา 5 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการการค้าหรือวันที่ยื่นแบบแสดงรายการการค้าแล้วแต่วันใดจะเป็นวันหลังถ้ามีการยื่นแบบแสดงรายการการค้า ประมลรัษฎากรในหมวดว่าด้วยภาษีการค้าได้กำหนดให้อำนาจเจ้าพนักงานประเมินไว้เช่นนี้ หาใช่ไม่มีบทกฎหมายใดในหมวดว่าด้วยภาษีการค้ากำหนดไว้ดังที่โจทก์ฎีกาไม่ แล้วศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงต่อไปว่าข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าการคำนวณของจำเลยไม่ให้ความเป็นธรรมแก่โจทก์ และศาลล่างฟังข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อน รับฟังไม่ได้

พิพากษายืน

Share