แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อความในคำฟ้องได้บรรยายว่า โจทก์ทั้งสอง ส.และจำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมของ ช.เจ้ามรดกตกลงแบ่งทรัพย์มรดกระหว่างกันแล้วจำเลยได้คัดค้านการโอนที่ดินมรดกซึ่งเป็นส่วนแบ่งของโจทก์ทั้งสอง จึงขอให้จำเลยถอนคำคัดค้าน ดังนี้โจทก์ทั้งสองจึงฟ้องในฐานะส่วนตัวหาใช่ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช.ไม่ โจทก์ทั้งสองย่อมมีอำนาจฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยไปถอนคำคัดค้านการจดทะเบียนโอนที่ดินของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 มาเป็นทรัพย์มรดกของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ดังนี้ มีความหมายเพียงว่าให้จำเลยไปถอนคำคัดค้านที่จำเลยได้ยื่นคำคัดค้านไว้ในเรื่องที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ยื่นเรื่องราวขอจดทะเบียนโอนที่ดินมาเป็นทรัพย์มรดกของโจทก์ที่ 1 และที่ 2เท่านั้นหาได้มีความหมายเลยไปว่าให้ที่ดินมรดกตามฟ้องตกได้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ด้วยไม่คำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่เกินคำขอ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสอง และนางเสาวณีย์กับจำเลยต่างเป็นทายาทโดยธรรมของนางชูเกียรติผู้ตาย ทายาททุกคนได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกกันแล้วปรากฏตามหนังสือยินยอมทายาทเอกสารท้ายฟ้องจำเลยได้รับส่วนแบ่งตามข้อตกลงครบถ้วนแล้วกลับยื่นเรื่องราวคัดค้านการโอนมรดกของโจทก์ทั้งสองและนางเสาวณีย์อันเป็นการผิดข้อตกลงแบ่งมรดกตามที่ประนีประนอมยอมความกัน ขอให้บังคับจำเลยถอนคำคัดค้านการโอนมรดกของโจทก์ทั้งสองที่ยื่นไว้ มิฉะนั้นให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า ได้มีการตกลงแบ่งทรัพย์มรดกของนางชูเกียรติจริง แต่โจทก์ทั้งสองและนางเสาวณีย์ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวข้อตกลงแบ่งมรดกจึงเป็นอันยกเลิก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยถอนคำคัดค้านการขอจดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 258/216 เลขที่307/259 เลขที่ 259/258 และเลขที่ 274/259 ตำบลสุเทพอำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ มาเป็นทรัพย์มรดกของโจทก์ที่ 1 โฉนดที่ดินเลขที่ 1044 ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ มาเป็นทรัพย์มรดกของโจทก์ที่ 2หากจำเลยเพิกเฉยให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
โจทก์ทั้งสองและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์ทั้งสองนางเสาวณีย์ และจำเลยตกลงแบ่งปันมรดกของนางชูเกียรติโดยทำหนังสือยินยอมยกที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสองตามหนังสือยินยอมทายาท ต่อมาจำเลยได้คัดค้านการโอนที่ดินส่วนแบ่งมรดกของโจทก์ทั้งสอง คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องในฐานะผู้จัดการมรดกของนางชูเกียรติหรือไม่ เห็นว่า แม้ตามคำฟ้องในช่องคู่ความจะระบุว่าโจทก์ทั้งสองและจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกร่วมของนางชูเกียรติก็ตาม แต่ข้อความในคำฟ้องได้บรรยายว่าโจทก์ทั้งสอง นางเสาวณีย์ และจำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมของนางชูเกียรติเจ้ามรดกตกลงแบ่งทรัพย์มรดกระหว่างกันแล้วจำเลยได้คัดค้านการโอนที่ดินมรดกซึ่งเป็นส่วนแบ่งของโจทก์ทั้งสอง ขอให้จำเลยถอนคำคัดค้าน ดังนี้ โจทก์ทั้งสองจึงฟ้องในฐานะส่วนตัวหาใช่ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางชูเกียรติไม่ โจทก์ทั้งสองย่อมมีอำนาจฟ้องปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาเกินคำขอหรือไม่เห็นว่า ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าให้จำเลยไปถอนคำคัดค้านการจดทะเบียนโอนที่ดินของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 มาเป็นทรัพย์มรดกของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 นั้นมีความหมายเพียงว่า ให้จำเลยไปถอนคำคัดค้านที่จำเลยได้ยื่นคำคัดค้านไว้ในเรื่องที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ยื่นเรื่องราวขอจดทะเบียนโอนที่ดินมาเป็นทรัพย์มรดกของโจทก์ที่ 1และที่ 2 เท่านั้นหาได้มีความหมายเลยไปว่าให้ที่ดินมรดกตามฟ้องตกได้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ด้วยไม่คำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงไม่เกินคำขอ
พิพากษายืน